ความบังเอิญกับชะตากรรมทางการเมือง

ความบังเอิญกับชะตากรรมทางการเมือง

โดยข้อเท็จจริงแล้ว อดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นและจอห์น เอฟ เคนเนดี้ได้รับการยกย่องชื่นชมจากคนอเมริกันว่าเป็นสองผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ

ในความเป็นจริงดังกล่าว มีเรื่องของความบังเอิญเกิดขึ้นต่อผู้นำทั้งสองคนในหลายๆ ประการ ชื่อ “Lincoln” และ “Kennedy” ต่างมีพยัญชนะตัวอักษรเจ็ดตัว ทั้งคู่เริ่มต้นชีวิตการเมือง (ลินคอล์นปี 1846 เคนเนดี้ปี 1946) และได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี (ลินคอล์นปี 1860 เคนเนดี้ปี 1960) ในช่วงระยะเวลาห่างกัน 100 ปีพอดิบพอดี และประธานาธิบดีทั้งสองคนนี้ต่างก็สูญเสียลูกในขณะดำรงตำแหน่ง ณ ทำเนียบขาว

ผู้นำทั้งสองถูกลอบสังหารในวันศุกร์และถูกยิงที่ศีรษะเหมือนกัน ในขณะนั้น ประธานาธิบดี

ลินคอล์นมีเลขาฯส่วนตัวชื่อเคนเนดี้ ในขณะที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้มีเลขาฯส่วนตัวชื่อลินคอล์น (อย่างน่าบังเอิญ) ส่วนฆาตกรผู้ลั่นไกสังหารซึ่งเป็นคนภาคใต้ทั้งคู่เกิดห่างกัน 100 ปีพอดีและมีอักษรพยัญชนะในชื่อสกุลรวมกันแล้วได้ 15 ตัวเหมือนกัน เช่นเดียวกับรองประธานาธิบดีของประเทศใน ช่วงขณะนั้นที่ต้องขึ้นรับตำแหน่งแทนลินคอล์นและเคนเนดี้ ต่างก็ชื่อจอห์นสันด้วยกันทั้งคู่ นอกจากจะเป็นคนภาคใต้เหมือนกันแล้ว ผู้นำคนใหม่ทั้งสองคนก็เกิดห่างกันร้อยปีพอดิบพอดีเช่นกัน

หลายๆ เรื่องเป็นความจริงที่เกิดขึ้นอย่างช่างบังเอิญ และความบังเอิญหลายๆ เหตุกลายเป็นความจริงที่น่ามหัศจรรย์

เช่นเดียวกันกับในสังคม(การเมือง)ไทย ซึ่งไม่เคยขาดแคลนเรื่องของความบังเอิญอันน่าฉงน โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่สังคมไทยเกิดความแตกแยกอย่างร้าวลึกมานานกว่า 7-8 ปีเช่นนี้ แน่นอนที่สุดที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า บุคคลที่มีบารมีมีอิทธิพลทางการเมืองในสังคมไทยมากที่สุดก็คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งสองคนต่างก็เกิดวันที่ 26 เหมือนกัน (พลเอกเปรมเกิด “26 สิงหา” และพ.ต.ท.ทักษิณเกิด “26 กรกฏา”) และต่างก็เคยมีประสบการณ์ถูกปฏิวัติรัฐประหารในเดือนกันยายน (พลเอกเปรมกับการปฏิวัติ “9 กันยา” และพ.ต.ท.ทักษิณกับการปฏิวัติ “19 กันยา”) เหมือนกันอีกอย่างช่างน่าบังเอิญ

กล่าวสำหรับเฉพาะป๋าเปรมแล้ว มีข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นความบังเอิญหรือไม่ นั่นคือบุคคลที่ได้รับเลือกให้เป็นคนสนิท คนใกล้ชิด ลูกป๋า หรือคนที่ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่เสมือนเป็นเลขาฯส่วนตัวของป๋า “Prem” มักจะมีชื่อขึ้นต้นด้วยตัวอักษร P ไม่ว่าจะเป็น “Prasong” น.ต. ประสงค์ สุ่นสิริ, “Pairoj” พล.อ. ไพโรจน์ พานิชสมัย, “Pajun” พลเรือเอกพะจุณณ์ ตามประทีป และล่าสุด “Pisanu” พล.ต.พิษณุ พุทธวงศ์ ผู้ทำหน้าที่เป็นนายทหารคนสนิท ณ ปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้น นอกจากตัวป๋าเปรมแล้ว คงไม่มีใครคาดเดาว่า ทำไมหรือด้วยเหตุผลประการใด ป๋าเปรมจึงมักเลือกบุคคลที่ขึ้นด้วยตัว P เป็นขุนพลคู่ใจคนสนิท เว้นเสียว่าเป็นความบังเอิญจริงๆ

ในส่วนของพ.ต.ท.ทักษิณเอง ด้านหนึ่งอาจจะมีความมั่นใจว่าการมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “ปู” ควบคุมกลไกอำนาจรัฐและมีประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชื่อ (สหาย)“ปูน” คุมมวลชนคนเสื้อแดงนั้น จะกลายเป็นพลังสอง “ปอปลา” ที่ทรงพลังยากที่ใครจะต้าน ทานได้(?)

แต่ในอีกด้านหนึ่ง อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 คนนี้ก็อาจจะครุ่นคิดว่า ชะตากรรมหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้น เป็นความบังเอิญหรือชะตาลิขิตกันแน่

แน่นอนที่สุดว่า มีบุคคลสองคนที่ทำให้ชีวิตของ “นายใหญ่” เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวงที่สุดในชีวิต เรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่สุดสำหรับชีวิตของ(อดีต)ผู้นำคนนี้ก็ว่าได้

คนแรกคือ “สุวรรณ วลัยเสถียร” ผู้ได้ชื่อว่าเป็นกุนซืออยู่เบื้องหลังและมีบทบาทสำคัญในการเจรจาดีลซื้อขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่บริษัทเทมาเส็กจากสิงคโปร์โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายไม่ต้องเสียภาษี จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการขับไล่และถูกปฏิวัติยึดอำนาจในเวลาต่อมา

ถ้าหาก “สุวรรณ วลัยเสถียร” คือผู้ “เปิด” ประตูแห่งวิบากกรรมต่างๆ จนต้องทำให้ “นายใหญ่” ต้องลี้ภัยในต่างแดนแล้ว ก็ต้องถือว่า “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” คือผู้ “ปิด” ประตูโอกาสแห่งการกลับประเทศให้เหลือริบหรี่ยิ่งขึ้น ภายหลังจากเสนอแปรญัตติร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง จนประยุทธเปิดศึกกับฝ่ายตรงข้ามและเกิดกระแสต่อต้านครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ทั้ง “สุวรรณ วลัยเสถียร” และ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” ต่างก็มีพื้นฐานการศึกษาทางด้านนิติ ศาสตร์ และถึงแม้ว่า ผลงาน(โบว์ดำ)ของทั้งสองคนจะเกิดห่างกัน 8 ปี แต่ทั้งคู่ก็บังเอิญเกิดปี 2488 เหมือนกัน

คุณทักษิณและผู้สนับสนุนคงไม่คาดคิดว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งนี้จะส่งผลกระทบราวแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงเช่นนี้ จะกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จุดให้ฟืนเปียกน้ำ(มัน)ลุกโชนขึ้นจนยากจะดับไม่ให้ขยายตัวได้

ความขัดแย้งทางการเมืองที่พัฒนามาจนถึงขั้นที่เรียกว่าสุกงอม ณ เวลานี้ กล่าวได้ว่า จุดศูนย์ กลางอยู่ที่ผู้นำสองคนเป็นหลัก เป็นการเดิมพัน(ทางการเมือง)ราคาแพงสุดๆ ระหว่างคนที่ชื่อ Thaksin Shinawatra (TS) และ Suthep Thaugsuban (ST) กลายเป็นศึก “TS vs ST” ที่ไม่มีใครจะคาดคิดมาก่อน เป็นศึกเดิมพันชีวิตกันว่า ถึงที่สุดแล้วใครจะอยู่และใครจะไป

โดยเฉพาะในส่วนของคุณทักษิณเองก็ต้องพิสูจน์กับโชคชะตาว่า ถึงจะไม่มี “เอก” เป็นมงคลติดตัว แต่วาดหวังจะได้กลับประเทศไทยในเร็ววันโดยไม่ต้องรอนานถึง 20 ปีจนกระทั่งคดีความหมด อายุเหมือนเช่นกรณีของ “เอกยุทธ” และ “เอกธนกิจ” พร้อมทั้งเชื่อมั่นมาตลอดว่าจะไม่มีวันเหมือนกรณีของนายปรีดี พนมยงค์อดีตนายกรัฐมนตรีที่ต้องลี้ภัยในต่างต่างประเทศจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต

ทั้งนี้ นับเป็นความบังเอิญที่ภรรยาคู่ชีวิตของทั้งดร.ปรีดีและดร.ทักษิณต่างก็มีสกุลเดิม คือ “ณ ป้อมเพชร” และร่ำเรียนเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนเหมือนกันด้วย

ในขณะที่การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลได้ขยายตัวไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศอย่างร้อนแรงนั้น จะด้วยเหตุบังเอิญหรือไม่ก็ตาม สองจังหวัดแรกที่มีผู้ชุมนุมรวมตัวกันบุกและยึดศาลากลางด้วยมือเปล่าปราศจากความรุนแรงก่อนจะขยายตัวไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศก็คือตรัง (Trang) และสตูล (Satun) ทำให้ศึก “TS vs ST” ดูมีความหมายมากขึ้น

นอกจากศึก “TS vs ST” แล้ว การชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้ จะเป็นการชี้ขาดถึงอนาคตทางการเมืองและชีวิตวันข้างหน้าของศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ “สิงห์ขาว” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งสองคน นั่นคือ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณและคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรโดยไม่มีคำว่ารุ่นพี่รุ่นน้อง

ด้วยเดิมพันทางการเมืองที่สูงสุดในชีวิตของทั้ง TS และ ST ดังนั้น การต่อสู้ด้วยมวลชนจึงกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เรียกว่าเป็นศึก 2R ที่ร้อนแรงที่สุดทั้งรอบหลายๆ ปี โดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเพื่อไทยที่มีคุณสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นผู้นำใช้มหาลานราชดำเนิน (Ratchadamnoen) เป็นฐานหลักในการชุมนุม ในขณะที่ฝ่ายคนเสื้อแดงภายใต้การนำของนายจตุพร พรหมพันธุ์ปักหลักอยู่ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน (Ratchamangkala) เป็นขุมกำลังสำคัญเพื่อแสดงพลังคัดค้านอีกฝ่ายหนึ่ง

ที่น่าสนใจก็คือ ผู้นำมวลชนคนสำคัญที่สุดในการชุมนุมของทั้งสองฝ่าย อย่างคุณสุเทพและคุณจตุพร (รวมทั้งคุณธิดาในฐานะประธาน นปช.) ต่างมีพื้นเพรากเหง้าเป็นคนบ้านเดียวกันนั่นคือสุราษฏร์ธานี เมืองคนดี ความบังเอิญเช่นนี้ ดูราวกับว่าโลกใบนี้กลมเหลือเกินจนทั้งสองสามคนนี้ต้องมาบรรจบพบกันในสถานการณ์เช่นนี้ ทั้งๆที่ประเทศไทยมีพลเมืองมากกว่า 60 ล้านคน

ณ วันนี้หลังจากที่มวลมหาชนมารวมตัวอย่างนัดหมายกันเป็นหลักล้านสร้างสถิติทางประวัติ ศาสตร์แห่งการเมืองไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ย่อมมีเหตุมีผลทำให้ “นายใหญ่” ต้องวิตกกังวลเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ย่อมส่งผลทำให้ฝ่ายราชดำเนินมั่นใจมากขึ้นเป็นเงาตามตัว บวกกับการพิจารณาปัจจัย “สอเสือ” ด้วยแล้ว ก็อาจจะทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เปรียบทางจิตวิทยาเพิ่มขึ้น

ในอดีตก่อนการปฏิวัติรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 นั้น ต้องถือว่า คุณทักษิณเรืองอำนาจแบบสุดๆ หลังจากบริหารประเทศมานานกว่า 5 ปี แต่ใครจะคาดคิดว่า รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรต้องสูญเสียอำนาจไปด้วยฝีมือของ “สนธิ ลิ้มทองกุล” และ “สนธิ บุญยรัตกลิน” อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่เคยคาด คิดว่าจะถูกล้มอำนาจด้วยฝีมือของสอง “สอเสือ” เช่นนี้

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่หวั่นวิตกว่า สุดท้ายแล้ว ดวงของ “นายใหญ่” จะแพ้ทางแพ้ภัยสอเสือตัวที่สามนาม “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อีกครั้งหรือไม่ ถึงที่สุดแล้ว เหตุการณ์ต่างๆ จะถือเป็นความบังเอิญ โชคชะตา หรือเจตจำนงก็มิอาจล่วงรู้ได้จริงๆ

หรือจะเป็นอย่างที่อดีตประธานาธิบดีแฟรงค์คลิน ดี รูสเวลท์แห่งสหรัฐฯเคยกล่าวไว้ว่า ในทางการเมือง ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นล้วนเป็นความตั้งใจให้เกิดขึ้น