6 ปี 3 รัฐบาล 'ไฮสปีดเทรน' 3 สนามบิน อนาคตโครงการอยู่ในมือ 'ซีพี'

6 ปี 3 รัฐบาล 'ไฮสปีดเทรน' 3 สนามบิน อนาคตโครงการอยู่ในมือ 'ซีพี'

ย้อนเส้นทาง “ไฮสปีดสามสนามบิน” ครบ 6 ปีจากจุดเริ่มต้นประมูล สู่ปมแก้สัญญาใหม่ – บัตรส่งเสริมการลงทุนหมดอายุ จับตา “ซีพี” เดินหน้าตอกเสาเข็ม หลัง “บีโอไอ” ยื่นคำขาด ขยายบัตรส่งเสริมครั้งสุดท้าย ดันทุกฝ่ายหาทางออก เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าตามกรอบกำหนด

Key Points

  • การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ผ่านการบริหารมาแล้ว 3 รัฐบาล ในช่วง 6 ปี ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มยื่นซองประมูล
  • กลุ่มซีพีออกมายอมรับว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีความเสี่ยงและได้รับผลตอบแทนในอัตราที่ไม่สูง
  • ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่มีความยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อผ่อนการชำระค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตลิงก์
  • การก่อสร้างยังไม่สามารถเริ่มต้นได้เพราะต้องรอการออกเอกสารเริ่มต้นงาน (NTP) ที่มีเงื่อนไขต้องมีบัตรส่งเสริมการลงทุน

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เป็นอีกมหากาพย์ของการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน จากจุดเริ่มต้นของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อต่อยอดอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่มาพัฒนามามากกว่า 30 ปี เพื่อเป็นประตูการค้าและการลงทุนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียแปซิฟิก

ความสำเร็จของการพัฒนา EEC ต้องพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมการเดินทางกับกรุงเทพฯ จึงมีแนวคิดการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อสนับสนุนการเดินทาง การขนส่งสินค้า และเป็นปัจจัยบวกต่อการท่องเที่ยวเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯ เข้าสู่เมืองใหม่ EEC ในระยะเวลาการเดินทางไม่เกิน 60 นาที

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนมีรูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ PPP Net Cost ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี แบ่งเป็น ออกแบบและก่อสร้าง 5 ปี และระยะเวลาดำเนินการ 45 ปี ซึ่งผู้ชนะประมูลได้สิทธิบริหารโครงการระยะทาง 220 กิโลเมตร รวมการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีมักกะสัน 150 ไร่ รวมทั้งพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชา 25 ไร่

สำหรับการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เริ่มต้นเปิดประมูลในปี 2561 โดยเปิดรับซองข้อเสนอเอกชนวันที่ 12 พ.ย.2561 มีเอกชนยื่นซองข้อเสนอ 2 ราย ประกอบด้วย 

1.กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) , บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

2.กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด , บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) , บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ร.ฟ.ท.ใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอเอกชนราว 1 เดือน หลังจากนั้นวันที่ 11 ธ.ค.2561 ได้เปิดซอง 3 (ข้อเสนอด้านการเงิน) ผลปรากฎว่าข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยต่ำกว่าเกณฑ์ข้อกำหนดตามเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ส่วนของเงินอุดหนุนรัฐตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดไว้ไม่เกิน 1.19 แสนล้านบาท

6 ปี 3 รัฐบาล \'ไฮสปีดเทรน\' 3 สนามบิน อนาคตโครงการอยู่ในมือ \'ซีพี\'

นอกจากนี้ ท่ามกลางการพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มซีพีขณะมีประเด็นในการพิจารณาข้อเสนอซอง 4 (ข้อเสนอพิเศษ) ที่ทำให้ต้องเจรจากับ ร.ฟ.ท.เพิ่มเติม อาทิ การขอขยายเวลาอายุสัมปทานจาก 50 ปี ออกไปอีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี 

รวมทั้งขอให้ภาครัฐสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ขอให้ภาครัฐจ่ายเงินร่วมลงทุนตั้งแต่ปีที่ 1 จากที่กำหนดจ่ายเมื่อเดินรถ ขอชำระค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ในปีที่ 2-11 ของโครงการ จากที่กำหนดให้ชำระภายใน 2 ปี เป็นต้น

ทั้งนี้ จากข้อเสนอพิเศษที่หลากหลายของกลุ่มซีพี นำมาสู่การเจรจารายละเอียดระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ และกลุ่มซีพี นานถึง 1 ปี ก่อนจะมาสิ้นสุดการเจรจานัดสุดท้ายในวันที่ 11 ก.ย.2562 ปลดล็อกประเด็นแผนส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการ โดยกำหนดว่าหลังจากลงนาม 1 ปี ร.ฟ.ท.จะต้องออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง หรือ Notice to Proceed (NTP) เพื่อให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างให้เสร็จภายใน 5 ปีตามสัญญา

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 เวลา 13.45 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยมี นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่า ร.ฟ.ท. และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เคยออกมาระบุถึงการตัดสินใจร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ว่าเป็นโครงการลงทุนที่มีความเสี่ยง และได้รับผลตอบแทนในอัตราที่ไม่สูง แต่เหตุผลสำคัญที่สนใจและเข้าไปลงทุน เพราะเป็นโครงการพัฒนาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และสังคม ที่เครือซีพียึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ

“ถึงแม้จะยาก มีความเสี่ยงสูง แต่เครือซีพีต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ และดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาช่วยกันทำให้สำเร็จ เพราะโครงการนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานแรกของอาเซียน และ EEC ซึ่งจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และส่งเสริมประเทศเพื่อนบ้านในแถบ CLMV ให้เติบโตไปพร้อมๆ กันแบบยั่งยืนได้อีกด้วย”

หลังลงนามสัญญาก็ยังตอกเสาเข็มไม่ได้ เพราะติดปัญหาเวนคืนพื้นที่ และเอกชนต้องการให้ส่งมอบพื้นที่ครบ 100% ก่อนเริ่มก่อสร้าง โดยในระยะแรกต้องส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร รวมพื้นที่ 5,521 ไร่ ซึ่งขณะนั้นติดปัญหากรณีมีผู้บุกรุกบางส่วนติดจำนองที่ดินไว้กับสถาบันการเงิน 3-4 สัญญา

ทั้งนี้ ท่ามกลางการรอส่งมอบพื้นที่โครงการก็เจอวิกฤติ "โควิด-19" ทางบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด จึงยื่นขอรับการเยียวยาจากรัฐบาล อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อขอปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน

ท้ายที่สุดจึงเจรจาแก้ไขสัญญา ในส่วนรายละเอียดการเริ่มจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ตามที่เอกชนเสนอขอผ่อนจ่ายรวม 7 งวด แบ่งเป็น งวดที่ 1-6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน 5,328 ล้านบาท โดยเมื่อลงนามสัญญาฉบับใหม่แล้วเสร็จ เอกชนจะต้องจ่ายค่าสิทธิรวม 3 งวด วงเงินรวมกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นยอดชำระย้อนหลังรวม 3 ปี ระหว่างปี 2564-2566 ส่วนที่เหลืออีก 4 งวด จะจ่ายตามกำหนดสัญญาภายในวันที่ 24 ต.ค.ของแต่ละปี

นอกจากนี้ จะแก้ไขแนบท้ายสัญญาฉบับใหม่ เพื่อเปิดช่องกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยในอนาคต สามารถเจรจาปรับแผนบริหารโครงการกับเอกชนได้ โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาใหม่ เพื่อให้การบริหารโครงการคล่องตัวมากขึ้น และเป็นมาตรฐานเดียวกับสัญญาร่วมทุนอื่นในอีอีซี

สำหรับสถานการณ์แก้ไขสัญญาอยู่ขั้นตอนพิจารณารายละเอียด โดย ร.ฟ.ท.คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่างสัญญาใหม่ และลงนามแก้ไขสัญญาใหม่ร่วมกับเอกชนคู่สัญญา บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ภายในเดือน พ.ค.2567 โดย ร.ฟ.ท.ยืนยันความพร้อมส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา แก่เอกชนครบ 100% รวมทั้งการส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการของโครงการ TOD มักกะสัน

ปมใหม่ “ซีพี” ยื้อส่งเอกสารออกบัตรส่งเสริมการลงทุน

สัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) กำหนดให้การออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง หรือ Notice to Proceed (NTP) จะต้องได้รับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้มาตรการด้านภาษีสนับสนุนให้โครงการเดินหน้าได้มีประสิทธิภาพขึ้น

ขณะที่การแก้ไขสัญญาฉบับใหม่กำลังเดินหน้าอยู่นั้น เกิดวิบากกรรมอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินส่อแท้ง จากกรณีระยะเวลาของบัตรส่งเสริมการลงทุนที่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้รับและขยายเวลาส่งเอกสารเพื่อออกบัตรบัตรส่งเสริมการลงทุนมาแล้ว 2 ครั้ง จนกระทั่งหมดอายุวันที่ 22 ม.ค.2567 

ขณะที่การต่อเวลาครั้งที่ 3 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมติไม่ต่ออายุ และเป็นเหตุให้เอกชนยื่นอุทธรณ์ขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3

เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2567 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ ออกมาระบุถึงสาเหตุการไม่ต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยระบุว่า บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมจากบีโอไอ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2563 โดยยื่นขอขยายเวลาการยื่นเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมมา 2 ครั้ง ให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องรอการแก้ไขสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

ทั้งนี้ เดือน ต.ค. 2566 บีโอไอได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ ร.ฟ.ท. ถึงความคืบหน้าของโครงการ ซึ่งเห็นตรงกันว่า “ควรเร่งรัดให้บริษัทดำเนินการตามโครงการโดยเร็ว”

ต่อมาเดือน ม.ค.2567 บริษัทได้ยื่นขอขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 บีโอไอจึงสอบถามความเห็นจาก สกพอ.และ ร.ฟ.ท. ซึ่งให้ความเห็นว่า “ความล่าช้าของโครงการจะกระทบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมั่นของประเทศ อีกทั้งการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมทุนไม่มีผลต่อการขอรับบัตรส่งเสริม จึงควรเร่งรัดให้บริษัทส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมโดยเร็ว และไม่ควรขยายเวลาออกไปอีก”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2567 เลขาธิการบีโอไอ ออกมาระบุว่า บีโอไอทบทวนคำสั่งไม่อนุมัติขยายเวลาการส่งเอกสารประกอบการออกบัตรส่งเสริม ครั้งที่ 3 ตามที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้มีหนังสืออุทธรณ์คำสั่ง

บีโอไอได้เชิญเอกชนมาหารือและให้ข้อมูลเพิ่ม รวมทั้งประชุมร่วมกับ สกพอ.และ ร.ฟ.ท. โดยบริษัทได้เสนอแผนดำเนินงานที่ชัดเจนขึ้น อีกทั้งแสดงความตั้งใจที่จะลงทุนโครงการนี้เร็วที่สุด แต่ต้องการเวลาในการหาทางออกเรื่องเงื่อนไขในสัญญาร่วมทุน ร่วมกับหน่วยงานเจ้าของโครงการก่อนที่ยื่นขอออกบัตรส่งเสริม

ทั้งนี้ บีโอไอเห็นว่า การขยายเวลาส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 จะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทั้ง สกพอ.และ ร.ฟ.ท.มีเวลาพอสมควรในการเจรจาหาข้อสรุปร่วมกัน จึงขยายเวลาออกไป 4 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 22 ม.ค.2567 เป็นวันที่ 22 พ.ค.2567

สำหรับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน กำหนดให้บีโอไอขยายเวลาการส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมได้ 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 4 เดือน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว จึงขอให้ทั้ง 3 ฝ่ายเร่งหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว เพื่อให้โครงการเดินหน้าตามกรอบเวลาที่กำหนด