ยังคงก้าวต่อไปสู่ Taxonomy ระยะ 2

ประเทศไทยเริ่มเดินหน้าพัฒนา Thailand Taxonomy ระยะ 2 รวมภาคเศรษฐกิจในขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และภาคการจัดการของเสีย ซึ่งครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่เหลืออีกเกือบร้อยละ 30

สวัสดีครับ

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมักมีความท้าทายและยุ่งยากซับซ้อนเสมอ แม้ในบางครั้งโลกเราจะหลงลืมไปบ้าง เมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตที่รุนแรงและเร่งด่วนด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามในที่ต่างๆ ของโลก โรคระบาด เศรษฐกิจที่ตกต่ำหรือผันผวน แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นไม่เคยหายไปไหน แต่กลับจะยิ่งแสดงความรุนแรงแบบสุดขั้วขึ้นทุกวัน

เมื่อเร็วๆ นี้ World Economic Forum เวทีหารือประเด็นสำคัญระดับโลกได้เผยแพร่รายงานที่น่าสนใจชื่อว่า "The Global Risks Report 2023" โดยรายงานฉบับนี้ได้จัดอันดับความเสี่ยง 10 ประการที่อาจจะฉุดโลกของเราสู่หายนะในช่วงเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า และเป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่น้อยที่ 6 ใน 10 ของความเสี่ยงดังกล่าวคือความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ความล้มเหลวในการลดความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความล้มเหลวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติธรรมชาติและสภาพอากาศแบบสุดขั้ว การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ วิกฤตทรัพยากรธรรมชาติ และความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง 

ความเสี่ยงข้างต้นทำให้โลกเราตกอยู่ในสภาพเหมือนโดนข้าศึกล้อมไว้ทุกทาง และเราต้องสู้แบบหลังชนฝาที่มีแต่ต้องเดินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ผมจึงรู้สึกค่อนข้างวางใจว่าประเทศไทยเองนั้นกำลังเร่งเครื่องเต็มกำลังเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่แนวปฏิบัติสีเขียวของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) เมื่อกลางปีที่แล้ว เราได้เห็นการออกมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (Thailand Taxonomy) เป็นฉบับปฐมฤกษ์ ซึ่งมุ่งเน้นการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่ง โดยทั้งสองเป็นภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงที่สุดของประเทศโดยคิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 70  

ในวันนี้ ประเทศไทยได้เริ่มเดินหน้าพัฒนา Thailand Taxonomy ในระยะที่ 2 ซึ่งจะรวมภาคเศรษฐกิจในขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และภาคการจัดการของเสีย ซึ่งครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่เหลืออีกเกือบร้อยละ 30 ดังนั้น เมื่อรวมขอบเขตของ Taxonomy ในระยะที่ 1 และ 2 จึงครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเกือบทั้งหมด   

กล่าวได้ว่าการพัฒนา Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 คืออีกหนึ่ง “สปริงบอร์ด” ในการเดินทางสู่ความยั่งยืนและถือเป็นการต่อยอดจากความสำเร็จของมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ระยะที่ 1 โดยคู่มือสู่โลกสีเขียวทั้งสองระยะนี้ได้นำหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ทั้งเข้มข้นและครอบคลุมมาปรับใช้ เป็นเสมือนแผนที่สีเขียวสำหรับทุกฝ่าย อาทิ ภาคธุรกิจ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย โดยสามารถอ้างอิงและนำข้อมูลจากแนวทางดังกล่าวมาใช้ในกระบวนการตัดสินใจเพื่อสร้างแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

นอกเหนือจาก Thailand Taxonomy แล้ว กล่าวได้ว่าประเทศไทยกำลังเดินทางอยู่บนเส้นทางแห่งความยั่งยืนอย่างเต็มรูปแบบและได้ขึ้นแท่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความก้าวหน้าโดยเฉพาะในด้านกรอบการทำงาน (Framework) เพื่อการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอีกไม่นานประเทศไทยจะมีกฎหมายหลักในด้านนี้ที่เรียกว่า พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอน “การจัดทำประชาพิจารณ์” โดยจะเป็นอีกหนึ่งแผนแม่บทสำคัญในการจัดการกับวาระระดับโลกนี้ ผ่านกลไกการกำหนดเป้าหมายและกลไกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญการมีกฎหมายซึ่งมีสภาพบังคับนี้จะเป็นการผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในภายภาคหน้า

ขณะเดียวกัน ภาคการเงินในฐานะผู้จัดสรรเงินทุน และยังเป็น “สะพาน” ที่เชื่อมโยงระหว่างเงินลงทุนไปยังภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก็จำเป็นต้องกำหนดนโยบายการให้สินเชื่อรวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มุ่งเน้นไปที่การลดผลกระทบและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน ที่ผ่านมาเราได้เห็นการระดมทุนในหลายรูปแบบที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมจากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของไทย อาทิ การออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) และตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) ซึ่งนับว่าเป็นการยกระดับตลาดตราสารหนี้ของไทย อีกทั้งได้สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับทั้งสภาพแวดล้อมบนบกและทางทะเล ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงที 

ดังนั้น กรอบดำเนินการ (Framework) ดังกล่าวข้างต้น คือกลไกอันสำคัญยิ่งที่ช่วยผลักดันและขับเคลื่อนประเทศบนเส้นทางแห่งความยั่งยืน และยังสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของทั้งภาคธุรกิจ ภาคการเงิน และผู้กำหนดนโยบาย ในการรับมือกับความท้าทายแห่งศตวรรษที่ 21 ความพยายามอย่างไม่ลดละของเราทุกคนล้วนแล้วแต่เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับภาคเศรษฐกิจและรักษาทรัพยากรอันมีค่าให้ดำรงอยู่สืบไปครับ