“เอสเอ็มอี”สู้โลกเดือดรับกติกา ไม่ปล่อยคาร์บอนทุกขั้นตอนการผลิต

“เอสเอ็มอี”สู้โลกเดือดรับกติกา    ไม่ปล่อยคาร์บอนทุกขั้นตอนการผลิต

“ภาวะโลกเดือด” ที่ไม่ใช่แค่“โลกร้อน”อย่างที่เคยได้ยินมา ทำให้วาระการดูแลสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องสำคัญของโลกและกำลังจะกลายเป็นข้อจำกัดทางการค้า ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปสู่ภาคการผลิตด้วย และเอสเอ็มอี

สถานการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงในอีก 1-2 ปี จากนี้ โดยผลกระทบจะเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคการส่งออกตั้งแต่กลุ่มอาหารแปรรูป ไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่าง“ชิ้นส่วนยานยนต์” ที่มีผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) เป็นฟันเฟืองสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ 

ภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า  ได้นำเรื่องนี้เข้ามาเป็นนโยบายสำคัญในการพัฒนาเอสเอ็มอีโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่สำคัญของไทย เช่น ในกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ ที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 โดยที่ผ่านมาได้หารือกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (เมติ)เรื่องความร่วมกับ กสอ. ในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วน เพราะไทยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น 

“โดยจะร่วมมือนี้จะรวมถึงการค้นคว้าด้านเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน และจะลงนามความร่วมมือต่อไป ซึ่งจะมีรายละเอียดต่าง ๆ ออกมาอีกมาก”

 นอกจากนี้ จะเร่งให้ความรู้กับ เอสเอ็มอี ในเรื่องการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment) หรือ LCA ในด้านการปล่อยมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกขั้นตอนการผลิตไปถึงการขนส่ง การใช้งาน และการรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ประเทศผู้นำเข้าชั้นนำจะเพิ่มความเข้มงวดในด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์

รวมทั้งจะกำหนดค่ากลางในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้เป็นกรอบในการปรับปรุงสายการผลิตให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามมาตรฐาน โดยจะต้องเข้าไปวิเคราะห์ทั้งกระบวนการผลิตว่าในส่วนใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าไปแก้ไขให้ตรงจุด รวมไปถึงการนำเทคโนโลยี เอไอ เข้ามาวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุง และมอนิเตอร์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต โดยในปี 2567 กสอ. ได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนาโรงงานให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 300 โรง

“เอสเอ็มอี”สู้โลกเดือดรับกติกา    ไม่ปล่อยคาร์บอนทุกขั้นตอนการผลิต

“ไม่เพียงเท่านี้ กสอ. จะให้การส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลที่เป็นหลังงานหมุนเวียนทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งในเรื่องนี้จะได้ประโยชน์ทั้งตัวโรงงาน และเกษตรกร โดยในขั้นต้นจะเข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรนำเศษวัสดุการเกษตร เช่น ชานอ้อย ใบอ้อย ฟางข้าว ซัง และใบข้าวโพด ต้นมันสำปะหลัง หรือ อื่น ๆ” 

รูปแบบการใช้พลังงานชีวภาพคือการวัสดุทางการเกษตรมาผลิตเป็นวู้ดเพลเลท หรือชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งเทคโนโลยีเครื่องจักรอัดแท่งในปัจจุบันมีขนาดเล็กลงมากสามารถนำไปอัดแท่งวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเหล่านี้ได้ในพื้นที่ไร่นา ทำให้การขนส่งเชื้อเพลิงชีวมวลมีราคาลดลงจากเดิมที่ต้องขนใบอ้อย ต้นข้าวโพด และอื่น ๆ ทางรถบรรทุก ทำให้บรรทุกได้น้อยมีต้นทุนขนส่งสูง

กสอ. จะเข้าไปส่งเสริมให้โรงงานปรับปรุงกระบวนการผลิตให้หันไปใช้เชื้อเพลิงชีวมวลมากขึ้นทั้งในด้านเทคโนโลยี และเงินลงทุน โดยจะเริ่มในโรงงานที่มีบอยเลอร์ หรือหม้อต้ม ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงงานแปรรูปอาหาร ซึ่งในปัจจุบันยังใช้ถ่านหินอยู่เป็นจำนวนมาก โดยโรงงานเหล่านี้ปรับปรุงไปใช้เชื้อเพลิงชีวภาพได้ไม่ยาก จากนั้นจะจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลกับโรงงาน เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลให้ทันกับความต้องการของโรงงาน และมีราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย

     ในส่วนแผนการทำงานอีกด้านหนึ่งคือ กสอ. จะเข้าไปร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) นำผลการวิจัย หรือร่วมวิจัยกับภาคเอกชน ผลิตซุปเปอร์ฟู้ดในรูปแบบใหม่ ๆทั้งเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบในประเทศและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตอาหารเช่น การเลี้ยงวัว ซึ่งเป็นโปรตีนจากสัตว์ให้สามารถทดแทนได้ด้วยโปรต่ีนจากพืชด้วย 

ขณะเดียวกัน จะนำบริษัทขนาดใหญ่มามีส่วนในความร่วมมือด้วย ในรูปแบบช่วยให้เอสเอ็มอีมีพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยปรับปรุงการผลิต และบริษัทขนาดใหญ่ก็ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ และมีปริมาณที่เพียงพอ ซึ่งจะเป็นการนำเอสเอ็มอีเข้ามาเชื่อมต่อในห่วงโซ่การผลิตของบริษัทขนาดใหญ่ เมื่อเอสเอ็มอีกลุ่มนี้มีความพร้อม ก็จะก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้ในอนาคต โดยที่ผ่านมาได้ส่งเสริมให้เกิดการผลิตซุปเปอร์ฟู้ด และสมุนไพรใหม่ ๆ ได้ประมาณ 170 ผลิตภัณฑ์

อีกด้านของการส่งเสริมนโยบาย BCG : เศรษฐกิจชีวภาพ( Bioeconomy)เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)ที่มุ่งไปที่การนำวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงาน และจากชุมชน มาแปรรูปผลิตเป็นสินค้าใหม่ เช่น สิ่งทอ 

ความพยายามร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อรักษาโลกไม่ให้อยู่ในภาวะโลกเดือดอย่างไร้ทางออกนั้นไม่เพียงการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้นแต่ในด้านประโยชน์ทางธุรกิจก็เป็นการตอบโจทย์การค้าในโลกยุคใหม่ได้ด้วย