“อสังหาริมทรัพย์”ในดูไบแหล่งฟอกเงินก่อการร้ายโลก
“อสังหาริมทรัพย์”ในดูไบแหล่งฟอกเงินก่อการร้ายโลก โดยกลุ่มต่างๆที่อิหร่านหนุนหลังและถูกมองว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลเตหะราน รวมถึง ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนและกลุ่มฮูตีในเยเมนก็มีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก
ในช่วงที่ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆปฏิบัติการท้าทายอำนาจรัฐและกำลังสร้างความขัดแย้งในหลายพื้นที่ของโลก ศูนย์กลางการศึกษาด้านการป้องกันประเทศก้าวหน้า(C4ADS) ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาชื่อ“ปลดล็อกดูไบ”ที่บ่งชี้ว่า มีบุคคลมากมายต้องสงสัยว่าพัวพันกับก่อการร้ายกลุ่มต่างๆทั้งฮิซบอลเลาะห์ และฮูตี โดยอาศัยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในดูไบเป็นแหล่งฟอกเงิน
เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย ตอนนี้ประเทศต่างๆพยายามหาทางสกัดกั้นการเข้าถึงแหล่งเงินของก่อการร้ายทั้งในรูปแบบส่วนบุคคลและองค์กรต่างๆด้วยการอายัดทรัพย์สินแต่ผลศึกษาล่าสุด ที่เกิดจากการสอบสวนสืบสวนร่วมกันขององค์กรด้านสื่อ74 แห่งใน 58 ประเทศ บ่งชี้ว่าในมาตรการคว่ำบาตรยังมีช่องโหว่ที่ช่วยให้เกิดการฟอกเงินและผ่องถ่ายเงินผิดกฏหมายเหล่านี้ไปถึงมือก่อการร้าย
ความไม่มั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสเริ่มเปิดฉากเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ลุกลามทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านตามมาในเดือนเม.ย. กลุ่มต่างๆที่อิหร่านหนุนหลังที่ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลเตหะราน รวมถึง ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนและกลุ่มฮูตีในเยเมนก็มีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก
อาทาม ทาบาจา นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และอาลี อัล-บานิ ผู้ก่อตั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในกาตาร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระหว่างประเทศที่สนับสนุนเงินให้แก่ปฏิบัติการของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
ทาบาจา ถูกสหรัฐคว่ำบาตรเมื่อปี 2558 เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ราคาแพงแห่งหนึ่งที่ตั้งตามชื่อของเขา ซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ส่วนอัล-บานิ ถูกกล่าวหาว่าเป็นเครือข่ายการเงินให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ทั้งในยูเออี,เลบานอน,กาตาร์,อิหร่าน,คูเวต,บาห์เรน, ซาอุดีอาระเบียและตุรกี
ขณะที่ อาลี ออสไซรัน ซึ่งถูกคว่ำบาตรด้วยเหมือนกัน ถูกกล่าวหาว่าคอยอำนวยความสะดวกในการฟอกเงินให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ผ่านธุรกิจศิลปะ มีชื่อเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งในบิร์จ คาลิฟา ในดูไบ ซึ่งเป็นตึกระฟ้าสูงที่สุดในโลก
รายงานการสอบสวนฉบับนี้ระบุด้วยว่า มีบุคคลมากกว่า 200 คนตกเป็นเป้าการสอบสวนครั้งนี้ รวมถึงคนที่ถูกคว่ำบาตรจากรัฐบาลสหรัฐล้วนซื้อหรือไม่ก็เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในดูไบทั้งสิ้น
“ดูไบมีกฏระเบียบและมีการตรวจสอบทางการเงินที่เข็มงวดมาก แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะยกเว้น ไม่แตะต้องหากว่าสิ่งนั้นเป็นผลประโยชน์ของรัฐบาล รัฐบาลก็จะทำเป็นตาบอด”โจดี วิตทอริ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในวอชิงตันและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคอร์รัปชั่นและอาชญากรรมทางการเงิน กล่าว
เมื่อเดือนมี.ค.ปี2566 สหภาพยุโรป(อียู)บรรจุ ยูเออี ไว้ในรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงสูงอันดับสาม ในประเด็นการฟอกเงิน เทียบเท่าอิหร่าน เกาหลีเหนือ ปานามาและประเทศอื่นๆ และในเดือนเม.ย. รัฐสภายุโรปลงมติที่จะไม่ถอดยูเออีออกจากสถานะประเทศที่มีความเสี่ยงสูง โดยให้เหตุผลว่ายูเออีมีการปรับปรุงเรื่องนี้แต่ยังไม่เพียงพอ
การสอบสวนร่วมกันเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ค่อนข้างสีเทาของดูไบ เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนก.ย.ปี 2566 โดย
C4ADS องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีฐานดำเนินงานอยู่ในวอชิงตัน ดีซี โดยเน้นทำการวิจัยอาชญากรรมข้ามชาติและความขัดแย้งระหว่างประเทศ จากนั้นก็แบ่งปันข้อมูลที่ได้จากการวิจัยกับ E24 หน่วยงานการเงินของนอร์เวย์ และ the Organized Crime and Corruption Reporting Project (OCCRP) ซึ่งทำงานเชิงสืบสวนร่วมกับองค์กรสื่อทั่วโลกหลายสิบแห่ง
สื่อที่มีส่วนร่วมกับโครงการ“ปลดล็อกดูไบ” ประกอบด้วย Le Monde ของฝรั่งเศส ,เดอะ ไทมส์ ของสหราชอาณาจักร ,เดอ สปิเกล ของเยอรมนี,International Consortium of Investigative Journalists และนิกเคอิ
ไนท์แฟรงค์ บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในสหราชอาณาจักร ระบุว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ดูไบกำลังเฟื่องฟู โดยในปี 2565 ตลาดที่อยู่อาศัยขยายตัวสามเท่าเมื่อเทียบกับปี 2563 ราคาคอนโดมิเนียมในเบิร์จ คาลิฟะทะยานขึ้น 55% นับตั้งแต่ปี 2564 ส่วนในปี 2566 จำนวนบ้านในดูไบที่เปลี่ยนมือ เพิ่มขึ้น 92% เป็น 431 ยูนิต
ที่ผ่านมา ดูไบเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างแข็งขัน โดยเน้นโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวและบรรยากาศแวดล้อมด้านการลงทุน
“ดูไบมีข้อได้เปรียบในฐานะมีที่ตั้งที่เหมาะสมด้านการลงทุน เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆในตะวันออกกลาง ด้วยความที่มีสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายและอสังหาริมทรัพย์มีสภาพคล่องสูง”ยาสุยูกิ คูมง นักวิจัยจากสถาบันเพื่อกิจการทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของดูไบ ให้ความเห็น
ที่ผ่านมา ดูไบดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อเพิ่มสภาพคล่องของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ อาทิ การพัฒนาระบบจดทะเบียนที่มีความก้าวหน้าที่ใช้การเซนต์ชื่อแบบดิจิทัล ,ใช้สกุลเงินต่างประเทศและใช้คริปโทเคอร์เรนซีในการทำธุรกรรมที่ทั้งสะดวกและรวดเร็ว