อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม...หนึ่งในล้าน

อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม...หนึ่งในล้าน

ในช่วงประมาณหนึ่งปีที่ผ่านมา มีคนดีๆ มีความสามารถ จากไปกันหลายคน ไม่ว่าจะเป็นคุณชาญชัย จารุวัตร คุณดุสิต นนทนาคร อาจารย์ทวี บุตรสุนทร

และอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
 

ในวันนี้ อยากจะขอเขียนสดุดีอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมค่ะ
 

ดิฉันได้ยินชื่อของอาจารย์ไพบูลย์ครั้งแรกในสมัยที่ท่านเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และได้เห็นชื่อของท่านในฐานะอดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเป็นการยืมตัวมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย และเพิ่ง
มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์ไพบูลย์ ในช่วงประมาณสองปีเศษก่อนท่านจากไป โดยท่านเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโนบาย สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม ในชุดที่ดิฉันเป็นกรรมการอยู่
 

จากการมองดูและติดตามผลงานของท่านอยู่ห่างๆ ดิฉันมีความรู้สึกชื่นชมว่าท่านมีความสมถะในชีวิตเป็นอย่างมาก ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ มีความสามารถ และมีประสบการณ์สูง สามารถเลือกทำงานได้มากมาย ทั้งในและต่างประเทศ แต่ท่านก็เลือกที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม เพื่อสังคม โดยรับตำแหน่งผู้อำนวยการ และภายหลังเป็น ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจอาสา และตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมายที่ทำเพื่อสังคม
 

เมื่อได้มีโอกาสร่วมประชุมกับท่านก็เห็นว่าท่านจะมองภาพรวม มองประโยชน์ต่อสังคม และมองความยั่งยืนของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ได้อย่างดีมาก คณะกรรมการได้ข้อคิดและคำแนะนำดีๆ จากท่านมากมาย
 

หนังสือ “คุยเรื่อง...ชีวิตธรรมดา ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ฉบับครบวงจรชีวิต” ซึ่งดิฉันได้รับเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2555 ได้แสดงถึงตัวตนที่แท้จริงของท่านไว้ว่า ท่านเป็นคนไม่ธรรมดา ที่วางตัว “ธรรมดา”จริงๆ ค่ะ ตั้งแต่เกิด จนถึงจากไป
 

อาจารย์ไพบูลย์ เป็นบุตรคนสุดท้อง ในบรรดา 8 คน ของคุณพ่อเมี่ยงซอย และคุณแม่ ห่อ วัฒนศิริธรรม เป็นหนุ่มผักไห่ค่ะ เกิดที่อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คุณพ่อเป็นชาวจีนและคุณแม่เป็นลูกครึ่งจีน
 

การวางตัวธรรมดานี้ สามารถให้ข้อคิด และเป็นบทเรียนให้แก่คนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี การตั้งใจเรียน สอบได้คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์(มหิดล) และที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ระหว่างเรียนปี 1 ก็ไปสอบชิงทุนธนาคารแห่งประเทศไทย โดยต้องการแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ เมื่อกลับมาทำงานก็มีความตั้งใจ ทุ่มเทอย่างเต็มที่ เมื่อมีชีวิตครอบครัวก็มีครอบครัวที่มีความสุข
 

อ่านจากเรื่องเล่าของอาจารย์ จะเห็นว่าอาจารย์มีความอยากช่วยเหลือผู้อื่นและช่วยเหลือสังคมตั้งแต่เด็กแล้ว นี่เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งของการค้นพบที่มูลนิธิอโชกาได้ประกาศไว้คือ “ความเห็นอกเห็นใจ” เป็นทักษะ  สามารถสร้างขึ้นมาได้ ยิ่งทำบ่อย ยิ่งมีทักษะมาก
 

อาจารย์ทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม โดยไปช่วยคนแก่ที่ยากจนกวาดบ้าน ทำความสะอาด ทาสี เปลี่ยนวอลล์เปเปอร์ตั้งแต่ที่ไปเรียนต่างประเทศ อาจารย์บอกว่า คุณแม่ของอาจารย์เป็นต้นแบบของการให้เพื่อผู้อื่น โดยอาจารย์ก็ช่วยเหลือผู้อื่นมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว
 

คุณสมบัติอีกข้อหนึ่งคือการเป็นผู้ใฝ่รู้  สมัยที่ทำงานอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจารย์ไปเรียนหลักสูตรมัคคุเทศก์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมคุณหญิงชฎา และเพื่อนอีกท่านหนึ่ง เพื่อจะได้คอยดูแลรับแขกต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น
 

อาจารย์เป็นผู้ที่มีความสนใจหลากหลาย และแทบไม่น่าเชื่อว่าท่านจะมีความสามารถในการแต่งโคลง กลอน ได้ไพเราะมากๆ ทั้งๆ ที่ไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่ปริญญาตรี เรียกได้ว่าเป็นลูกหลานของสุนทรภู่ได้เลยค่ะ  บทนิราศที่เขียนถึงคุณหญิงชฎา ก่อนแต่งงานนั้น หวานหยดย้อยมากๆ
 

ในการอบรมลูกๆ อาจารย์ให้คติว่า “เราพยายามทำตัวของเราเองให้ดี เหมือนกับที่พ่อแม่ของเราทำตัวดีเราก็ดูเป็นตัวอย่าง เกิดการบ่มเพาะเป็นนิสัยใจคอไปโดยธรรมชาติ” “สิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญคือความรัก ความอบอุ่น” ลูกๆ ของอาจารย์เรียนจบจากคณะบริหารธุรกิจเคลลอกก์ มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเธิร์นรุ่นน้องดิฉัน ก็เก่งและน่ารักทั้งสองคน
 

หลักพื้นฐานการบริหารเงินที่อาจารย์ให้ไว้คือ ต้องให้มีเพียงพอไว้ก่อน เพื่อที่จะได้ไม่เดือดร้อน “ฉะนั้นเบื้องต้นการประหยัดการอดออมควรเป็นนิสัยประจำตัว และเป็นนิสัยประจำครอบครัว”  “ใช้ชีวิตอย่างพอเหมาะพอควร”  “ประหยัดอดออมไว้เพื่อจะได้เป็นทุนในระยะยาว ในขณะเดียวกันก็ใช้จ่ายใช้สอยไปตามปกติที่ชีวิตพึงมี” อาจารย์จะไม่ใช้จ่ายเรื่องฟุ่มเฟือย เช่นรถแพงๆ ของเล่นแพงๆ เครื่องประดับต่างๆ
 

อาจารย์ไพบูลย์ ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
 

อาจารย์จากไปด้วยโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน แต่ก่อนจากไปอาจารย์ได้เขียนบทความ “ไม่เป็น (โรค) ไม่รู้(สึก) : สุขภาวะเป็นเรื่องที่ควรสร้างสมตลอดชีวิต” ซึ่งอาจารย์สรุปได้ว่า “ทุกคนควรดูแลสุขภาพทั้ง 4 ด้าน คือ (1) สุขภาพทางกาย (2)สุขภาพทางใจ  (3) สุขภาพทางปัญญาหรือจิตวิญญาณ และ (4) สุขภาพทางสังคมหรือการอยู่ร่วมกัน ให้เนิ่นๆ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตั้งแต่ “ก่อนเกิด” ได้ยิ่งดี  โดยผู้เป็นพ่อแม่ดูแลให้ หรือคิดได้เมื่อไรควรจะเริ่มเมื่อนั้น และทำต่อไปอย่างสม่ำเสมอที่สุด  หลักการดูแลสุขภาพทั้ง 4 ด้านที่ผมสรุปจากประสบการณ์และการเรียนรู้ของผมคือ (1) อาหารที่มีคุณภาพและปริมาณเหมาะสม (2) การออกกำลังกายที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ (3) กรพักผ่อนที่ดีและเพียงพอ (4) การรักษาสภาพจิตใจที่เป็นสุข แจ่มใสมองโลกในแง่ดี และ (5) แบบแผนการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมและเป็นสายกลาง”
 

หายากที่จะมีคนคนหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นอยากทำงานเพื่อสังคม และตั้งใจทำมาตลอด จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม จึงถือเป็น เพชร “หนึ่งในล้าน” เลยทีเดียว