'ประชารัฐ' ในตำนาน

'ประชารัฐ' ในตำนาน

คึกคักครึกโครมด้วยอีเวนท์การตลาด ตามสไตล์นักกลยุทธ์ “ขุนทัพเศรษฐกิจ” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

 โดยเฉพาะวาทกรรม “ประชารัฐ” ที่ถูกปั้นขึ้นมาแทน “ประชานิยม” ก็ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง แต่น้อยคนนักจะทราบถึง “ประชารัฐภาคพิสดาร” ความฝันของเอ็นจีโอตัวพ่อเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

กาลครั้งโน้น พรรคไทยรักไทย ได้ชัยชนะแบบเหนือความคาดหมาย ด้วยนโยบายประชานิยม ทั้งนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ,กองทุนหมู่บ้าน, พักหนี้เกษตรกร ฯลฯ

“หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ได้นัดหมาย “หมอหงวน” นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ กับ “หมอพลเดช” นพ.พลเดช ปิ่นประทีป มาพูดคุยกันที่อาคารชินวัตร 3 วิภาวดีรังสิต ระหว่างนั้นพรรคไทยรักไทย กำลังเตรียมนโยบายการบริหารประเทศ

วันนั้น “หมอมิ้ง” แจกแจงว่า “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข ดูแลนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ส่วนตัวเขาอยู่สำนักนายกฯดูแลนโยบายกองทุนหมู่บ้าน

พี่(หมอหงวน-หมอพลเดช) มาทำงานช่วยกันนะ เราได้อำนาจรัฐแล้ว จะทำอะไรก็ทำหมอมิ้งกล่าว กับรุ่นพี่

สรุปว่า “หมอหงวน” ประกบ “หมอเลี้ยบ” ที่สาธารณสุข ส่วน “หมอพลเดช” ช่วยงาน “หมอมิ้ง” ที่กองทุนหมู่บ้าน

พฤษภาคม 2554 มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง “คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” โดยมีเอ็นจีโอระดับหัวกะทิ เข้าไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, เอนก นาคะบุตร, นพ.พลเดช ปิ่นประทีป, พภ.สุบิน ปณีโต, อำพร ด้วงปาน และมุกดา อินต๊ะสาร

ถัดมา “หมอมิ้ง” ร้องขอให้ “หมอพลเดช” ไปช่วยงานที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ สทบ.

“หมอพลเดช” จึงได้ประสานกับ “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย ที่เป็นเลขานุการ รมว.มหาดไทย เพื่อให้ “กลไกมหาดไทย” กับ “ภาคประชาชน” มาร่วมกันขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้าน

หลังจากถกเถียงกันหลายรอบ “หมอพลเดช” จึงสรุปในที่ประชุมว่า ผมเสนอให้ใช้ยุทธศาสตร์ประชารัฐครับ บรรดานักปกครองขานรับกันเกรียวกราว โดยบอกว่า “ประชารัฐ” มีอยู่ในเพลงชาติไทย

ยุทธศาสตร์ รวมพลังประชารัฐ ขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้าน จึงดำเนินไปด้วยการสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี

“หมอพลเดช” บันทึกไว้ว่า “เราขับเคลื่อนงานเครือข่ายประชารัฐ เพื่อสนับสนุนกองทุนหมู่บ้าน 74,000 แห่ง ใน 926 อำเภอ-เขตทั่วประเทศกันอย่างคึกคักสนุกสนานมาก”

ยุทธศาสตร์ประชารัฐ ได้ถักทอเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประสานงานภาคประชาสังคมลงไปเชื่อมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนถึงระดับตำบล-หมู่บ้านได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศเป็นครั้งแรก

ผ่านไปได้ปีเศษ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในรัฐบาลทักษิณ “หมอมิ้ง” ขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี และไม่ได้ดูแลกองทุนหมู่บ้านโดยตรง โดยมี ยงยุทธ ติยะไพรัชมา เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและเข้ามารับผิดชอบแทน จึงทำให้ “หมอพลเดช” โบกมือลา

ชั่วโมงนี้ “หมอพลเดช” หอบความฝัน “ประชารัฐ” มาทำงานร่วมกับรัฐบาลทหาร โดยส่งชุดความคิดผ่าน นพ.ประเวศ วะสี ที่มีความสนิทสนมกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งทั้งคู่ได้ร่วมกันจัดตั้ง “มูลนิธิสัมมาชีพ” เมื่อปี 2552

หลักคิดของสัมมาชีพ ก็ไม่ต่างจากประชารัฐ ที่เกิดความร่วมมือกับภาครัฐ ,ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน

เมื่อ “สมคิด” เป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลประยุทธ์ จึงชักชวน “เครือข่ายหมอประเวศ” เข้ามาร่วมทำงาน และยุทธศาสตร์ประชารัฐ จึงได้รับการปัดฝุ่นใหม่ ในนาม สานพลังประชารัฐ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

มหากาพย์ประชารัฐ 2557 เสมือนเปลี่ยนตัวละครจาก “หมอมิ้ง” เป็น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และเปลี่ยนจาก “อ้วน ภูมิธรรม” เป็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

ส่วนทีมงานเบื้องหลังยังเป็น “คนหน้าเดิม” ที่พยายามปั้นฝันให้เป็นจริง แต่ไม่สำเร็จในรัฐบาลเลือกตั้ง เลยฝากความหวังไว้กับรัฐบาลทหาร

การรีแบรนด์ประชารัฐ ของเครือข่ายหมอประเวศ ภายใต้สถานการณ์ใหม่ อันแตกต่างจากเดิมแบบ 360 องศา มันจะลงเลยเหมือนประชารัฐภาคแรกหรือไม่? ช่างน่าลุ้นระทึกยิ่ง