สศอ.ชี้อุตฯ ปีหน้าเริ่มฟื้น เร่งปรับตัวรับเทคโนโลยี

สศอ.ชี้อุตฯ ปีหน้าเริ่มฟื้น เร่งปรับตัวรับเทคโนโลยี

สศอ. คาดภาคอุตสาหกรรมเกฃับมาขยายตัวได้ในปีหน้า ชี้ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน ต้องเร่งเปลี่ยนผ่าน 2 เทคโนโลยีหลัก ด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์

นายชาลี ขันศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวในงาน “Innovation Summit Bangkok 2023: Innovations for a Sustainable Thailand” โดย ชไนเดอร์ อิเล็กทริค ในการบรรยายหัวข้อ “Thailand transformation towards Sustainability” ว่า ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายสำหรับภาคอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกำลังการผลิตหลังจากเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 รวมทั้งปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ทั้งนี้คาดว่าในปี 2024 ภาคอุตสาหกรรมจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ ด้วยปัจจัยหลักมาจากการสนับสนุนของภาคบริการและการท่องเที่ยว รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคภายในประเทศที่กลับมาฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีหน้ายังต้องจับตากับหลายปัจจัยเสี่ยง อาทิ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ สงครามการค้า มาตรการกีดกันทางภาษี รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และต้นทุนวัตถุดิบแพง เช่น ราคาพลังงาน ราคาปุ๋ย

นอกจากนี้ ยังมีความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง (Disruptive Change) ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมพร้อมรับมือเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน เช่น ความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเป็นสังคมสูงวัย การขยายตัวของเมือง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในภาคส่วนหลักที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ทั้งนี้ 2 แนวทางหลักที่อุตสาหกรรมจะลดการปล่อยคาร์บอน ได้แก่ 1.การลดกิจกรรมปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มพลังงานสะอาดในการผลิต 2. ลงทุนใหม่ในพลังงานสีเขียวและคาร์บอนเครดิต เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับผู้ส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีข้ามพรมแดน (CBAM)

ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐได้ขับเคลื่อน BCG Model (เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน, เศรษฐกิจสีเขียว) เป็นวาระแห่งชาติ โดย สศอ. มีส่วนในการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา และออกมาตรการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปสู่อุตสาหกรรม New S-Curve เช่น สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์ชีวภาพ

ความท้าทายภาคอุตฯ

ปัจจุบัน เทคโนโลยีขั้นสูงมากมายกำลังเข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรม เช่น เอไอ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ การแพทย์แม่นยำ รถยนต์อัตโนมัติไร้คนขับ โดรน บล็อกเชน ความเป็นจริงเสมือน (VR) ซึ่งการที่ไทยจะก้าวตามให้ทันเทคโนโลยีเหล่านี้ ไทยได้ตั้งเป้าในการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ “ไทยแลนด์4.0”

ทั้งนี้ สศอ. เชื่อว่า 2 เทคโนโลยีที่จำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรมที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านคือ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotic and Automation) และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเทรนด์หลักซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำของคนไทยแล้ว โดย สศอ. ได้ออกมาตรการด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับตัว เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในการรักษาความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน