วิบากกรรม 'ไฮสปีดเทรน' รัฐผ่าทางตันเจรจา 'ซีพี' แก้สัญญา

วิบากกรรม 'ไฮสปีดเทรน' รัฐผ่าทางตันเจรจา 'ซีพี' แก้สัญญา

สกพอ. ยันไม่เลิกลงทุน “ไฮสปีดสามสนามบิน” ย้ำอยู่ในอำนาจคณะกรรมการกำกับสัญญา เร่งหารือซีพี เคาะปมออกหนังสือเริ่มก่อสร้างไม่รอบัตรส่งเสริม ชี้อีกหนึ่งทางออก ยื่นขอสิทธิประโยชน์การลงทุนจากอีอีซี เว้นภาษีไม่ต่ำกว่า 8 ปี พร้อมอำนวยความสะดวกเรื่องแรงงาน

โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เป็นหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ผลักดันต่อเนื่อง เริ่มนับหนึ่งโครงการเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) เอกชนผู้ชนะการประมูล ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด

นับเป็นเวลามากกว่า 4 ปีที่โครงการร่วมทุนนี้ยังไม่สามารถตอกเสาเข็มก่อสร้างงานโยธาได้ โดยเกิดจากหลายปัจจัยแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจของโควิด-19 ทำให้เอกชนยื่นขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ในการแก้ปัญหาชำระสิทธิ “โครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์” (ARL) ในช่วงปี 2563-2564 รวมไปถึงการแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ นำมาสู่การแก้ไขรายละเอียดสัญญาร่วมลงทุน

ขณะเดียวกันการเตรียมความพร้อมส่งมอบพื้นที่เริ่มงานก่อสร้าง ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.เคลียร์พื้นที่พร้อมส่งในช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาแล้ว 100% ขณะที่พื้นที่ก่อสร้างช่วงพญาไท-บางซื่อ อยู่ระหว่างดำเนินการเวนคืนที่ดิน รื้อย้ายสาธารณูปโภค และพื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ- ดอนเมือง ยังอยู่ระหว่างเจรจาให้เอกชนก่อสร้างโครงสร้างร่วมไปพร้อมกับทางวิ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

ดังนั้นภาพรวมขณะนี้จึงเรียกว่ามีความพร้อมเริ่มงานก่อสร้าง หากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตามสัญญากำหนด แต่สถานการณ์ล่าสุดกลับบีโอไอปฏิเสธขยายเวลาการยื่นเอกสารขอออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หลังจากหมดอายุเมื่อในวันที่ 22 ม.ค.2567

จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวว่า บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด อาจจะไม่เดินหน้าโครงการต่อหลังจากไม่ได้รับการต่อบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยระบุว่า เรื่องนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะมีการบอกเลิกสัญญาหรือบอกได้ว่าเอกชนที่ได้รับสัมปทานจะไม่ได้เดินหน้าโครงการต่อ

ขณะเดียวกัน สกพอ.ไม่สามารถที่จะเป็นผู้ที่บอกเลิกสัญญากับเอกชนได้ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญา ซึ่งอยู่ภายใต้ ร.ฟ.ท. พิจารณาว่าจะมีมติให้ เอเชีย เอราวัน ดำเนินการอย่างไรในฐานะคู่สัญญา หลังจากนั้นหากคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาพิจารณาแล้วเสร็จ จึงจะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ตัดสินใจขั้นสุดท้าย

“สกพอ.ในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ผลักดันการพัฒนาโครงการนี้ มีจุดยืนอยากให้กลุ่มซีพี ซึ่งเป็นเอกชนที่ชนะการประกวดราคาเดินหน้าลงทุนโครงการ ตอนนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับสัญญา และการรถไฟฯ ว่าจะหารือกับทางเอกชนอย่างไร ในเมื่อขณะนี้เอกชนไม่ได้รับบัตรส่งเสริม”

วิบากกรรม \'ไฮสปีดเทรน\' รัฐผ่าทางตันเจรจา \'ซีพี\' แก้สัญญา

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับสัญญาพิจารณาว่าจะเดินหน้าออกหนังสือเข้าพื้นที่เพื่อเริ่มงานก่อสร้าง โดยไม่ต้องรอให้เอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนก็ดำเนินการได้ แต่ต้องแก้ไขรายละเอียดสัญญาเพื่อกำหนดให้ ร.ฟ.ท.ออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขรับบัตรส่งเสริมการลงทุน เพราะเงื่อนไขสัญญาร่วมทุนกำหนดไว้ว่าจะออกหนังสือ NTP ได้ต่อเมื่อเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน

รวมทั้งปัจจุบันยังไม่ถือว่าขั้นตอนการขอหนังสือส่งเสริมการลงทุนเป็นที่สิ้นสุด เพราะเอกชนยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อบีโอไอในการขยายระยะเวลาได้ ซึ่ง สกพอ.บอกให้ภาคเอกชนไปยื่นอุทธรณ์สิทธิ์จากบีโอไอ แต่หากไม่ได้รับการต่ออายุก็มีทางเลือก คือ สามารถมาขอการส่งเสริมการลงทุนจากอีอีซีได้เช่นกัน โดยอีอีซีสามารถให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนในโครงการนี้ได้เช่นกัน

โดยสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่ให้ไม่แตกต่างกันมาก คือ ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่น้อยกว่า 8 ปี นอกจากนั้น สกพอ.อำนวยความสะดวกในเรื่องใบอนุญาตการทำงานของชาวต่างชาติ การขอวีซ่า หรือการขออนุญาตเกี่ยวกับการก่อสร้างในโครงการได้ด้วย

รวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน และถือว่ามีความสำคัญต่อโครงการอีอีซี อยากให้มีการเริ่มก่อสร้างโครงการได้ เพราะว่าหากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จการเดินทางไปยังพื้นที่อีอีซีจากกรุงเทพฯ จะใช้เวลาเพียงแค่ 1ชั่วโมงเท่านั้น ช่วยให้การเดินทางและการไปทำงาน การทำธุรกิจเกิดขึ้นด้วยความสะดวกและรวดเร็ว

“เชื่อว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการกำกับสัญญา คงเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เพราะเมื่อบีโอไอไม่ต่อการส่งเสริมการลงทุนให้กับเอกชนแล้ว คณะกรรมการกำกับสัญญาก็ต้องเป็นคนที่รับลูกต่อว่าจะเดินหน้าอย่างไร หากจะให้ออก NTP โดยไม่ต้องมีบัตรส่งเสริมจากบีโอไอได้ ก็ต้องส่งต่อไปยังคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ และหารือร่วมกับเอกชน หลังจากนั้นจึงจะได้คำตอบ ว่าจะก่อสร้างโดยไม่รอบัตรส่งเสริมหรือไม่”

เลขาธิการอีอีซี กล่าวย้ำด้วยว่า การพิจารณาขั้นตอนต่างๆ มีกระบวนการกำหนดไว้แล้ว หลังจากนี้อยู่ในขั้นตอนของการเดินหน้ากระบวนการพิจารณาในแง่ของกฎหมายที่สามารถทำได้ รวมทั้งผู้ร่วมทุนต้องหารือร่วมกันทั้งสองฝ่าย ไม่สามารถไปบอกเลิกสัญญาได้ทันที ไม่อย่างนั้นก็จะมีการฟ้องร้องตามมา ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอนที่มีอยู่ และยืนยันว่า สกพอ.ไม่มีอำนาจในการไปบอกเลิกสัญญาแก่เอกชน