ย้อนรอย 33 ปี คดี ‘โฮปเวลล์’ ลุ้นศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด จ่ายค่าโง่หรือไม่ ?

ย้อนรอย 33 ปี คดี ‘โฮปเวลล์’ ลุ้นศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด จ่ายค่าโง่หรือไม่ ?

จ่อปิดตำนาน 33 ปีคดีมหากาพย์ค่าโง่ “โฮปเวลล์” หลังศาลปกครองกลางตัดสินปมคมนาคม และการรถไฟฯ ชี้ช่องคดีขาดอายุความ ลุ้นสู้ต่อในศาลปกครองสูงสุด

เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2566 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาคดีระหว่างกระทรวงคมนาคมกับพวกรวม 2 คน (ผู้ร้อง) กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้คัดค้าน) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง (คำขอพิจารณาคดีใหม่)

ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่าการที่ผู้คัดค้าน (โฮปเวลล์) ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 จึงมีสิทธิที่จะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 ม.ค.2546 แต่ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 จึงพ้นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไป 1 ปี 9 เดือนเศษ สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงขาดอายุความตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ กับให้คำสั่งศาลที่ให้งดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไว้ในระหว่างพิจารณาคดีใหม่มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

อย่างไรก็ดี ข้อพิพาทในคดีนี้ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด เนื่องจากตามกระบวนการทางกฎหมาย บริษัทโฮปเวลล์ยังสามารถใช้สิทธิในการสู้คดี ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ โดยหากท้ายที่สุดศาลปกครองพิจารณายืนตามคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ก็จะมีผลทำให้คดีเรียกร้องค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาโฮปเวลล์นั้นไม่เป็นผล เพราะถือว่าขาดอายุความ

ทั้งนี้ จะส่งผลให้กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.ไม่ต้องชดเชยค่าเสียหายจากกรณียกเลิกสัญญาก่อสร้างโครงการวงเงิน 27,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินต้นตามที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดไว้ที่ 11,888 ล้านบาท รวมอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีหรือเกิดขึ้นเฉลี่ยวันละ 2.4 ล้านบาท นับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการตัดสินในปี 2551

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ศาลปกครองกลางได้พิพากษาในคดีที่มีคำขอพิจารณาคดีใหม่ คดีที่กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการกรณีข้อพิพาทในคดีโฮปเวลล์ ในประเด็นคดีขาดอายุความ  แต่เบื้องต้นตามขั้นตอนทราบว่าทางโฮปเวลล์ยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีนี้ไปยังศาลปกครองสูงสุดได้ ดังนั้นต้องติดตามเรื่องนี้ด้วย

สำหรับคดีที่ถูกเรียกว่า "ค่าโง่โฮปเวลล์" หากไล่เรียงไทม์ไลน์มีดังนี้

19 ก.ย.2532     ครม.เห็นชอบโครงการ "โฮปเวลล์"

9 พ.ย.2533       คมนาคม-รฟท.ลงนามในสัญญาสัมปทานว่าจ้างโฮปเวลล์

2534-2535       รัฐบาล "อานันท์ ปันยารชุน" (นุกูล ประจวบเหมาะ รมว.คมนาคม) สั่งตรวจสอบสัญญาและล้มเลิกโครงการ

2536-2538       รัฐบาล "ชวน หลีกภัย" (1) (พ.อ.วินัย สมพงษ์ รมว.คมนาคม) ผลักดันโครงการต่อ

ส.ค.2540          "โฮปเวลล์" หยุดการก่อสร้าง

23 ธ.ค.2540     รัฐบาล "พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ" มีมติ ครม.ให้บอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์

20 ม.ค.2541     "คมนาคม" ลงนามบอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการ (รัฐบาล ชวน หลีกภัย (2) / สุเทพ เทือกสุบรรณ รมว.คมนาคม)

30 ก.ย.2551     อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ คมนาคม-รฟท. จ่ายค่าเสียหายแก่ "โฮปเวลล์" 11,888 ล้านบาท

13 มี.ค.2557     ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการ (คมนาคม-รฟท. ไม่ต้องจ่ายค่าโง่)

22 เม.ย.2562    ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาคมนาคม-รฟท.ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีรวม 25,711 ล้านบาท ภายใน180 วัน

22 พ.ย.2562     รฟท.ยื่น 4 หน่วยงานเสนอ ครม.งดจ่ายค่าโง่ - สู้คดีต่อ

22 ก.ค.2563     ศาลปกครองสูงสุดไม่รับพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ ตามคำร้องของคมนาคม และ รฟท.

17 พ.ย.2563     ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความปมมติที่ประชมใหญ่ตลาการศาลปกครองสูงสุด นับอายุความวันตั้งศาลปกครองขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

17 มี.ค.2564     ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ชี้มติศาลปกครองสูงสุดเรื่องนับอายุความขัดรัฐธรรมนูญ

4 มี.ค.2565       ศาลปกครองสูงสุดสั่งรับคดี "โฮปเวลล์" ไว้พิจารณาใหม่

30 ส.ค. 2566    ศาลปกครองกลางนัดพิจารณาคดีครั้งแรก

18 ก.ย. 2566    ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวมปัจจุบันราว 2.7 หมื่นล้านบาท