คลังส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย กำลังซื้ออ่อนแอ เสี่ยงรัฐจัดเก็บรายได้ต่ำเป้า

คลังส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย กำลังซื้ออ่อนแอ เสี่ยงรัฐจัดเก็บรายได้ต่ำเป้า

คลังส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ย หวั่นกำลังซื้ออ่อนแอ เสี่ยงรัฐจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า เผยยอดจัดเก็บรายได้ 4 เดือนแรกปีงบ 67 ต่ำกว่าประมาณการ 8.8 พันล้าน

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บบรายได้รัฐบาลที่ต่ำกว่าเป้าหมาย เป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในสภาวะชะลอตัว ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการซื้อที่ลดลง เนื่องจากการดำเนินนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะการตัดสินใจซื้อรถยนต์ และที่อยู่อาศัย ที่แม้จะยังมีดีมานด์อยู่แต่ประชาชนขาดความสามารถในการผ่อนชำระ เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงจึงทำให้ยอดผ่อนชำระสูงขึ้นด้วย ดังนั้นยอดโอนรถยนต์ หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงจึงทำให้การจัดเก็บภาษีซึ่งเป็นรายได้ของรัฐบาลลงตามไปด้วย  

"ทั้งนี้ เชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยลงในเวลานี้ จะช่วยเข้ามาประคับประคองเศรษฐกิจที่อยู่ในสภาวะซบเซาได้ และเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าภาครัฐจะเริ่มดำเนินมาตรการเพื่อเข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจ ขณะที่หากปล่อยให้เศรษฐกิจซบเซาลงต่อเนื่อง จะต้องใช้งบประมาณมากกว่าในปัจจุบันเพื่อดึงให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมา"

นายลวรณ กล่าวต่อว่า การลดอัตราดอกเบี้ยในวันนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจในทันที แต่อาจต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือน จึงไม่กังวลประเด็นที่ว่าจะกระทบกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศ รวมทั้งประเด็นที่ว่าจะทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทยก็มีความต่างจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐมากอยู่แล้ว 
 

เมื่อเร็วๆ นี้ รายงายจากกระทรวงการคลังได้เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 4 เดือนแรกของปี งบประมาณ 2567 (ต.ค.2566 – ม.ค.2567) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 824,115 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,836 ล้านบาท หรือ 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน 

ขณะที่หน่วยงานที่จัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการนำส่งรายได้เหลื่อมมาจากปีก่อนหน้า และกรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษรวม 36,666 ล้านบาท จากฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.7%

ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี มียอดจัดเก็บที่ 835,477 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 15,899 ล้านบาท หรือ 1.9% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.8% แบ่งออกเป็น

กรมสรรพากรจัดเก็บได้ที่ 622,691 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,780 ล้านบาท หรือลดลง 1.1% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.5% 

กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้ที่ 172,821 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 23,744 ล้านบาท หรือ 12.1% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 7.7% 

กรมศุลกากร จัดเก็บได้ที่ 39,965 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,065 ล้านบาท แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 15.2%

ขณะที่ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566 - ม.ค.2567) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังท้ังสิ้น 831,752 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณท้ังสิ้น จำนวน 1,182,526 ล้านบาท

โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 20,000 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนม.ค.2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 172,928 ล้านบาท