'คมนาคม' ตั้งธงลดต้นทุนโลจิสติกส์ เป้า 9.5% ต่อจีดีพีภายใน 5 ปี

'คมนาคม' ตั้งธงลดต้นทุนโลจิสติกส์ เป้า 9.5% ต่อจีดีพีภายใน 5 ปี

“สุริยะ” ดันโครงการลงทุนระบบราง เป้าหมายลดต้นทุนโลจิสติกส์เหลือ 9.5% ของจีดีพีภายใน 5 ปี พร้อมสั่งทุกหน่วยงานระดมสมอง กำหนดทิศทางขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมปี 2567 - 2568 ผลักดันนโยบาย Quick Win เดินหน้า 72 โครงการสำคัญ เงินลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการประชุม สัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ปี 2567 และปี 2568 พร้อมระบุว่า ระหว่างวันที่ 24 - 29 ม.ค.2567 กระทรวงฯ ได้จัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หรือ Workshop เรื่อง การขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน ปี 2567 และปี 2568

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมนำนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้มอบไว้สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 - 2568 ไปแปลงเป็นแผนปฏิบัติการหรือ Action Plan

สำหรับการจัดทำ Action Plan ทุกหน่วยงานจะได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นตลอดช่วงเวลาของการ Workshop ครั้งนี้ ตนได้มอบนโยบายให้เน้นย้ำการผลักดันนโยบาย Quick Win 2567 และ 2568 โครงการสำคัญ 72 โครงการ วงเงินลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาทให้เกิดขึ้นภายในรัฐบาลนี้ โดยโครงการดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

แจงโปรเจคต์เร่งด่วนมูลค่าสูง

1. โครงการที่มีความสำคัญเชิงพื้นที่จำนวน 13 โครงการ 2. ด้านคมนาคมขนส่งทางบกจำนวน 29 โครงการ 3. ด้านคมนาคมขนส่งทางราง จำนวน 22 โครงการ 4. ด้านคมนาคมขนส่งทางอากาศ จำนวน 4 โครงการ และ 5. ด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำจำนวน 4 โครงการ

นอกจากนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณานโยบายของนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมโดยเฉพาะเรื่องต่างๆ ประกอบด้วย 1. นโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค 2. บูรณาการแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับเส้นทางในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับจีนตอนใต้ (รถไฟไทย - สปป.ลาว - จีน) โครงการ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ และ 3. ให้ความสำคัญกับโครงการแลนด์บริดจ์ เปิดประตูการค้าสองฝั่งสมุทรทางภาคใต้

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า เป้าหมายสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านคมนาคม ต้องนำไปสู่เป้าหมายลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้ได้มากที่สุด เทียบเท่ากับประเทศอื่นๆ ในระดับสากล ซึ่งมีสัดส่วนต้นทุนด้านโลจิสติกส์คิดเป็น 9.5 – 9.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ไทยปัจจุบันยังมีต้นทุนโลจิสติกส์คิดเป็น 11 – 12% ของจีดีพี เพราะที่ผ่านมาไทยใช้การขนส่งและการคมนาคมทางถนนเป็นหลัก ยังไม่นิยมใช้ระบบรางที่ทำให้สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้

\'คมนาคม\' ตั้งธงลดต้นทุนโลจิสติกส์ เป้า 9.5% ต่อจีดีพีภายใน 5 ปี

ลดต้นทุนโลจิสติกต์ประเทศ

“โจทย์สำคัญที่เราตั้งเป้าไว้ภายใน 5 – 6 ปีนี้ จะต้องผลักดันการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้เทียบเท่ากับสากล โดยจะต้องอยู่ในระดับ 9.5 – 9.8% ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการเร่งลงทุนระบบรางให้มากขึ้น โดยแผนลงทุนในปี 2567 – 2568 จะยังมีโครงการระบบรางรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 รวมไปถึงการผลักดันรถไฟฟ้าให้ถึงเป้าหมาย 554 กิโลเมตร”

ส่วนโครงการลงทุนทางอากาศ ตนได้มอบนโยบายให้เร่งพัฒนาขีดความสามารถและบริการของสนามบิน สู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่โครงการลงทุนทางน้ำ ต้องมองโอกาสการขยายท่าเรือเพื่อรองรับกลุ่มเรือสำราญขนาดใหญ่ ที่พบว่ามีแนวโน้มการขยายตัวมากขึ้น ส่วนการลงทุนทางบก ยังคงเร่งพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ให้เปิดบริการตามแผน

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า โครงการลงทุนด้านคมนาคม แม้ว่างบประมาณปี 2567 จะดีเลย์ออกไป แต่กระทรวงฯ ได้กำชับทุกหน่วยงานให้เตรียมพร้อมเมื่องบประมาณได้รับจัดสรรแล้ว จะต้องเดินหน้าทันที เพราะปัจจุบันเชื่อว่าเอกชนก็พร้อมประมูลงาน

เปิดลิสต์โครงการเตรียมเปิดประมูล

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า โครงการเตรียมเปิดประมูล และจะเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2567 จากแผนดำเนินงานในเบื้องต้นมี อาทิ 1.รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น - หนองคาย วงเงิน 29,748 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร 2.สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี งานโยธา ฝั่งตะวันตก และงานระบบวงเงินลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท 3.ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) วงเงินลงทุน 4,508 ล้านบาท 4.สายสีแดงช่วงรังสิต - ม.ธรรมศาสตร์ วงเงิน 6,468 ล้านบาท

5.สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา วงเงิน 10,670 ล้านบาท 6.รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี วงเงิน 37,527 ล้านบาท 7.สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช วงเงิน 4,694 ล้านบาท 8.ทางพิเศษ กะทู้ - ป่าตอง วงเงิน 14,670 ล้านบาท และ 9.ทางพิเศษสายจตุโชติ - ถนนวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 3 วงเงิน 24,060 ล้านบาท เป็นต้น

ข้อมูลจากรายงานโลจิสติกส์ของประเทศไทยประจำปี 2565 Thailand’s Logistics Report 2022 (เผยแพร่เมื่อก.ย.2566) จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ระบุว่า ในปี 2565 ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยคาดว่ามีมูลค่ารวม 2,382.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 สัดส่วน 5.8%  หรือคิดเป็นสัดส่วน 13.7% ต่อ GDP  ขณะที่ คาดการณ์ปี 2566 สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยจะอยู่ที่ 13.3 - 13.8% ต่อ GDP