ศัพท์เทคโนโลยีที่คนวัยทำงานต้องรู้

ศัพท์เทคโนโลยีที่คนวัยทำงานต้องรู้

การทำงานยุคดิจิทัล คนวัยทำงานล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าคุณไม่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีไม่ว่าคุณจะอยู่ในองค์กรระดับใดก็ตาม โดยเฉพาะกระแส Digital Disruption คุณก็ยากที่จะมีอาชีพการงานที่สงบสุข!

เพราะโลกและชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คนทำงานจึงต้องเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน เรามาทำความรู้จักศัพท์เทคโนโลยีที่คนทำงานต้องเรียนรู้ศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์ในอนาคต

1. AI และ Machine Learning

สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทยได้มีการระบุว่า ปัญญาประดิษฐ์ AI คือ เครื่องจักร (machine) ที่มีฟังก์ชันที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจ เรียนรู้องค์ความรู้ต่าง ๆ อาทิเช่น การรับรู้ การเรียนรู้ การให้เหตุผล และการแก้ปัญหาต่าง ๆ เป็นเหมือนสมองที่แทรกอยู่ในเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ สามารถทำงาน วิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีคนควบคุม ส่วน Machine Learning ก็คือ มันสมองของ AI ซึ่งเป็นส่วนของการเรียนรู้ให้ AI สามารถประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูลออกมาได้ฉลาดกว่าเดิม

ปัจจุบัน จึงมีการนำ Machine Learning ไปประยุกต์ใช้กับเกือบทุกงาน ในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงิน การประเมินสินเชื่อ ด้านการแพทย์ ช่วยวินิจฉัยโรค ด้านการตลาด วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ด้านการผลิต ควบคุมคุณภาพ ด้านการออกแบบ ออกแบบโครงสร้างแบบใหม่ ๆ ด้านศิลปะ แต่งเพลง วาดภาพด้วยคอมพิวเตอร์ ด้านการขนส่ง สร้างรถไร้คนขับ

2. Blockchain

เมื่อพูดถึงการทำธุรกรรม หรือการซื้อขายสิ่งต่าง ๆ บนโลกดิจิทัล ฟังดูอาจรู้สึกว่าเสี่ยง แต่การซื้อขายในลักษณะนี้ทำกันผ่านเทคโนโลยีเบื้องหลังที่เรียกว่าบล็อกเชน คอยตรวจสอบความถูกต้อง ความโปร่งใส โดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลใด ๆ ได้ 

จริง ๆ แล้วมันก็คือเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่ไม่มีตัวกลาง แต่เราสามารถรู้ว่าใครเป็นเจ้าของข้อมูลชุดไหน เพราะข้อมูลของแต่ละคนจะสามารถแชร์ไปยังทุก ๆ คนได้เหมือนห่วงโซ่ โดยจะมีวิธีเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์เพื่อความปลอดภัย จึงมั่นใจได้ว่าธุรกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นปลอดภัยจากการปลอมแปลงข้อมูลและตรวจสอบได้ บล็อกเชนจึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเพิ่มเติม เพราะเป็นพื้นฐานการใช้งานดิจิทัลอีกหลายอย่างในยุคปัจจุบัน

3. Cloud Computing

ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับ Cloud ที่ใช้ในการทำงานเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นบริการ I Cloud, Dropbox, Google Drive หรือ Microsoft One drive เหล่านี้คือบริการ Cloud ซึ่งเราใช้กันอย่างคุ้นเคย แต่อย่าเพิ่งคิดว่านั่นคือ Cloud Computing เนื่องจากมีความแตกต่างกัน

เพราะ Cloud Computing เป็นบริการที่ให้เราใช้หรือเช่าใช้ระบบคอมพิวเตอร์ หรือ ทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ โดยครอบคลุมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล และระบบออนไลน์ต่าง ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราสามารถเลือกกำลังการประมวลผล เลือกจำนวนทรัพยากรได้ตามความต้องการในการใช้งาน และสามารถเข้าถึงข้อมูลบน Cloud จากที่ไหนก็ได้

4. Cyber Security

เป็นเรื่องของความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เนื่องจากทุกวันนี้ชีวิตเราเกี่ยวเนื่องกับอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีแทบจะ 24 ชั่วโมง ชนิดที่ว่าผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว จะทำอะไรก็ต้องทำผ่านออนไลน์ จึงจำเป็นต้องคำนึงในแง่ของความปลอดภัยในการใช้งาน อาทิ การถูกแฮกขโมยข้อมูล การปล่อยไวรัสคอมพิวเตอร์โจมตี การรั่วไหลของข้อมูล

ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจในการใช้งานโลกดิจิทัลแบบเดิม ๆ อาจจะไม่ครอบคลุมความปลอดภัยในเรื่องนี้ พื้นฐานของคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีในปัจจุบันจึงต้องยึดเอาเรื่องการป้องกันสูงสุดจากการถูกหลอก เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นบนออนไลน์

ความเกี่ยวเนื่องของเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตที่แทบจะเป็นส่วนเดียวกับกับชีวิตของมนุษย์ทำให้หลาย ๆ คนให้ความใส่ใจกับ Cyber Security หรือ ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ทั้งในแง่ของคนทั่วไปที่มีความกังวลถึงการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวผ่านโลกออนไลน์ ทำให้บริษัทต้องปรับนโยบายในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า เพื่อเอาชนะใจลูกค้า

ในขณะเดียวกัน การมี Cyber Security ที่ดีในบริษัท ยังช่วยรักษาข้อมูลที่เป็นความลับไม่ให้รั่วไหลไปอีกด้วย เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ควรเรียนรู้เอาไว้เป็นอย่างมาก

5. Data Analytics

Data Analytics คือ การนำข้อมูลต่าง ๆ ที่เก็บได้จากที่ต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน มาวิเคราะห์รวมกันเพื่อสร้างหรือปรับปรุงธุรกิจ หรือการตลาดให้ตรงใจลูกค้ามากขึ้นกว่าเดิม จัดว่าเป็นเครื่องมือสำหรับธุรกิจ (Business Intelligence) ที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน เพราะจะช่วยประหยัดทั้งเงิน และเวลา ช่วยให้รู้จักความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น พัฒนาสินค้าที่ใช่สำหรับตลาด และสามารถวางกลยุทธ์การขายให้ประสบความสำเร็จได้

ซึ่งแทบทุกบริษัทใช่ Data Analytics กันหมดแล้ว แม้แต่ร้านขายของออนไลน์ ยังใช้เครื่องมือ Analytics ที่ Facebook หรือ Google มีให้มาใช้สร้างแผนการตลาดเลย เพราะฉะนั้นจัดว่าเป็นอีกหนึ่งความรู้ที่ทุกคนต้องมี

6.Extended Realities (XR) Virtual Reality (VR), Augmented Reality (AR)

Extended Realities (XR) หรือการสร้างโลกเสมือนแบบไร้ขีดจำกัด หมายถึงการรวมประสบการณ์ทางเทคโนโลยีโลกเสมือน อย่าง Augmented Reality (AR) ซึ่งหมายถึงการรวมสภาพแวดล้อมจริงกับภาพจำลองเสมือนจริงให้อยู่ในภาพเดียวกัน หรือ Virtual Reality (VR) ซึ่งหมายถึงการจำลองภาพให้อยู่ในโลกเสมือนจริง โดยตัดขาดจากบริบทสภาพแวดล้อมจริง

และสุดท้าย Mixed Reality (MR) หรือเรียกว่าความจริงผสม ผสมผสานระหว่าง AR กับ VR เข้าด้วยกัน แสดงออกเป็นการจำลองภาพ 3 มิติ คล้ายโฮโลแกรม แต่สามารถโต้ตอบหรือตอบสนองวัตถุเสมือนได้แบบเรียลไทม์

เหล่านี้จึงเป็นที่มาของ Extended Realities (XR) ซึ่งเป็นรวมของเทคโนโลยีโลกเสมือนทั้งหมดนี้มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานจริง เป็นตัวช่วยในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่

การมาของ Virtual Reality มีมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง อาจเริ่มต้นจากเกมส์ อย่างที่เรารู้กันดี แต่ตอนนี้มีการนำเทคโนโลยี VR มาใช้ในด้านอื่นมากยิ่งขึ้น ทั้งการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมกับแบรนด์ และในด้านการขาย เช่น ร้านขายเครื่องสำอาง ก็นำเทคโนโลยี VR มาใช้ให้ลูกค้าได้ลองสีลิปสติกโดยที่ไม่ต้องทา หรือการลองเสื้อผ้า และการท่องเที่ยวผ่าน VR ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมและได้รับการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในยุคโควิด-19 นี้อย่างแน่นอน

7.Internet of Things (IoT)

Internet of Things คือ สิ่งของทุกอย่างบนโลกใบนี้ที่สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่าย (Internet) เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูล โดยมีมนุษย์เกี่ยวข้องน้อยที่สุด เช่น Smart Device ต่าง ๆ อย่าง AppleWatch หรือ นาฬิกา Smartband ที่เก็บข้อมูลของเราผ่าน sensor และส่งผลไปที่มือถือเพื่อแสดงผล รวมไปถึงประมวลผลออกมาเป็นคำแนะนำการดูแลสุขภาพ

ซึ่ง IoT ยังมีประโยชน์ในแง่ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลดิจิทัลได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว แบบ Real-Time และแม่นยำ ตรวจสอบได้ ทำให้ช่วยลดจำนวนแรงงานคนที่จะต้องใช้ในการทำงานได้มาก เป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ประกอบการรายย่อยทั้งหลาย เรียกได้ว่า Internet of Things เป็นเทคโนโลยีที่คนในยุค Digital Transformation ต้องเรียนรู้ไว้

8.Metaverse

เวลานี้โลกเราเข้าสู่ยุคที่เริ่มสร้างโลกเสมือนกันขึ้นมาอย่างจริงจัง จนอาจซ้อนทับกับโลกแห่งความจริงเร็วกว่าที่คิด Metaverse ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จำกัดเฉพาะเกมส์และความบันเทิง แต่ยังนำมาใช้ในด้านการแพทย์ การเรียน อีคอมเมิร์ซ การทำงาน และอีกหลากหลายด้าน

...ตอนนี้บริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Facebook, Microsoft และ  Tencent แม้แต่บางบริษัทในประเทศไทยเอง ก็ประกาศดันตัวเองสู่โลก Metaverse เป็นการผสมผสานกันของโลกจริงกับโลกเสมือนออนไลน์ที่ทับซ้อนกันอยู่ ให้เรามีตัวตนและใช้ชีวิตได้ทั้งสองโลก ไม่ต้องรอตายแล้วเกิดใหม่ ใช้ชีวิตได้ทันทีในยุคปัจจุบัน

โดยในโลกเสมือนก็สามารถสร้าง Avatar ที่ต่างจากตัวจริงได้ ใช้ชีวิตในโลกเสมือน มีกิจกรรม มีการดำเนินธุรกิจ มีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและชุมชน และมีการสร้างเศรษฐกิจในโลกเสมือนด้วย จนแทบจะเป็นโลกจริงอีกใบหนึ่ง

โดยสามารถเข้าถึงโลก Metaverse ได้ผ่านอุปกรณ์ 3 รูปแบบ 1.VR (Virual Reality) ทำให้เห็นภาพ 3 มิติ แบบเต็มตาในมุมมอง 360 องศา สามารถสัมผัสโลกเสมือนจริงได้มากที่สุด 2.อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถฟังเพลง รับสายโทรศัพท์ หรือถ่ายภาพและคลิปวิดีโอสั้นๆ แล้วแชร์ไปยังแอพโซเชียล 3.อุปกรณ์ทั่วไป เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต ผ่านแอพที่รองรับการทำงานเชื่อมต่อกับโลกเสมือน แม้อุปกรณ์ทำให้เราสัมผัสโลกเสมือนจริงได้น้อย แต่ก็สัมผัสกับโลกเสมือนจริงได้เช่นกัน

9.Quantum Computing

หลักการก็คือ การเอาคุณสมบัติที่อะตอม 2 ตัวสามารถรู้สึกถึงกันได้ทันที หรือเอาเรื่องที่อะตอมสามารถอยู่ทั้งซ้าย ขวา ได้ในเวลาเดียวกัน มาใช้ในการประมวลผลคอมพิวเตอร์เพื่อให้คำนวณได้เร็วขึ้น ลองนึกภาพว่า เราเป็นพนักงานคนนึง ที่สามารถทำงานได้หลายออฟฟิศในเวลาเดียวกัน หรือทำงานหลาย ๆ อย่างได้พร้อมกัน โดยใช้คนแค่คนเดียว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีควอนตัมในยุคที่ 2

คอมพิวเตอร์ควอนตัมแตกต่างจากคอมพิวเตอร์ทั่วไปอย่างไร? คอมพิวเตอร์ปัจจุบัน ใช้ระบบบิต (Bit) หรือก็คือระบบ 0 หรือ 1 โดยปกติ 1 Bit จะเก็บค่าได้แค่ “0” และ “1” แต่ Qubits จะเก็บค่าได้ซับซ้อนมากกว่านั้น คือไม่เป็น “0” และ “1” ก็เป็นทั้งคู่ หรือไม่เป็นทั้งคู่ นั่นแปลว่าใน 1 Qubits จะเกิด 2 ความเป็นไปได้ ซึ่งตามคอนเซปต์ของ Superposition แล้ว หากเรามี 2 Qubits จะเกิด 4 ความเป็นไปได้ และ 3 Qubits เกิด 8 ความเป็นไปได้ และ 4 Qubits จะเกิด 16 ความเป็นไปได้ โดยจะอยู่ในรูปแบบ 2 กำลัง X ไปเรื่อยๆ 

ล่าสุด กูเกิลประกาศว่า ฮาร์ดแวร์ที่กูเกิลมี คือคอมพิวเตอร์ควอนตัม 53 Qubits หรือเท่ากับ 2 กำลัง 53 ซึ่งสามารถประมวลผลพร้อมๆ กัน ในขณะที่คอมพิวเตอร์ปัจจุบันทำได้เพียง 2 ยกกำลัง 10 เท่านั้น ทำให้การประมวลผลปกติต้องใช้เวลา 10,000 ปี จะใช้เวลาเพียง 200 วินาทีเท่านั้น!!