เปิดเหตุผล ทำไม? ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังคงผันผวน

เปิดเหตุผล ทำไม? ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังคงผันผวน

"สนพ." เผยราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเดือน ก.พ. 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เหตุจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

KEY

POINTS

  • สนพ. เผยราคาน้ำมันตลาดโลกเดือนก.พ. 2567 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนม.ค. ปัจจัยมาจากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
  • ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยกองทุน IMF คาดการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงเหลือ 4.6% ในปี 2567
  • ประธาน FED ยอมรับอาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงกว่าที่เจ้าหน้าที่ FED คาดไว้ก่อนหน้านี้ จนกว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง

"สนพ." เผยราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเดือน ก.พ. 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เหตุจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

นายวีรพัฒน์  เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกในเดือนก.พ. 2567 พบว่า เดือนก.พ. 2567 ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมัน

รวมทั้งรายงานฉบับล่าสุดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ขึ้นจากระดับ 2.7% มาอยู่ที่ระดับ 2.9% หลัง OECD คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ส่งผลให้ OECD คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567

อีกทั้ง ตลาดน้ำมันดิบ ได้รับแรงหนุนหลังจากโรงกลั่นสหรัฐฯ มีแผนเปิดดำเนินการผลิตอีกครั้ง หลังจากต้องปิดโรงกลั่นอย่างกระทันหันในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนจะชะลอตัวลงเหลือ 4.6% ในปี 2567 และลดลงอีกในระยะกลางประมาณ 3.5% ในปี 2571

นอกจากนี้ โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทบีพีในรัฐอินเดียนา ของสหรัฐฯ ประสบปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง และกำลังทำการปิดโรงกลั่นแห่งนี้ชั่วคราว ซึ่งมีกำลังการผลิต 435,000 บาร์เรลต่อวัน

นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่น่าจับตามองในด้านต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางมีความตึงตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้ขึ้นกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยพาวเวลล์ยอมรับว่า Fed อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงกว่าที่เจ้าหน้าที่ FED คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดผ่านการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25% – 5.50% จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะส่งสัญญาณที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ความท้าทายจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะบริเวณภูมิภาคตะวันออกกลาง ยังคงเป็นอีกปัจจัยที่หนุนอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับสูงที่อาจจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในอนาคตได้

นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลของประเทศไทยและต่างประเทศ ณ วันที่ 26 ก.พ. 2567 พบว่า ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินสิงคโปร์ มีระดับสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 77.45 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 38.05 บาทต่อลิตร

ส่วน ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลสิงคโปร์ มีระดับสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 72.36 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 8 ของกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 29.94 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้าง มาตรการด้านภาษี และนโยบายการชดเชยราคาน้ำมันของประเทศนั้น

ทั้งนี้ สนพ. ยังได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก (ระหว่างวันที่ 26 ก.พ.–1 มี.ค.2567) พบว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนโดย ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 81.53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ขณะที่ น้ำมันดิบเวสต์ เท็กซัส ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 78.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สำหรับสถานการณ์ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย พบว่า ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 100.54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 104.01 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.91 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  

นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.06 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 36.08 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.09 บาทต่อลิตร และต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 0.48 บาทต่อลิตร จึงส่งผลทำให้ค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันกลุ่มเบนซินและน้ำมันดีเซล อยู่ที่ระดับ 2.43 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 10 มี.ค. 2567 กองทุนฯ มีสินทรัพย์รวม 29,709 ล้านบาท หนี้สินกองทุนฯ 124,592 ล้านบาท ฐานะกองทุนฯ สุทธิติดลบ 94,883 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 48,047 ล้านบาท บัญชี LPG 46,836 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สนพ. จะติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ราคาสะท้อนกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน