เจาะ 3 เทรนด์ใหญ่เทคโนโลยีการเงิน ในงาน ‘Money20/20 Asia’

เจาะ 3 เทรนด์ใหญ่เทคโนโลยีการเงิน ในงาน ‘Money20/20 Asia’

Money20/20 Asia ชี้เทรนด์การเงินภูมิภาค เร่งปลดล็อกการเปิดเผยข้อมูลการเงิน (Open Banking) ชำระเงินระหว่างประเทศ (Cross Border Payment) และเอไอ (AI) ควบคู่การพัฒนาฟินเทค ผลักดันเป้าหนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างครอบคลุม

เทรซี เดวีส์ ประธานการจัดงาน Money20/20 (Tracey Davies, Global President of Money 20/20) เปิดเผยว่า งาน Money20/20 Asia ถือเป็นการจัดงานมหกรรมรวมฟินเทคชั้นนำของโลก ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย ณ กรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางการเติบโตของฟินเทคระดับโลก ทั้งยังเป็นศูนย์กลางด้านการตลาดที่กำลังเติบโตซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นระบบนิเวศทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2573

โดยงาน Money20/20 เป็นพื้นที่สำหรับการมองหาเครือข่ายทางธุรกิจ และโอกาสในการเชื่อมโยงกับพันธมิตร ทั้งองค์กรขนาดใหญ่และสตาร์ทอัปฟินเทคที่มีศักยภาพ รวมทั้งอัปเดตและทำความเข้าใจกฎระเบียบและการกำกับดูแลบริการการเงินจากผู้แทนหน่วยงานรัฐ 

เทรซี กล่าวต่อว่า ธีมหลักที่ Money20/20 Asia ต้องการสื่อสารจะโฟกัสไปที่เทรนด์เทคโนโลยีการเงินของภูมิภาค โดยวิทยากรซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทฟินเทคชั้นนำของวงการกว่า 250 คน จะมาแลกเปลี่ยนความรู้บน 4 เวทีหลักของงาน 

โดยธีมหลักด้านการเงินในเอเชียกำลังพูดถึงเรื่อง Open Banking และ Embedded Finance ซึ่งเป็นประเด็นที่ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็กล่าวถึงเช่นกัน ในเรื่องของการกำกับดูแล แบ่งปัน และการเข้าถึงข้อมูลสำหรับบริการทางการเงิน

รวมทั้ง เรื่องการชำระเงินระหว่างประเทศ (Cross Border Payment) เป็นอีกเทรนด์สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยภายในงาน ธนาคารกสิกรไทย และบริษัท เจพี มอร์แกน ได้ประกาศความร่วมมือที่จะลดอุปสรรคการชำระเงินระหว่างประเทศ 

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเงินยังมาพร้อมกับกลโกง การโจรกรรม ความเสี่ยง และภัยความมั่นคง ซึ่งก็ทำให้เห็นเทรนด์ของฟินเทคที่เริ่มโฟกัสและให้ความสำคัญกับการสร้างความไว้วางใจและความมั่นคง (Trust Identity and Security) โดยการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการป้องกันการฉ้อโกง 

เทรซี กล่าวว่า การจัดงาน Money20/20 ทำให้เห็นเทรนด์นวัตกรรมการเงินที่ต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค โดยเอเชียถือเป็นผู้นำของโลกในการพัฒนา "ซูเปอร์แอป" เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดการเงินที่อื่น อย่างยุโรปและสหรัฐที่เพิ่งจะเริ่มเห็นบางบริษัทให้ความสนใจ รวมถึงความริเริ่มที่ภูมิภาคเอเชียถือเป็นผู้นำของโลกคือการผลักดันเรื่องการเข้าถึงบริการและการมีส่วนร่วมทางการเงิน (Financial Inclusion)