ส่องธุรกิจ 'ไลฟ์ ไซแอนซ์' ปตท. เคลื่อนชีวิตคนไทยให้ไกลกว่า 'พลังงาน'

ส่องธุรกิจ 'ไลฟ์ ไซแอนซ์' ปตท. เคลื่อนชีวิตคนไทยให้ไกลกว่า 'พลังงาน'

ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ ปตท. “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเพื่อสนับสนุนแผนการดำเนินงานให้เติบโตไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน 

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2583 (ค.ศ.2040) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ปี 2593 (ค.ศ. 2050) ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจใหม่ คือ 

ธุรกิจพลังงานสะอาด หรือธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงไฮโดรเจน  

ธุรกิจที่สนับสนุนการขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนนอกเหนือธุรกิจพลังงาน (Beyond) อาทิ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) อาทิ ยา Nutrition อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle) ซึ่งรวมถึงธุรกิจค้าปลีก Non-oil ธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization) ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ 

1. Business Growth ปรับพอร์ตการลงทุนธุรกิจพลังงาน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ 
2. New Growth ธุรกิจพลังงานใหม่และธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากพลังงานต้องสร้างกำไรในปี 2573 มากกว่า 30% พร้อมลงทุนและเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจที่เป็น Future Energy และที่ไกลกว่าพลังงานกลุ่ม Beyond 
3. Clean Growth ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบจากปี 2563 (ค.ศ.2020) ลง15% ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) 

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท. และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (INNOBIC) กล่าวว่า ปตท. ได้ขยายฐานธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจ Life Science ด้วยการจัดตั้ง อินโนบิกฯ ในปี 2563 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตยา อาหารเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ และระบบการวินิจฉัยโรค ขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ Life Science  ของ กลุ่ม ปตท. ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน โดยมีวิสัยทัศน์ คือ บริษัทชั้นนำด้านชีววิทยาศาสตร์ในภูมิภาคที่มีวิทยาศาสตร์อันเป็นเลิศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน 

โดยแบ่งการดำเนินธุรกิจในกลุ่มธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ 
ธุรกิจยา (Pharmaceutical) จะมุ่งเน้นการผลิตยาชีววัตถุที่มีนวัตกรรม หากเป็นยาสามัญจะเน้นการทำธุรกิจยาสามัญที่เพิ่งหมดสิทธิบัตร หรือมีการปรับเปลี่ยนวิธีการบริโภคให้มีความสะดวกมากขึ้น การรักษาโรคนั้น บริษัทจะเน้นไปในการรักษาโรคที่ไม่ติดต่อ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร โรคการผิดปกติของระบบประสาท เป็นต้น เพื่อเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ ช่วยลดการพึ่งพายานำเข้า

ธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology) แบ่งเป็น ธุรกิจอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมีกลุ่ม ปตท. เช่น IRPC, GC โดยใช้เม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีนผลิตผ้า Melt Blown รวมถึงการผลิตยางสังเคราะห์ Nitrile Butadiene Latex (NBL) เพื่อเป็นวัตถุดิบทำถุงมือไนไตร  

ธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์และการวินิจฉัยโรค โดยร่วมมือกับสตาร์ทอัพพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) พัฒนาชุดตรวจโควิด-19 โดยอินโนบิกจะเข้าไปทำการตลาด 

ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ (Nutrition) จะผลิตอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นยาในลักษณะ Food for future ซึ่งจะได้อาหารเพื่อให้คนไทยบริโภคเพื่อสุขภาพ โดยสินค้าที่ผลิตจะเป็นสารตั้งต้นหรือสารสำคัญที่มีคุณสมบัติในการรักษาหรือเพิ่มการโภชนาการที่สำคัญ 

นอกจากนี้ ได้ก่อตั้งบริษัท อินโนบิก เอลเอล โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการลงทุนธุรกิจยาในต่างประเทศ เช่น การเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัทยา Lotus Pharmaceutical บริษัทผลิตยาชั้นนำในไต้หวัน ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพขออินโนบิกฯ ในการสนับสนุนการตลาดและโอกาสการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน 

พร้อมก่อตั้ง บริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด (Nutra Regenerative Protein Co. Ltd : NRPT) บริษัทร่วมทุนระหว่างอินโนบิกและ บริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด (บริษัทย่อยที่ NRF ถือหุ้น 100%) ในสัดส่วนการถือหุ้นที่เท่ากันบริษัทละ 50% เมื่อปี 2564 ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตอาหารแพลนท์เบสแก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการด้านอาหาร และแบรนด์ต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนจากพืชชั้นสูง มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางโภชนาการที่ทำจากพืช ปัจจุบันมีธุรกิจภายใต้บริษัท ดังนี้ 

โรงงานแพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) เป็นหน่วยการผลิตอาหารแพลนท์เบส (Meat Analogue) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 10 ไร่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโรงงานไม่มีการผลิตเนื้อสัตว์จริงในโรงงานแห่งแรกในไทย และมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยกำลังการผลิตสูงสุดที่ 25,000 ตัน โดยได้เริ่มเปิดดำเนินการในเฟสแรกที่กำลังการผลิตที่ 3,000 ตันต่อปี  

บริษัท อินโนบิก นูทริชั่น จำกัด (INNT) จัดตั้งขึ้นในปี 2565 ดำเนินธุรกิจทั้งในส่วนของโภชนาการทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการดูแลทางด้านโภชนาการ โดยจะพัฒนาสูตรสำหรับผู้ป่วยทั่วไปและสูตรสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค และในส่วนของโภชนเภสัช (Nutraceutical) ธุรกิจเกี่ยวกับโภชนาการอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ และเพื่อป้องกันโรค 

ส่วนความคืบหน้าของการลงทุนพัฒนาธุรกิจไฮโดรเจน เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หลังจากเมื่อปี 2562 โดยปตท. ได้จัดตั้ง Hydrogen Thailand Club ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมและผลักดันในเรื่องเทคโนโลยีไฮโดรเจนให้กับประเทศไทยไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรดำเนินโครงการศึกษาและทดสอบการใช้งานไฮโดรเจนในภาคขนส่ง (Fuel Cell Electrical Vehicle (FCEV) Demonstration Project) โดยได้มีการจัดตั้งสถานีเติมไฮโดรเจนแห่งแรกในประเทศไทยที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และทดสอบการใช้งานของรถ FCEV จำนวน 2 คัน ในช่วงปี 2566-2567 ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากโครงการก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนการใช้งานไฮโดรเจนในภาคขนส่งของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ เทรนด์การเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพื่อลดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ทำให้ทั่วโลกหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน แทนพลังงานฟอสซิลที่กำลังจะหมดไปในอนาคต ซึ่งในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ “พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen)” นับว่าเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกหันมาศึกษา เนื่องจากองค์ประกอบของก๊าซไฮโดรเจนไม่มีคาร์บอนจึงไม่ปล่อยก๊าซ CO2 ฝุ่นละออง หรือมลพิษไอเสียอื่น ๆ

นอกจากนี้ ไฮโดรเจนยังมีค่าพลังงานความร้อนต่อน้ำหนักสูงกว่าน้ำมัน Gasoline ประมาณ 3 เท่า โดยเฉพาะไฮโดรเจนสีเขียวนับว่าเป็นพลังงานที่มีความสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดหากเทียบกับไฮโดรเจนสีอื่น ๆ หลายประเทศจึงให้ความสนใจในการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ทั้งนี่ จากข้อจำกัดที่สำคัญคือ ราคาไฮโดรเจนที่ยังสูงจึงทำให้การใช้ยังไม่แพร่หลาย

"ในช่วงที่ราคาไฮโดรเจนยังสูงอยู่ กลุ่มปตท. จึงใช้วิธีร่วมศึกษาพัฒนา เพราะเชื่อว่าอนาคตแนวโน้มราคาไฮโดรเจนจะมีโอกาสลดลง ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1. ต้นทุนของเทคโนโลยีของ Water Electrolysis มีราคาต่ำลง เฉลี่ยระดับ 40-50% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2015-2019) 2. ราคาต้นทุนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีแนโน้มลดลง"

สำหรับค่าเฉลี่ยราคาต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนลดลงกว่า 40-90% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2010-2020) ราคาของไฮโดรเจนสีเขียวที่ผลิตได้ในปัจจุบันทั่วโลกจะอยู่ในช่วง 1.6-10 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาไฮโดรเจนสีเขียวก็จะขึ้นอยู่กับราคาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตในประเทศนั้น ๆ และขนาดกำลังการผลิต