ที่มั่นสุดท้าย 'บ้านม้าทองคำ'

ที่มั่นสุดท้าย 'บ้านม้าทองคำ'

กลางปี 2555 มีข่าวใหญ่ วัฒนา อัศวเหม ที่เร้นกายหายตัวไป ได้ปรากฏโฉมอีกครั้ง ในพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต

อุโบสถวัดเหมอัศวาราม ที่เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

เหมอัศวาราม แปลว่า “ม้าทอง” ถือว่าเป็นวัดพุทธศาสนานิกายเถรวาทแห่งแรกในแดนมังกร

ทำไมต้องม้าทอง? เพราะ “วัฒนา” เดิมชื่อ กิมเอี่ยม แซ่เบ๊ โดยมีการเปลี่ยนนามสกุลเป็น “อัศวเหม” แปลว่า ม้า เขาจึงใช้ม้าเป็นตัวนำโชคของตระกูล และเป็นม้าทองคำ

หลายคนอาจสงสัยว่า “เจ้าพ่อปากน้ำ” ไปสร้างวัดที่เมืองจีนได้อย่างไร? หากพลิกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย-จีน ก็จะพบว่า “วัฒนา” มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ “สหายนำ” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มานานกว่า 50 ปีแล้ว

ย้อนกลับไปดูเส้นทางทางการเมืองและธุรกิจของเขา จะเห็นว่าได้รับการสนับสนุนด้วยความรักและเอ็นดูจากผู้ใหญ่สองคน

คนแรกคือ สังข์ พัธโนทัย คนสนิทจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับผู้นำจีน (สังข์ เป็นบิดาของ มั่น พัธโนทัย มือทำงานการเมืองของวัฒนา)

คนที่สองคือ “โควตงหมง” ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ อดีตประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร

แรกที่วัฒนาเข้าไปจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ได้คอนเนกชั่นของ สังข์ พัธโนทัย จนสามารถขยายเครือข่ายการลงทุนในประเทศจีน

ปี 2518 รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้เปิดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน วัฒนาได้ร่วมคณะไปด้วย ในฐานะรัฐมนตรีช่วยอุตสาหกรรม อันเป็นโควตาจากพรรคสังคมชาตินิยม

ว่ากันว่า ความใฝ่ฝันดั้งเดิมของวัฒนา อยากเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากกว่าเป็นนักการเมือง ตามแนวคิดดั้งเดิมของชาวจีนโพ้นทะเล ที่ต้องการค้าขายมากกว่ารับราชการ

แต่ความล้มเหลวทางธุรกิจน้ำมัน ทำให้เขาตัดสินใจลงเลือกตั้ง เพราะ “การเมือง” ทำให้เกิดความล้มเหลวทางธุรกิจครั้งนั้น

ฤดูเลือกตั้ง 2518 วัฒนาใช้เวลาตัดสินใจไม่นาน ในการลงสมัครเลือกตั้งจังหวัดสมุทรปราการ ในนามพรรคสังคมชาตินิยม ของประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ และได้รับการเลือกตั้งสมความตั้งใจ

เขากลายเป็น ส.ส.ผูกขาดของจังหวัดสมุทรปราการ เช่นเดียวกับบรรหาร ศิลปอาชา ของสุพรรณบุรี หรือเสนาะ เทียนทอง ของสระแก้ว โดยเป็น ส.ส.สมุทรปราการ 10 สมัย และเป็นรัฐมนตรี 6 ครั้ง ในช่วงที่เป็น รมช.มหาดไทย เขาได้รับการขนานนามว่าเป็น “เจ้าพ่อ..คุก สลัม กรรมกร”

นับแต่การเมืองไทย ตกอยู่ในอุ้งมือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2544 พรรคการเมืองขนาดกลางและเล็ก ได้ถูกกวาดต้อนเข้าร่วมชายคาพรรคไทยรักไทยไปเสียหมด แต่นักการเมืองรุ่นเก๋าคนนี้ ไม่ยอมซุกตัวอยู่ใต้ปีกทักษิณ

ภารกิจทางการเมืองครั้งสุดท้าย ก่อนตัดสินใจ “หนีคุก” คือ การเข้าร่วม กลุ่มสมานฉันท์ กับ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ร่วมก่อตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน

กล่าวเฉพาะสนามเลือกตั้งสมุทรปราการ นับแต่การเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 จนถึงปี 2554 พรรคการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยึดครองเมืองปากน้ำโดยเบ็ดเสร็จ

แม้ว่ากลุ่มการเมืองของ “วัฒนา อัศวเหม” จะพยายามรักษาพื้นที่ ส.ส. โดยส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงสนามทุกครั้ง โดยใช้ชื่อพรรคราษฎร, พรรคมหาชน, พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคมาตุภูมิ แต่ก็สู้กระแสทักษิณไม่ได้

ถ้ายังจำกันได้ ก่อนเลือกตั้งใหญ่ 3 กรกฎาคม 2554 ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม กลับมาลงสนามการเมืองอีกครั้ง โดยยึดเก้าอี้ นายก อบจ.สมุทรปราการ มาครอง แต่ถึงฤดูเลือกตั้ง ส.ส. ทายาท “อัศวเหม” ที่สวมสีเสื้อพรรคมาตุภูมิ ทั้ง อัครวัฒน์ อัศวเหม (หลานชายวัฒนา) และพูลผล อัศวเหม (ลูกชายวัฒนา) สอบตกเรียบ

หลังจาก “วัฒนา” หนีคุกไปอยู่เมืองจีน และ “ชนม์สวัสดิ์” เข้าคุกเพราะคดีโกงเลือกตั้ง

วันนี้ตระกูล “อัศวเหม” จึงเหลือที่ยืนอยู่ใน อบจ.สมุทรปราการ เป็นฝ่ายบริหาร และกุมเสียงข้างมากในสภา ส.อบจ. รวมถึง สัมพันธ์ เตชะเจริญกุล นายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ ซึ่งเป็นคนสนิทของชนม์สวัสดิ์

วันข้างหน้า ยังไม่มีใครการันตีว่า สนามการเมืองท้องถิ่นเมืองปากน้ำ ยังจะอยู่ในกำมือของ บ้านม้าทองคำต่อไปอีกหรือไม่?