“เศรษฐกิจไทย” ‘วิกฤต’ หรือ ‘ไม่วิกฤต’?

“เศรษฐกิจไทย” ‘วิกฤต’ หรือ ‘ไม่วิกฤต’?

ระยะนี้มักได้ยินคำว่า วิกฤต ซึ่งเป็นเรื่องที่มีคนสนใจถกกันเป็นอย่างมาก ในวงสนทนาของผู้เขียนเอง ก็มีการสอบถามความเห็นกันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญวิกฤตหรือไม่

ผู้เขียนมีคำตอบในใจค่อนข้างชัดเจนในมุมเศรษฐศาสตร์มหภาคสำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ แต่จะไม่ขอถกแถลงในที่นี้ โดยจะขอเพียงอ้างอิงถึงงานวิชาการของธนาคารโลก ที่ระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา นับได้ 5 ครั้ง คือในปี ค.ศ. 1975 1982 1991 2009 และ 2020 โดยครั้งสุดท้ายคือวิกฤตที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19  ถึงแม้ว่าการฟื้นตัวจากวิกฤตแต่ละครั้ง แต่ละประเทศจะใช้เวลาไม่เท่ากัน แต่ในภาพรวมก็นับได้ว่าโลกกำลังฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยจะเดินเข้าไปสู่สถานการณ์วิกฤตในอนาคตไม่ไกลอย่างแน่นอนหากเรายังคงไม่ใส่ใจกับการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน และเร่งปลดชนวนระเบิดเวลาลูกหนึ่งที่รออยู่ข้างหน้า คือปัญหาเรื่อง “คน” ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหานี้ทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ 

ในด้านปริมาณ ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงอายุรวดเร็วที่สุดประเทศหนึ่ง ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นสังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2005 เนื่องจากมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนประชากร โดยปัจจุบันไทยมีผู้สูงอายุกว่า 12 ล้านคนแล้ว มีการคาดการณ์ว่าในทศวรรษหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 28 ของจำนวนประชากร และจัดว่าเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (super-aged society) ด้วยอัตราภาวะเจริญพันธุ์รวมที่ต่ำลงมาโดยตลอด ประกอบกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ยังน้อยกว่าจำนวนคนตายในแต่ละปี ซึ่งหมายความว่าประชากรไทยจะมีจำนวนน้อยลงไปเรื่อย ๆ การศึกษาของธนาคารโลกคาดการณ์ว่าประชากรในวัยแรงงานของไทย จะลดลงถึงร้อยละ 30 ในช่วงระหว่างปี 2020 ถึง 2060 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รองจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเท่านั้น ถึงแม้ผู้สูงอายุของไทยจะยังคงทำงานต่อเนื่อง โดยประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ยังคงทำงานอยู่ คำถามคือ ในสถานการณ์เช่นนี้ หากแรงงานส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคเกษตรดั้งเดิมและภาคบริการมูลค่าต่ำ เศรษฐกิจของประเทศจะวิกฤตหรือไม่ในอนาคต

ในด้านคุณภาพนั้น มีปัญหาซ้อนกันอยู่หลายประเด็น ประชากรวัยแรงงานมีจำนวนน้อยลง อัตราการว่างงานต่ำมาก ต้นทุนแรงงานนับว่าสูงเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศที่เป็นคู่แข่งในภูมิภาค ประเด็นเหล่านี้บอกทิศทางว่าประเทศไทยจะต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จริงจัง ต้องมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ทำอย่างไรจะเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรที่นับวันจะมีแต่แรงงานสูงอายุมากขึ้น  ทำอย่างไรจะสร้างภาคบริการมูลค่าสูง เมื่อแรงงานราคาถูกในประเทศไม่เพียงพอสำหรับภาคบริการแบบเดิม ๆ แล้ว  ทำอย่างไรจะป้อนแรงงานทักษะสูงให้อุตสาหกรรม S curve ใหม่ๆ ของประเทศให้เติบโตต่อยอดไปได้ 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ซึ่งไม่ได้หมายความถึงแต่เพียงภาคการศึกษาเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการพัฒนาทักษะและค่านิยมในทุกช่วงวัยด้วย ในทุกๆ ปีที่มีการรายงานผลการประเมิน PISA สังคมก็มักจะตื่นตัวและวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาการศึกษาของไทย แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าสังคมได้มองลึกไปกว่านั้นหรือไม่  คะแนน PISA สะท้อนปัญหาที่น่าเป็นห่วงมาก ว่าเด็กไทยยังไม่พร้อมที่จะเป็นทรัพยากรมนุษย์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผลการประเมิน PISA 2022 พบว่าร้อยละ 65 ของนักเรียนมีความสามารถในการอ่านต่ำกว่าระดับพื้นฐานที่จะสามารถใช้ทักษะและความรู้ในชีวิตจริงได้ ทั้งที่นักเรียนเหล่านี้เข้าเรียนในโรงเรียนมาแล้ว 9 ปี การอ่านเข้าใจเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนรู้ แล้วเด็กไทยจะสามารถรับความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้มีประสิทธิภาพเพียงใด และจะสามารถเป็นแรงงานคุณภาพให้กับประเทศได้มากน้อยเพียงใด  

รายงาน Future of Jobs 2023 ของ World Economic Forum (WEF) ได้แสดงให้เห็นถึงภูมิทัศน์ของการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากผู้ประกอบการต่างรับเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เคมี และวัสดุขั้นสูง มีแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีโดยรวมเพิ่มขึ้นมากที่สุด  ประเด็นสำคัญจากรายงานของ WEF คือตำแหน่งงานต่างๆ ในโลกจะไม่ได้ลดลง แต่จะมีงานใหม่ๆ เกิดขึ้น ลักษณะของงาน ความรู้ที่จำเป็นสำหรับงาน และทักษะที่ผู้ทำงานต้องมี จะเปลี่ยนแปลงไป โดยทักษะ 5 ลำดับแรกที่ผู้ทำงานควรต้องมี คือ การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว การมีแรงจูงใจและรู้จักตนเอง การสนใจใฝ่รู้และเรียนรู้อยู่ตลอด อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ก่อนหน้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ครอบคลุมมากกว่าเรื่องของภาคการศึกษาในระบบการศึกษามากนัก 

ปัจจัยต่างๆ ในโลกและในประเทศของเราเอง เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก ในขณะที่เราทราบกันดีว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นจะใช้เวลานานกว่าจะเก็บเกี่ยวผลได้ ผู้เขียนจึงเป็นห่วงว่าแนวโน้มประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่วิกฤตอย่างแน่นอนหากยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังและเร่งด่วน แต่แนวทางแก้ไขคงไม่ใช่ นโยบายที่กำลังถกเถียงกันอยู่ว่าวิกฤต หรือไม่วิกฤต อย่างแน่นอน