ส่องนโยบายรัฐบาล 'อินเดีย' เคลื่อนประเทศสู่พลังงานสะอาด

ส่องนโยบายรัฐบาล 'อินเดีย' เคลื่อนประเทศสู่พลังงานสะอาด

ส่องนโยบายรัฐบาล "อินเดีย" ในขับเคลื่อนประเทศมุ่งสู่ผู้นำการผลิตพลังงานสะอาด ขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero 

"อินเดีย" ได้พัฒนาระบบนิเวศ ที่ส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้า ระบบจัดส่ง และการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งในประเทศอินเดียมีบริษัทจำหน่ายไฟฟ้า (Discoms) อยู่ 4 ประเภท คือ

1. บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าที่เป็นของรัฐ ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ 100% 

2. บริษัทที่ร่วมทุนกับรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นของภาคเอกชนและภาครัฐที่ 51:49

3. บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าเอกชน ซึ่งภาคเอกชนเป็นเจ้าของ 100%

4. การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ของบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าที่เป็นของรัฐ

อย่างไรก็ตาม ภาคการจัดจำหน่ายและการค้าปลีก ยังเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญที่สุดในห่วงโซ่คุณค่า โดยภาคส่วนนี้จะทำหน้าที่ประสานกับผู้ใช้ไฟฟ้าปลายทางและสร้างรายได้ โดยการจำหน่ายไฟฟ้าของอินเดียให้บริการแก่ผู้บริโภค 250 ล้านคน โดยประมาณ และมีระบบจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 73 แห่ง โดยจำนวนผู้บริโภคแบ่งตามหมวดหมู่ แบ่งเป็น กลุ่มที่อยู่อาศัย 77%, เชิงพาณิชย์ 11%, เกษตรกรรม 10%, อุตสาหกรรม 2%

ทั้งนี้ การจำหน่ายไฟฟ้าในชนบทจะใช้สายส่งขนาดยาว ส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคภาคการเกษตร ใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบคง ที่ส่วนการจำหน่ายไฟฟ้าในเมือง จะเป็นแบบโครงข่ายหนาแน่นสูง ซึ่งส่วนใหญ่จำหน่ายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม เชิงพาณิชย์ และที่อยู่อาศัย

สำหรับรายได้เฉลี่ยต่อคนของอินเดียจะอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์ ภายในปี 2590-2591 โดยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ซึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ทำให้อินเดียเติบโต ได้แก่ การปันผลตามประชากร, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, มุ่งเน้นการผลิตในประเทศ, มุ่งเน้นพลังงานที่ยั่งยืน, การเพิ่มโอกาสทางการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านสินเชื่อส่วนบุคคล, ส่งเสริมสตาร์ทอัพและการลงทุนภาคเอกชน, เน้นการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และการส่งออกบริการต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนของอินเดีย คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมนโยบายสนับสนุน โดยมีการคาดการณ์การเติบโตที่แข็งแกร่ง และมีเป้าหมายการลดคาร์บอนมากขึ้น ซึ่งในปี 2553 รัฐบาลอินเดียมีการประกาศพันธกิจ Jawaharlal Nehru National Solar Mission (JNNSM) ตอนนั้นกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานหมุนเวียนของอินเดียอยู่ที่ 16 กิกะวัตต์ (GW) ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 176 กิกะวัตต์ ในปี 2565 อีกทั้งรัฐบาลได้ประกาศตั้งเป้าผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 100 กิกะวัตต์ ภายในปี 2565

ทั้งนี้ การให้ความสำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอินเดียได้รับความสนใจมากในการประชุมเวที COP-26 เมื่อนายกรัฐมนตรี Shri Narendra Modi ได้ประกาศเป้าหมายดังต่อไปนี้

1. เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล 500 กิกะวัตต์

2. เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน 50% ภายในปี 2573

3. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2613

4 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ 1,000 ล้านตัน ภายในปี 2573

5 อินเดียจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระบบเศรษฐกิจของตน ให้เหลือน้อยกว่า 45% ภายในปี 2573

นอกจากนี้ อินเดียได้กำหนดแผนงานด้านพลังงานหมุนเวียนไว้อย่างชัดเจน โดยอินเดียมีกำลังการผลิตติดตั้งในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และมีกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานลมสูงสุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลกในปี 2565 ซึ่งตามแผนการของรัฐบาลอินเดีย พลังงานหมุนเวียนจะยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะกลายเป็นพลังงานหลักในระยะยาว

ดังนั้น กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของอินเดีย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนปัจจุบัน 41% (170 กิกะวัตต์) ของกำลังการผลิตทั้งหมด (415 กิกะวัตต์) เป็น 85% (1,125 กิกะวัตต์) ของกำลังการผลิตทั้งหมด (1,325 กิกะวัตต์) ภายในปี 2590

สำหรับสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 22% (353 BU) ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด (1,624 BU) เป็น 67% (3,153 BU) ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด (4,721 BU) ภายในปี 2590

นอกจากนี้ ภาพรวมแนวโน้มของการจัดหาพลังงานหมุนเวียนของอินเดียกำลังเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากมีความต้องการโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การจ่ายพลังงานหมุนเวียนได้ตลอดเวลา ระบบที่สามารถจ่ายพลังงานหมุนเวียนได้สูงสุดอย่างแน่นอนและปลอดภัย รวมทั้งการจ่ายพลังงานหมุนเวียนที่มั่นคงและยืดหยุ่น

ทั้งนี้ เนื่องจากมีความต้องการจัดหาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าจึงมองหาโซลูชั่นต่าง ๆ เพื่อให้ได้เทคโนโลยีการจ่ายพลังงานหมุนเวียนที่มั่นคงและยืดหยุ่นพร้อมมีการกักเก็บ (เช่น พลังน้ำแบบสูบกลับ หรือ แบตเตอรี่) มาใช้แทนการจ่ายพลังงานแบบควบคุม/แบบตั้งเวลาที่เคยใช้กันทั่วไป