WHO จัดประชุมผู้นำยาแผนโบราณครั้งแรกที่อินเดีย

WHO จัดประชุมผู้นำยาแผนโบราณครั้งแรกที่อินเดีย

องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดประชุมผู้นำด้านยาแผนโบราณครั้งแรก พร้อมเตือนว่า การรักษาที่อาศัยผลิตภัณฑ์จากธรรมชาตินี้จะเป็นการดูแลสุขภาพทางเลือกอย่างได้ผลก็ต่อเมื่อผ่านการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วเท่านั้น

การประชุมผู้นำด้านยาแผนโบราณของ WHO ที่จัดขึ้นเป็นเวลาสองวัน เปิดฉากขึ้นแล้วที่เมืองคานธีนคร ประเทศอินเดีย พร้อมๆ กับการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขกลุ่มประเทศ G20

WHO เผยว่า ยาแผนโบราณเป็นช่องทางแรกสำหรับประชาชนหลายล้านคนทั่วโลก การประชุมที่อินเดียเป็นการรวมตัวกันของผู้กำหนดนโยบายและนักวิชาการ เพื่อ “ระดมความรับผิดชอบทางการเมืองและการลงมือทำอย่างมีหลักฐานด้านยาแผนโบราณ”

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการ WHO กล่าวว่า ยาแผนโบราณอาจช่วยลดช่องว่างในการดูแลสุขภาพ แต่จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อใช้อย่าง “เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเหนือสิ่งอื่นใดคือความปลอดภัยบนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด”

“วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าว่าด้วยยาแผนโบราณควรมีมาตรฐานเดียวกันกับสาธารณสุขสาขาอื่นๆ นี่อาจจำเป็นต้องคิดใหม่ถึงระเบียบวิธีเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นองค์รวม, แนวทางที่คำนึงถึงบริบท และมีหลักฐานแข็งแกร่งครอบคลุมเพียงพอนำไปสู่การแนะนำเป็นนโยบาย” จอห์น รีเดอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัย WHO กล่าว

ด้านนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่คาดว่า จะเปิดการประชุมผ่านวีดิโอ สนับสนุนการฝึกโยคะเสมอมา ยกย่องว่าเป็น “ยาครอบจักรวาล” แก้เครียดและแม้แต่ความเกลียดชัง

การประชุมผู้นำโลกด้านยาแผนโบราณจะกลายเป็นงานประจำปี หลังจากปีก่อนมีการเปิดศูนย์ยาแผนโบราณของ WHO ที่รัฐคุชราต ประเทศอินเดียเช่นกัน

ขาดกฎหมายควบคุม

แม้ยาแผนโบราณใช้กันอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ของโลก แต่ต้องเจอเสียงวิจารณ์รุนแรงด้วยเช่นกัน

WHO นิยามว่า ยาแผนโบราณหมายถึง ความรู้ ทักษะ และวิธีปฏิบัติที่ใช้กันมาเพื่อดูแลสุขภาพและป้องกัน, วินิจฉัยและรักษาการเจ็บป่วยทางกายและทางใจ แต่การยาหลายตำรับไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์กล่าวว่า ยาแผนโบราณเร่งการค้าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เสือ แรด และลิ่น เสี่ยงทำให้สูญพันธุ์ไปเลย

ทั้งนี้ ช่วงโควิด-19 ระบาด "ยาพื้นบ้าน"ได้รับความนิยมมาก เช่น ประธานาธิบดีมาดากัสการ์ส่งเสริมให้รักษาโควิดด้วยการดื่มน้ำโกฏฐ์จุฬาลำพา พืชชนิดนี้มีฤทธิ์รักษามาลาเรีย แต่แพทย์ไม่แนะนำให้ใช้รักษาโควิด

ในจีนใช้ยาแผนโบราณมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ แต่องค์กรแพทย์ยุโรปเคยเรียกร้องให้ใช้ระเบียบเดียวกันกับวิธีรักษาแบบโบราณของตะวันตก

ในบรรดา 194 ประเทศสมาชิก WHO 170 ประเทศยอมรับให้ใช้ยาแผนโบราณและยาเสริมมาตั้งแต่ปี 2561 แต่มีเพียง 124 ประเทศที่มีกฎหมายหรือระเบียบควบคุมการใช้ยาสมุนไพร ขณะที่เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีนโยบายระดับชาติว่าด้วยวิธีรักษาและยาแผนโบราณ

“ธรรมชาติไม่ได้หมายความว่าปลอดภัยเสมอไป หลายร้อยปีแล้วที่ใช้กันโดยไม่มีการรับรองประสิทธิภาพ ดังนั้นจำเป็นต้องประยุกต์ใช้วิธีการและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้หลักฐานที่เชื่อถือได้” WHO ระบุพร้อมเสริมว่า เภสัชภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติในปัจจุบันนี้ราว 40% มาจากธรรมชาติ ยาสำคัญอย่างแอสไพริน มาจากสูตรที่ใช้เปลือกต้นวิลโลว์