นักวิชาการชี้บทเรียน "เหมืองโปแตช" กระทบสิ่งแวดล้อม‘แย่งน้ำชาวบ้าน’

นักวิชาการชี้บทเรียน "เหมืองโปแตช" กระทบสิ่งแวดล้อม‘แย่งน้ำชาวบ้าน’

นักวิชาการสิ่งแวดล้อม เผยศึกษาบทเรียนเหมืองโปแตชกว่า 20 ปี สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้าน ระบุปัญหาน้ำใต้ดิน แย่งน้ำชาวบ้าน มีโอกาสการรั่วไหลของเกลือออกสู่ภายนอกมีความเป็นไปได้สูงมาก ฝุ่นเกลือจากกระบวนการผลิตปลิว

KEY

POINTS

  • นักวิชาการสิ่งแวดล้อม เผยศึกษาบทเรียนเหมืองโปแตชกว่า 20 ปี สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้าน
  • เหมืองโปแตชเกิดปัญหาน้ำใต้ดิน แย่งน้ำชาวบ้าน มีโอกาสการรั่วไหลของเกลือออกสู่ภายนอกมีความเป็นไปได้สูงมาก ฝุ่นเกลือจากกระบวนการผลิตปลิวในรัศมี 25 ตารางกิโลเมตรของเหมือง
  • ข้อเสนอแนะเรื่องเหมืองโปแตช ถึงภาครัฐ ทบทวน กางกฎหมาย สัญญา รับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน 

นักวิชาการสิ่งแวดล้อม เผยศึกษาบทเรียนเหมืองโปแตชกว่า 20 ปี สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้าน ระบุปัญหาน้ำใต้ดิน แย่งน้ำชาวบ้าน มีโอกาสการรั่วไหลของเกลือออกสู่ภายนอกมีความเป็นไปได้สูงมาก ฝุ่นเกลือจากกระบวนการผลิตปลิว

หลังจากนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน สั่งให้ดำเนินการ 3 เหมืองแร่ที่ได้ประทานบัตรไปแล้วในสามพื้นที่ เมื่อวันที่  7 พ.ย.2566  คือ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา และบริษัท เอเซียแปซิฟิคโปแตชคอร์ปอเรชั่น จำกัด จ.อุดรธานี 

สร้างความวิตกกังวลให้กับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตช และออกมาเรียกร้องให้มีการชะลอการดำเนินการของโครงการเหมืองแร่โปแตช

ตั้งแต่ปี 2527  โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ดำเนินการมา 40 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันยังมีข้อเรียกร้องให้ตรวจสอบการดำเนินการมาตลอด ล่าสุดรัฐบาลชุดปัจจุบัน เริ่มให้เดินเครื่องจักรขุดแร่ ซึ่งวันที่ 21 ก.ค.2565 คณะกรรมการแร่ หรือ “บอร์ดแร่” มีมติเห็นชอบการอนุญาต “ประทานบัตร” โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี อายุประทานบัตร 25 ปี ให้กับ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ที่มี กลุ่มอิตาเลียนไทย หรือ ITD เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2565 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และผู้บริหารของ APPC ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง “ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการและเงื่อนไขตามที่กฎหมายและสัญญากำหนดไว้และเงื่อนไขที่กำหนดเพิ่มเติมเป็นเงื่อนไขในประทานบัตร” ก่อนจะมีการเปิดเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ต่อไป

ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเหมืองโปแตช

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่องนี้มา 20 กว่าปี พบว่าการสร้างเหมืองโปแตช จะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชาวบ้านอย่างมาก

โดยเฉพาะเรื่องของน้ำใต้ดิน การแย่งน้ำชาวบ้าน โอกาสการรั่วไหลของเกลือออกสู่ภายนอกมีความเป็นไปได้สูงมาก และฝุ่นเกลือจากกระบวนการผลิตได้ปลิวออกไปในรัศมี 25 ตารางกิโลเมตรของเหมือง ซึ่งหากมีการเดินหน้าสร้างเหมืองต่อไป อาจจะไม่คุ้มค่ากับปัญหาสิ่งแวดล้อม และความเดือดร้อนของชาวบ้านที่จะตามมา

“กระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านน้อยมาก และทุกรัฐบาลที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ มีจัดทำรายงานอีไอเอ ก็จริง แต่ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้เรื่องเหล่านี้น้อยมาก รวมถึงการผ่านของรายงานต่างๆ ก็เป็นไปอย่างเงียบๆ ไม่มีการทำความเข้าใจ หรือออกมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ เพราะในขณะนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะคอยคุมสภาพในพื้นที่ โดยมีนักการเมืองและผู้นำท้องถิ่นที่สนับสนุนเหมือง และไม่ให้ชาวบ้านออกมาแสดงความคิดเห็น” นายสุวิทย์ กล่าว

พบการรั่วไหลของเกลือในภาคอีสาน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดของโครงการนี้ คือ การแย่งน้ำชาวบ้าน ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ทำการเกษตรโดยต้องใช้แหล่งน้ำในเขื่อนลำคันฉู และเจาะขุดน้ำบาดาลมาใช้ อีกทั้งหลายๆ บริเวณมีภาวะของดินเค็ม หากมีการจัดทำเหมืองดังกล่าวขึ้นเหมือนเป็นการซ้ำเดิมชาวบ้าน เพราะเหมืองพูดชัดว่าจะมีการใช้แหล่งน้ำในเขื่อนลำคันฉู ซึ่งกลุ่มชาวบ้านเคยเรียกร้อง และรัฐบอกว่าเป็นแหล่งน้ำใช้ในการทำเกษตร

การทำเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย ทั้งเหมืองโปแตชที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา และเหมืองโพแทชที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ พบว่า เกิดการรั่วไหลของเกลือ และทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม และจนถึงปัจจุบันเหมืองโปแตชทั้ง 2 แห่ง ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้

นายสุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า การเจาะลงไปเอาดินขึ้นมา ตั้งแต่ 1 เมตรลงไป จะทำให้ดินบริเวณดังกล่าวมีความเค็ม และเมื่อเอาดินขึ้นมากองไว้ ถ้าฝนตกลงมา หรือลมพัดย่อมมีการแพร่กระจายของดินเค็ม โดยเฉพาะโปแตช ซึ่งถือเป็นเกลือชนิดหนึ่งที่มีความเค็มมากกว่าเกลือปกติถึง 1,000 เท่า

การรั่วไหลของเกลือ เป็นสิ่งที่แก้ปัญหายากมากที่สุด เพราะการแก้ความเค็มของดินให้มีความปกติ ที่ผ่านมายังไม่สามารถทำได้ ทำให้การทำเหมืองโปแตชในภาคอีสานเกิดการกระจายของเกลือและดินเค็มหลายพื้นที่ ปัจจุบันมีการแพร่กระจายของดินเค็มในภาคอีสานปีละหลายพันไร่

รับฟังความเดือนร้อนของประชาชน

ทั้งนี้ ข้อมูลโครงการดังกล่าว ระบุว่า ได้รับประทานบัตรเลขที่ 31708/16118 เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2558 ครอบคลุมพื้นที่ 9,700 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท มีอายุประทานบัตร 25 ปี โดยสามารถผลิตปุ๋ยโพแตชเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลา 25 ปี จะสามารถผลิตปุ๋ยได้ประมาณ 17.33 ล้านตัน

ด้านสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทจะประกอบด้วย กระทรวงการคลัง 24.17% กรมธนารักษ์ 11.50% บมจ.บางจาก 11.32% ประเทศอินโดนีเซีย 9.81% มาเลเซีย 9.81% กลุ่มไทย-เยอรมัน ไมนิ่ง 22.46% อาซาฮี 1.84% เครือเจริญโภคภัณฑ์ 0.80% บรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ประเทศละ 0.75% โดยรวมแล้วฝ่ายไทยถือหุ้นสูงสุด 67.30% ประเทศสมาชิกอาเซียน 21.87% และอื่นๆ 10.83% 

นักวิชาการชี้บทเรียน \"เหมืองโปแตช\" กระทบสิ่งแวดล้อม‘แย่งน้ำชาวบ้าน’

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์การจัดการแร่โปแตชของประเทศ (Strategic Environmental Assessment ; SEA) มีหลายมิติ รวมถึงมิติทั้งสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ผลกระทบต่อสังคม และการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนต่อเรื่องการพัฒนาในโครงการนั้นๆ ซึ่งการทำเหมืองแร่โปแตชจะต้องมีการคำนวณเรื่องเหล่านี้

แต่ที่ผ่านมา การทำโครงการดังกล่าว ไม่มีการคำนวณ อาทิ ต้นไม้จะเหลือกี่ต้นถ้าตัด อดีตเป็นอย่างไร แล้วปัจจุบัน อนาคตจะเป็นอย่างไร หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่อย่างเดียว คือให้สัมปทานเหมืองแร่โปแตช

“ทรัพยากรมีความสำคัญต่อคนรุ่นหลัง ถ้าคนรุ่นปัจจุบันขุดมาใช้จนหมด คนรุ่นหลังจะอยู่อย่างไร พวกนี้มันเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ใช่ตะบี้ ตะบันมาขุดในคนรุ่นเรา ภาคประชาชนไม่ได้ต่อต้านการพัฒนาพื้นที่ แต่โครงการเหมืองแร่โปแตชต้องตอบให้ชัดเจน ว่าทำขึ้นเพื่ออะไร ใครได้ผลประโยชน์ ชาวบ้านจะมีความเป็นอยู่อย่างไร ดังนั้น อยากให้ภาครัฐ รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ปฏิบัติตามกฎหมาย กางสัญญา ให้ชาวบ้านได้รับทราบ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบจากผลประโยชน์ของรัฐบาล คือ ชาวบ้านในพื้นที่”

ทำเหมืองแร่ ชาวบ้านต้องได้ประโยชน์

ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย อดีตนายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ในฐานะนักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ชัดเจน โดยให้ทรัพยากรแร่เป็นของคนไทย หากยังปล่อยให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำเหมืองแร่ต่อไป จะกระทบทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ รวมถึงไม่เห็นด้วยที่จะให้ประเทศจีน หรือต่างประเทศเข้ามาสำรวจแหล่งแร่โปแตช

“การจัดทำเหมืองแร่ สิ่งแรกที่ต้องคำนึง คือ การทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ในฐานะเป็นเจ้าของแร่ เพราะพวกเขาต้องเปลี่ยนอาชีพ จะให้ทำการเกษตร ทำนาต่อไปคงไม่ได้ เนื่องจากดินมีปัญหา ซึ่งเรามีตัวอย่างที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งมีอุโมงค์เจาะไว้ พื้นที่ด้านนอกทำนาไม่ได้ จึงต้องมองให้ทะลุตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ” 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพื้นที่ หรือทำเหมืองแร่ ชาวบ้านในพื้นที่ต้องเห็นด้วย ได้รับผลประโยชน์ และไม่ได้รับผลกระทบ เพราะพวกเขาต้องอยู่ในพื้นที่ ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนวิธีการทำเกษตร หรือบางคนจากทำนาข้าว ต้องมาทำนาเกลือ หรือ แหล่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ปุ๋ย กระจก โซดาไฟ เป็นต้น และรัฐควรทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ อย่ามองเพียงจะขับเคลื่อนประเทศ หรือทำตามสัญญาที่ไม่มีใครเห็นนอกจากภาครัฐเอง