จับตา 'แผนพลังงานชาติ' รับมือปัจจัยเสี่ยงผลกระทบ 'ภูมิรัฐศาสตร์'

จับตา 'แผนพลังงานชาติ' รับมือปัจจัยเสี่ยงผลกระทบ 'ภูมิรัฐศาสตร์'

"พลังงาน" ระบุ ร่างแผนพลังงานชาติ ใกล้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว คาดประชาพิจารณ์ภายในไตรมาส 1/2567 "สนพ." ชี้จะพยายามประกาศใช้ให้ทันในปีนี้

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา สนพ. ได้เร่งจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน พ.ศ. 2566–2580 (ร่างแผนพลังงานชาติ) หรือ National Energy Plan (NEP) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ในภาคพลังงาน ภายในปี 2050 

สำหรับร่างแผน NEP ประกอบด้วยแผนย่อย 5 แผน คือ

  • แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP)
  • แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)
  • แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP)
  • แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)
  • แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) 

ทั้งนี้ ในปี 2567 จะมีการทบทวนและปรับปรุงแผน ร่างแผนพลังงานชาติเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน โดยแผนงานด้านพลังงานที่รวมทั้ง 5 แผน จะถูกนำมาประกอบเป็นแผนพลังงานชาติ ซึ่งคาดว่าภายในเดือน มี.ค.2567 จะนำเสนอณะทำงาน

โดยมี สนพ.เป็นประธานนำเสนอนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบก่อนนำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายในไตรมาส 1/2567

"เมื่อผ่านขั้นตอนการประชาพิจารณ์ปรับปรุงเรียบร้อยจะเสนอร่างแผนพลังงานชาติ ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาและประกาศใช้ต่อไป" 

นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ยอมรับว่า จะพยายามให้แล้วเสร็จและประกาศใช้ให้ทันในปี 2567 และตอนนี้ทั้ง 5 แผนอยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยเฉพาะแผน PDP เพราะที่ผ่านมาทั่วโลกเกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้สมมติฐานมีการเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเลข เพราะต้องคำนึงใน 3 เรื่องหลักคือ

1. ด้านความมั่นคง

2. ด้านต้นทุน เพื่อให้ราคาค่าไฟที่เหมาะสม

3. ด้านผลกระทบต่อสื่งแวดล้อมที่ต้องเป็นไปตามแผน 

 "ส่วนแผน Gas Plan ถือเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากแผน PDP ในเรื่องของการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นส่วนสำคัญหลักในการผลิตไฟฟ้าที่มีการใช้ในปริมาณที่สูง เพราะจากการที่จะต้องหาก๊าซฯ ให้เพียงพอ แล้วยังต้องมองว่าอนาคตเมื่อใช้มากขึ้น รวมถึงสัดส่วนการใช้ในประเทศและการนำเข้า LNG ด้วย" 

นอกจากนี้ แผนงานในปี 2567 ของ สนพ. ยังมีเรื่อง การนำเสนอแนวทางการเปิดเสรีในกิจการไฟฟ้า ซึ่งจะมีโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในระยะทดลอง-นำร่อง พ.ศ. 2567-2568 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดกลไกการแข่งขันที่สะท้อนต้นทุนทางด้านราคาแทนการอุดหนุนทางด้านราคา

และเปิดโอกาสให้มีธุรกิจใหม่ทางด้านพลังงานเกิดขึ้น และภาครัฐสามารถใช้เป็นกลไกให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Carbon Emission ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อีกด้วย