สนพ.รับมือพีคไฟกลางคืน จากปัจจัยชาร์จ EV เร่งคลอด 'แผนพลังงานชาติ' ก.ย.67

สนพ.รับมือพีคไฟกลางคืน จากปัจจัยชาร์จ EV เร่งคลอด 'แผนพลังงานชาติ' ก.ย.67

“สนพ.” มั่นใจ “แผนพลังงานชาติ” คลอดภายในก.ย. นี้ จ่อประชาพิจารณ์ 5 แผนร่วมรอบแรกต้น เม.ย. นี้ ย้ำ ปีนี้เป็นอีกปีที่ท้าทาย ต้องตั้งรับการใช้งานไฟฟ้าช่วงพีคในเวลากลางคืน จากปัจจัยชาร์จ EV และการติดตั้งโซลาร์ใช้ในเวลากลางวันมากขึ้น

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า จากกรณีที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 ซึ่งให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป

โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 รายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน

ดังนั้น สนพ. จะร่วมดูข้อมูลกับกรมธุรกิจพลังงาน เพราะปัจจุบันตาราราคาต้นทุนของสนพ.กับของคู่ค้าน้ำมันไม่ตรงกัน ดังนั้น ตามตามนโยบายรมต.พลังงาน พยายามดูว่าต้นทุนคู่ค้าเป็นอย่างไร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพยายามปรับโครงสร้างให้สะท้อนต้นทุนของผู้ประกอบการและความเป็นธรรมของผู้ใช้น้ำมัน

สำหรับความคืบหน้าการปรับปรุงแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2024) ปี 2567-2580 คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนก.ย. 2567 นี้ โดยต้นเดือนเม.ย. 2567 จะพยายามเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 5 แผน ประกอบด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ให้แล้วเสร็จ เพื่อผนวกไว้ในแผนพลังงานชาติ

“ตั้งใจจะเปิดประชาพิจารณ์ทั้ง 5 แผนไปพร้อมกันเลย โดยเบื้องต้นแผน PDP จะต้องมีพลังงานหมุนเวียนกว่า 50% ในปี 2080 และจะยังคงตัวเลือกของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก 70 เมกะวัตต์ ไว้ในแผน ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะช่วยศึกษาขนาดพื้นที่ร่วมกับสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย สิ่งสำคัญคือสร้างความเข้าใจและการรับรู้ที่ถูกต้องว่าพลังงานนิวเคลียร์สามารถบริหารจัดการได้ มีความปลอดภัยช่วยทั้งด้านความมั่นคง ราคา และสิ่งแวดล้อม”

สำหรับการทำแผน PDP จะต้องดู 3 ส่วนหลัก คือ 1. ความมั่นคงด้านพลังงาน 2. ราคา 3. ส่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ได้ถูกกำหนดเพดานจากเป้าลดการปลดปล่อยคาร์บอน จึงต้องดูว่าแต่ละปีจะลดเท่าไหร่ การใส่โรงไฟฟ้าเข้าไปโดยนำโซลาร์เข้าไปเยอะความมั่นคงจะหายไป จึงต้องดูว่าโรงไฟฟ้าไหนพึ่งพาได้ตอนไหน อีกส่วนคือต้นทุนเมื่อใส่ไปจะทำให้ค่าไฟอยู่ระดับไหน เป็นต้น

นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า อีกหนึ่งภารกิจที่ต้องเตรียมรับมือคือ การจัดเตรียมโรงไฟฟ้าเพื่อรับมือกับการใช้ไฟสูงสุด (พีค) ปีที่ผ่านมามีการใช้ไฟพีควันที่ 6 พ.ค. 2566 เวลา 21.41 น. ที่ 34,827 เมกะวัตต์ รีเสิร์ชมาจิ้น 30% ล่าสุดวันที่ 7 มี.ค. 2567 ใช้ไฟพีคกว่า 3.2 หมื่นเมกะวัตต์ถือว่าใกล้จะชนพีคของปีก่อนแล้ว ดังนั้น ปีนี้อาจจะเห็นสำรองไฟที่ลดลง ซึ่งอาจมาจากหลายปัจจัย อาทิ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมและประชาชนติดตั้งโซลาร์มากขึ้น 2. การชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กว่า 85% ที่ชาร์จในเวลากลางคืน 3. การใช้ไฟฟ้ากลุ่มโรงแรมที่สูงขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

“ปีนี้การใช้ไฟพีคน่าจะอยู่ระดับกว่า 3.5 หมื่นเมกะวัตต์ ปีนี้เป็นปีที่เหนื่อยแน่ ๆ คือเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะอากาศที่ร้อนขึ้น การใช้ไฟพีคซึ่งน่าจะเป็นช่วงกลางคืนจะบริหารจัดการอย่างไร”

สำหรับความผันผวนของราคาน้ำมันยังเป็นอีกเรื่องที่ท้าทาย รัฐบาลยังคงมีนโยบายตรึงราคา สนพ. จะต้องมอนิเตอร์ ดังนั้น สนพ. จะเน้นดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน และจะต้องควบคู่กับภาคธุรกิจถ้าไม่ช่วยประชาชนธุรกิจก็เดินไม่ได้ กระทรวงพลังงาน พยายามทำให้ผลกระทบเกิดกับประชาชนให้น้อยที่สุด การตรึงราคาจะต่อหรือไม่ต้องดูความเหมาะสม

สำหรับประมาณการความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2567 มีการพิจารณาสมมติฐานสำหรับการประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 2.2 – 3.2% 

ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก อีกทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว จึงคาดการณ์ว่าความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น ปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 3.1% อยู่ที่ระดับ 2,063 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทุกประเภท สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ

โดยการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 3.1% การใช้น้ำมันก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์จะเพิ่มขึ้น 2.4% การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.3% และประมาณการความต้องการไฟฟ้าปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.1% ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิปี 2567 จะสูงขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปีก่อน

"สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปีนี้คาดว่าอยู่ในช่วง 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจโลกโต 2.8% และค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.3-35.3 บาทต่อดอลลาร์เทียบกับปีก่อน ราคาน้ำมันตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล"