ครม.ไฟเขียว ไทย ปล่อยกู้ สปป.ลาว 1.8 พันล้าน พัฒนาเส้นทาง 'R12' บูมเศรษฐกิจ

ครม.ไฟเขียว ไทย ปล่อยกู้ สปป.ลาว 1.8 พันล้าน พัฒนาเส้นทาง 'R12' บูมเศรษฐกิจ

รองโฆษกเกณิกา เผย ครม. เห็นชอบให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาล สปป. ลาว โดยการให้กู้เงินเงื่อนไขผ่อนปรน ในการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 (R12) 1.8 พันล้านบาท 

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (18 เมษายน 2567) มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก - จุดผ่านแดนนาเพ้า สปป. ลาว (โครงการ R12) จำนวน 1,833,747,000 บาท ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินโครงการ R12 เริ่มต้นจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน บริเวณจุดเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรนครพนม ประมาณ 17 กิโลเมตร    (ผ่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 3) เชื่อมต่อไปยังเมืองยมมะลาด เมืองบัวพะลา สิ้นสุดที่บริเวณจุดผ่านแดนสากลนาเพ้า สปป. ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดผ่านแดนสากลจาลอ กวางบิงห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระยะทางประมาณ 147 กิโลเมตร ประกอบด้วย

  1.  ปรับปรุงสายทางตามมาตรฐานทางหลวงสายเอเชีย (Asian Highway)
  2.  ปรับปรุงจุดผ่านแดน อาคารสำนักงานต่าง ๆ สถานีขนถ่ายสินค้าและลานกองเก็บ ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบริเวณด่าน
  3.  ปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่าง บริเวณทางร่วมทางแยกในชุมชนระบบระบายน้ำ และติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย
  4.  พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแหล่งท่องเที่ยว

โดยมีเงื่อนไขและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ดังนี้

  •  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.75 ต่อปี
  •  อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี)
  •  ค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ.ร้อยละ 0.15 ของวงเงินกู้
  •  ระยะเวลาการเบิกจ่าย 6 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา
  • ผู้ประกอบการงานก่อสร้างและที่ปรึกษา นิติบุคคลสัญชาติไทย
  • การใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา
  • ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษา นิติบุคคลสัญชาติไทย
  • กฎหมายที่ใช้บังคับกฎหมายไทย

จากการศึกษาพบว่า เส้นทาง R12 จะสนับสนุนนโยบายการเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทย สปป. ลาว เวียดนาม และจีน รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศภายใต้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย

โดยสามารถประหยัดเวลาการขนส่งและพิธีการทางศุลกากรระหว่างประเทศได้ (Transit & Customs time) จากจุดเริ่มต้น (Origin) และจุดหมาย (Destination) เดียวกันจาก 10 ชั่วโมง เหลือ 4 ชั่วโมง เนื่องจากลดขั้นตอนการผ่านด่านศุลกากรจาก 5 จุด เหลือ 2 จุด

และช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคและระดับโลก ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งภาคการผลิตและบริการที่สำคัญ รวมถึงส่งเสริมให้มีการเดินทางและติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและประเพณีระหว่างกันส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเส้นทาง R12 เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางหมายเลข 8 (R8) และเส้นทางหมายเลข 9 (R9) ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East - West Economic Corridor : EWEC)

และคาดว่า มีโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนการใช้เส้นทางจากเส้นทาง R9 มาใช้เส้นทางโครงการ R12 ประมาณร้อยละ 50 ซึ่งจะส่งผลให้โครงการ R12 สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าชายชายแดนระหว่างไทย - สปป. ลาว ผ่านด่านศุลกากรนครพนมได้มากขึ้น