"สถาปัตยกรรม"และ"การออกแบบชีวิต" กับยุคที่ต้องตอบโจทย์ด้าน"ความยั่งยืน"

"สถาปัตยกรรม"และ"การออกแบบชีวิต" กับยุคที่ต้องตอบโจทย์ด้าน"ความยั่งยืน"

จากสภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้น ได้ส่งผลต่อทุกภาคส่วนที่ต้องเร่งปรับตัว เพื่อรับมือกับสภาวการณ์กล่าว และเข้ามามีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด

โดยเฉพาะในแวดวงของสถาปนิกที่เป็นส่วนสำคัญในการออกแบบที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง และยังเป็นส่วนสำคัญในการลดภาวะโลกร้อน เพราะหากทุกอาคารถูกออกแบบให้ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดใช้ทรัพยากร และลดการปล่อยมลพิษ ก็จะทำให้ภาพรวมจะช่วยลดภาวะโลกร้อนลงได้มาก

ชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ความเห็นว่า ในวงการสถาปนิกได้มีความตื่นตัวในเรื่องการลดภาวะโลกร้อนมานานกว่า 10 ปีแล้ว และได้ปรับปรุงการออกแบบให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกขั้นตอนการก่อสร้าง เริ่มตั้งแต่การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดใช้ทรัพยากร ลดการใช้พลังงานภายในอาคาร และลดการปล่อยมลพิษ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นวาระเร่งด่วนของโลกที่ทุกประเทศต้องช่วยกัน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ตลอดจนการรณรงค์ใช้วัสดุตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ที่อยู่ภายในประเทศ หรือประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง แทนสินค้าที่ต้องเดินทางข้ามทวีปที่ต้องใช้น้ำมันในการขนส่งสูง เพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลก การใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีการออกแบบเพื่อความยั่งยืน รวมไปถึงวัสดุและเฟอร์นิเจอร์ที่มาจากการรีไซเคิล หรือการใช้วัสดุที่สามารถนำไปใช้ในด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ เพื่อลดการเกิดขยะของเสียให้ได้มากที่สุด รวมทั้งจะต้องออกแบบอาคารให้สอดรับกับเทคโนโลยี และภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ที่พักอาศัยมีความสะดวกสบายและมีสุขภาวะที่ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยมลพิษจากต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบอาคารของไทยมากขึ้น เช่น วัสดุก่อสร้างทดแทนลวดที่ใช้ในคอนกรีต ไฟแอลอีดีที่ประหยัดพลังงานสูง อิฐโปร่งแสงเหมือนแก้วแต่คนภายนอกไม่เห็นภายในห้องช่วยให้ห้องสว่างลดการใช้ไฟฟ้า ในช่วงกลางวัน และวัสดุรีไซเคิลจากของเหลือใช้ที่มีความสวยงาม ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้มีการพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ 

"จากความตื่นตัวดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการในแวดวงการก่อสร้างอาคารของไทยต่างมุ่งไปสู่การสร้างอาคารสีเขียว หรือ อาคารที่สร้างขึ้นโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดวัฏจักรชีวิตของตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเลือกพื้นที่ทำเล การออกแบบ การก่อสร้าง การดำเนินการ การดูแล การซ่อมแซมปรับปรุง"

โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การลดผลกระทบจากอาคารก่อสร้าง หรือสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลต่อสุขภาพของผู้คน และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ จนทำให้ในปัจจุบันอาคารที่สร้างใหม่เกือบทั้งหมด จะต้องอยู่ในมาตรฐานอาคารสีเขียว รวมทั้งยังมีแนวโน้มการปรับปรุงอาคารเก่าให้เข้าสู่มาตรฐานสีเขียวเพิ่มขึ้นอีกด้วย

\"สถาปัตยกรรม\"และ\"การออกแบบชีวิต\" กับยุคที่ต้องตอบโจทย์ด้าน\"ความยั่งยืน\"

อย่างไรก็ตาม เพื่อผลักดันให้วงการสถาปนิก และการก่อสร้างให้มุ่งไปสู่การสร้างอาคารสีเขียวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาครัฐควรจะเข้ามาช่วยส่งเสริมเพิ่มขึ้น เช่น การลดภาษีวัสดุและเฟอร์นิเจอร์ในกลุ่มนี้ ช่วยในด้านให้ความรู้ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมั่นใจในเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการให้สิทธิประโยชน์กับเจ้าของโครงการ บริษัทที่ออกแบบ หรือเจ้าของบ้านที่หันมาใช้วัสดุก่อสร้าง และเครื่องตกแต่งบ้านที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน รวมทั้งเข้ามาช่วยนักออกแบบในด้านซอฟท์แวร์ เช่น ซอฟท์แวร์การคำนวณการประหยัดพลังงาน ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีต้นทุนสูงมาก 

โดยในขณะนี้ ในวงการสถาปนิก และธุรกิจก่อสร้างของไทยมีความพร้อมในการปรับตัว เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนแล้ว หากภาครัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มแรงจูงใจในการสร้างอาคารสีเขียวในทุกด้าน ก็จะช่วยให้ในภาพรวมของประเทศลดการปล่อยมลพิษ และลดการใช้พลังงาน ทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ให้ไว้กับองค์การสหประชาชาติได้

สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 105 ล้านตัน หรือ 28% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศไทยในปี 2562  ในขณะที่อุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยอยู่ที่ 39% ดังนั้นการตื่นตัวเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืนของอุตสาหกรรมก่อสร้างจึงเป็นขับเคลื่อนที่สำคัญต่อความสำเร็จในการพิชิตเป้าหมายนี้