คลังเร่งดึงธุรกิจร่วมค้าออนไลน์เข้าระบบ คาดรีดภาษีเพิ่มหมื่นล้าน

คลังเร่งดึงธุรกิจร่วมค้าออนไลน์เข้าระบบ คาดรีดภาษีเพิ่มหมื่นล้าน

คลังประเมินรายได้เพิ่มหมื่นล้าน หลังออกประกาศดึงฐานข้อมูลธุรกิจร่วมค้าออนไลน์เข้าระบบ แนะผู้ค้าเข้าระบบแวต หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ดีกว่าถูกตรวจสอบย้อนหลัง ระบุ เทคโนโลยีทำให้ข้อมูลรายได้ธุรกิจถูกเชื่อมโยง นำไปสู่การเก็บภาษีได้ง่ายขึ้น

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังประเมินว่า จากการที่กรมสรรพากรได้ออกประกาศให้กรมสรรพากรออกประกาศสั่งให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่ให้บริการขายหรือจัดส่งสินค้า อาทิ Shopee, Lazada และ Grab ส่งฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่ร่วมให้บริการในระบบทั้งหมดมาให้แก่กรมสรรพากร เริ่ม 1 ม.ค.2567 นี้ จะทำให้ผู้มีรายได้จากธุรกิจที่ร่วมค้าขายกับธุรกิจออนไลน์เข้ามาสู่ระบบภาษีมากขึ้น และส่งผลให้กรมฯสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1 หมื่นล้านบาท

การออกประกาศดังกล่าว จะทำให้ผู้เสียภาษีเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น และส่งผลให้ร้านค้าขายของออนไลน์เข้ามาอยู่ในระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งเดิมมีรายได้ 1,000 ล้านบาท แพลตฟอร์มต้องมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แต่ขณะนี้กรมสรรพากรลุกคืบไปอีก ให้แพลตฟอร์มนำส่งข้อมูลด้วยว่า รายได้ 1,000 ล้านบาท มาจากใครบ้าง ฉะนั้น กรมจะเห็นข้อมูลร้านค้า และสามารดึงร้านค้าเข้าระบบภาษีได้ คาดว่าการออกประกาศดังกล่าวจะสามารถจัดเก็บภาษีได้เกิน 1 หมื่นล้านบาท”

ส่วนกรณีจะมีปัญหาเรื่องกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ เขากล่าวว่า กรณีการเรียกฐานข้อมูลดังกล่าว เป็นอำนาจของกรมฯ ที่ได้รับการยกเว้น เพราะเป็นเรื่องของการจัดเก็บภาษี เช่นเดียวกันกับกรณีแลกข้อมูลการตรวจคนเข้าเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้ง การแลกข้อมูลรายได้ของผู้เสียภาษีทั้งโลก แต่หากเป็นกรณีอื่นจะไม่สามารถดำเนินการได้

ปลัดกระทรวงการคลังแนะนำว่า ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบออนไลน์ ควรเข้ามาอยู่ในระบบภาษีดีที่สุด โดยระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เพราะไม่ได้จัดเก็บภาษีที่ 7% จากรายได้ทั้งหมด แต่เป็นการเก็บภาษี 7% บนฐานกำไร ฉะนั้น จึงขอให้ผู้ค้าออนไลน์มีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่า การเสียภาษีให้ถูกต้อง จะดีกว่าการต้องมาเสียภาษีในภายหลัง เพราะด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้โลกใบนี้แคบลงเรื่อยๆ ทุกอย่างเชื่อมโยงด้วยข้อมูล เมื่อก่อนอาจจะเป็นการตามไม่ได้ ไล่ไม่ทัน แต่จะช้าจะเร็วก็เจอแน่นอน

ยังมีคนเข้าใจผิดเยอะ เช่น ขายสินค้า 100 บาท ต้องเสียภาษี 7 บาทเลยหรือไม่ ซึ่งบางทีกำไรอาจจะแค่ 5 บาท ซึ่งถ้าเสียภาษี 7% ร้านค้าจะอยู่ได้อย่างไร ความจริงแล้ว ของขายประมาณ 100 บาท มีต้นทุนมา 90 บาท และต้องเสียภาษี 7% ของกำไร 10 บาท ก็เท่ากับ 70 สตางค์เท่านั้น”

อย่างไรก็ดี มองว่า แนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ขายของออนไลน์ หรือสตาร์ทอัพในปัจจุบันนี้ ทุกคนก็อยากเสียภาษีให้ถูกต้อง ฉะนั้น กรมสรรพากรก็ต้องมีหน้าที่ทำระบบภาษีให้ง่าย มีระบบบริการที่ดี โดยทิศทางในการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ก็จะเดินไปพร้อมกับระบบ e-Tax Service Provide ขณะเดียวกัน ในปี 2567 นี้ เรายังมี KPI วัดฐานภาษีของกรมสรรพากร เพื่อกระตุ้นให้ผู้เสียภาษีเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น โดยผู้ที่เข้ามาอยู่ในระบบภาษีต้องมีคุณภาพ เอาเข้ามาได้ ก็ต้องมีเม็ดเงินภาษีด้วย

ด้านนายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า กรณีกรมฯออกประกาศให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่ให้บริการขายหรือจัดส่งสินค้า เพราะที่ผ่านมา กรมฯไม่ได้มีอำนาจขอให้ผู้ประกอบการดังกล่าวส่งฐานข้อมูลลูกค้ามาให้แก่กรมสรรพากร ดังนั้น กรมฯจึงต้องออกประกาศดังกล่าว เพื่อให้ผู้ให้บริการเหล่านี้ นำส่งข้อมูลมาให้แก่กรมฯได้

ที่ผ่านมา เราจะรู้ข้อมูลของผู้ให้บริการ เช่น Grab แต่เราไม่รู้ว่า ลูกค้าที่ใช้บริการของGrab นั้น เป็นใคร และมียอดขายหรือรายได้อย่างไร เราจึงออกประกาศให้ผู้ให้บริการเหล่านั้น ส่งข้อมูลฐานลูกค้ามาให้ โดยให้แยกเป็นบัญชีพิเศษ”

เขาอธิบายด้วยว่า ผู้ให้บริการแพลทฟอร์มดังกล่าว จะได้รับค่าคอมมิชชันหรือค่าบริการจากร้านค้าที่ว่าจ้างในการนำส่งสินค้าหรือบริการ โดยที่ผู้ว่าจ้างจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ดังนั้น เมื่อผู้ให้บริการแพลทฟอร์มมาชำระภาษีประจำปีและได้ขอคืนภาษี ทางกรมฯจะต้องให้ผู้ให้บริการแพลทฟอร์มดังกล่าวแสดงหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าวไว้ ซึ่งกรมฯจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาเอกสารหลักฐาน เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว กรมฯจึงต้องขอให้ผู้ให้บริการแพลทฟอร์มดังกล่าว นำส่งบัญชีพิเศษที่ให้บริการนำส่งสินค้าและบริการแก่ร้านค้าต่างๆ เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบการคืนภาษีรวดเร็วยิ่งขึ้น

“เนื่องจาก การเติบโตของธุรกิจออนไลน์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่แพลตฟอร์มในประเทศในการพิสูจน์การมีเงินได้  กรมสรรพากรจึงได้พัฒนาระบบงานเพื่อรับข้อมูลที่มีปริมาณมากในรูปแบบอิเล็ทรอนิกส์

ทั้งนี้ กรมฯได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2566 กำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม (ผู้ให้บริการผ่านสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมระหว่างผู้ประกอบการ กับผู้บริโภค ไม่รวมถึงกิจการภายใต้การกำกับดูแลของ BOT หรือ กลต) ที่จดทะเบียนในไทย และมีรายได้ในรอบบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท ยื่นบัญชีพิเศษ ที่แสดงข้อมูลรายรับของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ได้รับจากผู้ประกอบการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกที่กรมสร้างขึ้นเพื่อรองรับไว้โดยเฉพาะโดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป

โดยให้นำส่งภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นรอบบัญชี ซึ่งเป็นกำหนดเวลาเช่นเดียวกับการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี (ภงด. 50) เช่น หากมีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 ถึง 31 ธ.ค. 2567 ก็จะมีกำหนดที่จะต้องนำส่งข้อมูลประมาณเดือน พ.ค. 2568 เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการนำส่งข้อมูล รองรับทั้งแบบผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มส่งเองและใช้ service provider ซึ่งจะอำนวยความสะดวก และลดการใช้กระดาษได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการวางรากฐานของ Digital Tax Ecosystem เพื่อการจัดเก็บภาษีที่ทั่วถึงและเป็นธรรม และยกระดับการให้บริการของกรมสรรพากรที่เน้นการบริการที่ยึดถือผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง Taxpayer Centric อย่างแท้จริง

ปัจจุบันอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทยมีหลายประเภท เช่น e-Commerce, e-Service และ e-Marketplace ตัวอย่างเช่น Shopee, Lazada, LINE MAN และGrab

ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลวางเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ที่ 2.78 ล้านล้านบาท ถือเป็นความท้าทายกระทรวงการคลังต่อการจัดเก็บรายได้ดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะการจัดเก็บรายได้ในปีนี้ จะเป็นผลประกอบการจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจในปีดังกล่าว ดังนั้น จึงถือเป็นความท้าทาย และเป็นการวัดฝีมือของกรมจัดเก็บภาษีหลัก ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรสามิต และกรมศุลกากร  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรเป็นกรมภาษีอันดับหนึ่งที่จัดเก็บรายได้ได้สูงที่สุด โดยสามารถจัดเก็บรายได้กว่า 2.21 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายกว่า 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 395,744 ล้านบาท, นิติบุคคล 767,320 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) 913,581 ล้านบาท โดยมีผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาอยู่ในระบบภาษี 11 ล้านราย ส่วนนิติบุคคลประมาณ 6-7 แสนราย และผู้ประกอบการที่จดทะเบียน Vat จำนวน 8 แสนราย