“พาณิชย์” เน้นกฎกติกาพื้นฐานด้านความยั่งยืนไม่ควรหลุดจากกรอบ

“พาณิชย์” เน้นกฎกติกาพื้นฐานด้านความยั่งยืนไม่ควรหลุดจากกรอบ

กระทรวงพาณิชย์เน้นกฎกติกาพื้นฐานด้านความยั่งยืน ไม่หลุดจากกรอบที่ควรจะเป็นไม่ให้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งและกีดกัน ผู้ประกอบการ

กีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงาน “SUSTAINABILITY FORUM 2024” ในหัวข้อ “The New Legal Framework for Sustainable International Trade ” จัดโดย​ “กรุงเทพธุรกิจ” วันที่ 13 ธ.ค. 2566 ว่า  กฎกติกาเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็น เรื่องของความยั่งยืนและจะเกิดปัญหาการส่งออกระดับประเทศ จึงต้องมีพื้นฐาน ที่ทุกประเทศต้องทำตาม ซึ่งเป็นกฎกติกาของ WTO คือ ห้ามเลือกปฏิบัติ และ ห้ามจำกัดการ นำเข้าและส่งออก โดย ข้อยกเว้น ทางด้าน มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้แม้จะเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือจำกัดการนำเข้าและส่งออก แต่มีเงื่อนไขว่ามาตรการดังกล่าวจะต้อง มีความสมเหตุสมผลและไม่แอบแฝงการกีดกันทางการค้า

 

ทั้งนี้กฎกติกาการค้าระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคและทวิภาคีความตกลงที่ก่อให้เกิดผูกพัน/พันธกรณีระหว่างประเทศ และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีพิพาทหากไม่ทำตาม อย่างเขตการค้าเสรี (FTA) ยุคใหม่ มักมีข้อบทเรื่องสิ่งแวดล้อมและ/หรือการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น CPTPP และ FTA ของ EU เน้นการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตามกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค อาจไม่ได้สร้างกฎกติกาที่มีผลผูกพันที่เข้มข้น แต่จะเป็นพื้นฐานนำไปสู่กฎกติกาในอนาคต อย่าง APEC จัดทำบัญชีรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม เพื่อลดภาษีนำเข้าให้เหลือไม่เกิน 5% ในสินค้า 54 รายการการหารือแนวทางส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่บริการสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมในประเด็นเกี่ยวกับการค้าและสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของอาเซี่ยนก็มีกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับ AEC (Framework for Gircular Economy for the AEC) ยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (ASEAN Strategy for Carbon Neutrality )

สำหรับแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย มองวิกฤตเป็นโอกาส ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและปรับปรุงองค์กรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นจุดขายที่ช่วยดึงดูด ผู้บริโภคและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ

ติดตามและศึกษาพัฒนาการของแนวโน้มของนโยบายและมาตรการด้านการค้าใหม่อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมปรับตัวรองรับ และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เกี่ยวกับธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม ปล่อยคาร์บอนต่ำ และธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น สินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม และพลังงานหมุนเวียน หน่วยงานภาครัฐต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ต้องมีการสื่อสารสองทาง (two-way communication) ในการทำงานร่วมกันได้อย่างยั่งยืน