FDI ทั่วโลกดิ่งหนัก 12% ฟันด์โฟลว์เข้า เอเชีย สะดุด จากความปั่นป่วนของ ศก.โลก

FDI ทั่วโลกดิ่งหนัก 12% ฟันด์โฟลว์เข้า เอเชีย สะดุด จากความปั่นป่วนของ ศก.โลก

“สหประชาชาติ” เผย การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในปีที่แล้วลดลงถึง 12% เหลือ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ จากสงครามในยูเครน เงินเฟ้อ และภาระหนี้ ด้านโฟลว์ไหลเข้า “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” อื้อ 60% ของ FDI ทั้งหมด

Key Points

  • การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในปีที่แล้วลดลงถึง 12% เหลือ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์
  • การลดลงส่วนหนึ่งเป็นเพราะสงครามในยูเครน ราคาอาหารและราคาพลังงานที่สูง รวมถึงหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้น
  • ฟันด์โฟลว์ไหลเข้า “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” อื้ออยู่ที่ 60% ของ FDI ทั้งหมด อยู่ที่  2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ 

สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานถ้อยแถลงจากการประชุมของ สหประชาชาติว่า ด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ว่าด้วยเรื่อง ลงทุนทั่วโลกประจำปี 2566 ว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในปีที่แล้วลดลงถึง 12% เหลือ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิกฤติโลกที่ทับซ้อนกัน เช่น สงครามในยูเครน ราคาอาหารและราคาพลังงานที่สูง รวมถึงหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของ FDI ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งลดลง 37% ในปี 2565 และไหลเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเพียง 4% 

สำหรับลาตินอเมริกาและแคริบเบียนเป็นภูมิภาคเดียวที่ดึงดูด FDI เพิ่มขึ้นถึง 51% ขณะที่ เอเชีย "ไม่มีการเปลี่ยนแปลง" อยู่ที่ 6.62 แสนล้านดอลลาร์ เท่าปีก่อนหน้า ด้านอเมริกาเหนือและแอฟริกาปรับตัวลดลง 26% และ 44% ตามลำดับ และยุโรปเป็นภูมิภาคที่ FDI ไหลออกสุทธิในปี 2565

อย่างไรก็ดี แม้ในปี 2565 FDI ทั่วโลกต่างปรับตัวลดลง แต่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) กลับดึงดูด FDI เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนหน้า สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ 

โดย UAE มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกอาหรับ และดึงดูดเม็ดเงินประมาณ 60% ของ FDI ทั้งหมด เข้าสู่ “กลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือเพื่อรัฐอาหรับในภูมิภาคอ่าว” หรือ Cooperation Council for the Arab States of the Gulf-CCASG ซึ่งมีสมาชิก 6 ประเทศ 

ขณะที่ตัวเลข FDI ในประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอย่างซาอุดีอาระเบีย และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก กลับลดลงเกือบ 60% มาอยู่ที่ 7.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565

โดยปัจจุบัน รัฐอ่าว (Gulf States) ซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพา “ไฮโดรคาร์บอน” เพื่อหารายได้ล้วนมุ่งหน้าการกระจายแหล่งรายได้และดึงการลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้น และ UAE นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในความพยายามในการกระจายรายได้ดังกล่าว ทั้งในเชิงการบริการทางการเงิน การค้า การท่องเที่ยว และการดำเนินการปฏิรูปสังคมและธุรกิจ เป็นต้น

นอกจากนี้ รายงานของ UNCTAD ยังกล่าวอีกว่า ในปีที่แล้ว UAE ดึงดูดโครงการที่เชื่อมโยงกับพื้นที่สีเขียวมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และยังเป็นแหล่งเงินลงทุนผ่าน เม็ดเงินลงทุน ภายนอกถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีเดียวกันซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2564