‘ทักษิณ’ คนนอกเจเนอเรชั่น เจาะสัมพันธ์ ‘มิน อ่อง หล่าย’

‘ทักษิณ’ คนนอกเจเนอเรชั่น   เจาะสัมพันธ์ ‘มิน อ่อง หล่าย’

การปรากฎตัวของ“ทูตเมียนมา” ซึ่งเปรียบเสมือนผู้นำสารของ "มิน อ่องหล่าย" พบ เลขาฯสมช. ถามจุดยืนรัฐบาลไทย เป็นเรื่องน่าคิด แท้จริงแล้ว“ ทักษิณ”เดินเกมฝ่ายเดียวหรือไม่

Key Point :

  • กองทัพ ตั้งข้อสังเกตปัจจุบัน “ทักษิณ”เข้าใจบริบท และสถานการณ์ในเมียนมามากน้อยเพียงใด 
  • ช่วงที่ ทักษิณ เรืองอำนาจ เป็นยุคของ พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย และ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์
  • ปัจจุบันคนสายตรงคุยกับ มิน อ่อง หลาย ได้คงเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ผู้อยู่เบื้องหลังเจรจาปล่อยคนไทยในเล่าก์ก่าย

“เอกอัครราชทูตเมียนมา” ประจำประเทศไทย เพิ่งเข้าแสดงความยินดีกับ พล.ต.อ.รอย อิงคะไพโรจน์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องในโอกาสได้รับตำแหน่งใหม่ พร้อมสอบถามจุดยืนของรัฐบาลไทยไม่ให้กลุ่มต่อต้านใช้ไทยเป็นฐานโจมตีรัฐบาลเมียนมา คำถามเดียวกับที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย เคยสอบถามมายังกองทัพไทย

การเข้าพบเกิดขึ้นภายหลังสื่อต่างประเทศประโคมข่าวอดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” พบแกนนำชนกลุ่มน้อย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมาในประเทศไทย ครั้งเดินทางกลับบ้านเกิด จ.เชียงใหม่ครั้งล่าสุด

โดย พล.ต.อ.รอย ยืนยันกับเอกอัครราชทูตเมียนมาว่า รัฐบาลไทยจะไม่ให้กลุ่มต่อต้านใช้ไทยเป็นฐานโจมตีรัฐบาลเมียนมา พร้อมย้ำการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลไทยอยู่ภายใต้กรอบอาเซียน ไม่แทรกแซงเรื่องภายในของประเทศสมาชิก แต่ไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบตามหลักสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ การพบกันระหว่าง “ทักษิณ”กับชนกลุ่มน้อย ได้รับการยืนยันจากฝ่ายความมั่นคงว่า เกิดขึ้นจริง โดยมี “เจ๊แดง” เยาวภา วงสวัสดิ์ น้องสาวทักษิณ เป็นผู้นัดหมาย ปัจจุบันแกนนำกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาอาศัยใกล้ชายแดนไทย อ.แม่สะเรียง จ.เชียงใหม่ อ.แม่สอด จ.ตาก

 

ส่วนผลการพูดคุย ไม่ได้รับการตอบรับจากชนกลุ่มน้อยเท่าที่ควร บางกลุ่มไม่เอาด้วย ในขณะที่บางกลุ่ม เช่น เจ้ายอดศึก เห็นด้วย หากการยุติการสู้รบจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพภายในประเทศเมียนมา

ขณะที่ กองทัพไทย ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบัน “ทักษิณ”เข้าใจบริบท และสถานการณ์ในเมียนมามากน้อยเพียงใด 

ความซับซ้อนชนกลุ่มน้อยหลากหลายชาติพันธุ์ ที่มีเป้าหมายแตกต่างกันไป บางกลุ่มต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ หวังเปลี่ยนแปลงประเทศ บางกลุ่มแย่งชิงผลประโยชน์อำนาจในพื้นที่

และการพูดคุยครั้งนี้ ผู้นำรัฐบาลเมียนมารับรู้ด้วยหรือไม่ เพราะความสัมพันธ์ระหว่าง ทักษิณ กับ มิน อ่องหล่าย ถูกมองเป็นคนต่างเจเนอเรชั่น ช่วงที่ ทักษิณ เรืองอำนาจ เป็นยุคของ พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย และ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์

ส่วน มิน อ่องหล่าย ขึ้นมากุมอำนาจ ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ปี 2554 ยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ช่วงที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผู้บัญชาการทหารบก และมีเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 12 “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ความสัมพันธ์ระหว่าง กองทัพไทย-กองทัพเมียนมาในช่วงนั้นแน่นแฟ้น เพราะสายสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีมาอย่างยาวนานระหว่าง พล.อ.ธนะศักดิ์ กับ มิน อ่องหล่าย โดยทั้งคู่จะผลัดกันเป็นเจ้าภาพนัดทานข้าวเดือนละครั้ง และสายสัมพันธ์นี้ถูกส่งต่อมายังพล.อ.ประยุทธ์

จะเห็นได้ว่าคล้อยหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ทำรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปี 2557 ได้เพียง 2 เดือน มิน อ่องหล่าย ผู้นำทหารคนแรกเดินทางเยือนไทย เพื่อมาให้กำลังใจหลังไทยถูกนานาประเทศคว่ำบาตรตัดสัมพันธ์

นับจากนั้นมาตลอด 7 ปี การดำรงตำแหน่งนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ และ มิน อ่อง หลาย ได้เดินทางไปมาหาสู่ ทั้งคู่กลายเป็นแขกคนพิเศษของกันละกัน สะท้อนความสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งกว่ารัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี ในขณะนั้น

ปัจจุบันหากจะมีใครสักคนสายตรงคุยกับ มิน อ่อง หลาย คงเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริงช่วยเจรจากับ มิน อ่องหล่าย ให้ปล่อยตัวคนไทยกว่าร้อยชีวิตเข้าเมืองผิดกฎหมายไปทำงานในเล่าก์ก่าย เขตปกครองพิเศษโกก้าง หลังรัฐบาลเมียนมากวาดล้างทุนจีนสีเทาครั้งใหญ่ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลที่คนในกองทัพได้แต่บอกต่อกันเป็นการภายใน เพื่อให้เครดิตกับ พล.อ.ประยุทธ์ อดีตผู้บังคับบัญชา ที่ไม่อาจป่าวประกาศสู่สาธารณชนได้รับรู้ ในขณะที่บางคนนำผลงานนี้ไปเคลมกับรัฐบาลเพื่อไทย

ส่วน ทักษิณ แน่นอนว่า รู้จัก มิน อ่องหล่าย หากจำกันได้ คลิปเสียงนายพลถั่งเช่ากระฉ่อนโซเชียล ปี 2556 ที่อ้างว่าเป็นการสนทนาระหว่าง ทักษิณ-พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม

โดย ทักษิณ ระบุในคลิปเสียงตอนหนึ่งว่า เคยไปร่วมงานสงกรานต์กับมิน อ่องหล่าย “พวกผมทั้งนั้นแหละ มันยกที่ให้ผมแปลงนึง ใจกลางเมืองย่างกุ้ง”

และในช่วงหนึ่งของคลิปเสียง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้ระบุว่า “เรื่องของพม่า ผมบอกกับนายกฯ ไปแล้วนะครับ บอกว่าใช้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (พล.อ.ธนะศักดิ์)ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุดเลย เพราะมิน อ่องลาย ซึ่งเป็น ผู้บัญชาการสูงสุดเมียนมา เป็นมือหนึ่งของท่านประธานาธิบดีเต็งเส่ง เลยให้ความเกรงใจมากที่สุด ผู้บัญชาการสูงสุดเมียนมากับผู้บัญชาการทหารสูงสุดไทยเป็นเคาน์เตอร์พาร์ตกัน ผลัดกันกินข้าวคนละเดือน คนละเดือน เพราะฉะนั้นถ้าจะบีบอะไรเรื่องทวาย นายกฯ เรียก ผบ.สูงสุดมาใช้ได้”

นั่นสะท้อนให้เห็นว่า ในยุคนั้น ทักษิณ ยังต้องอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้นำเหล่าทัพ เป็นบันไดเชื่อมต่อไปยัง มิน อ่อง หล่าย หวังผลประโยชน์ทางการเมือง

ปัจจุบันความสัมพันธุ์ระหว่าง ทักษิณ-มิน อ่อง หล่าย พัฒนาไปอีกสเต็ปหรือไม่ ไม่มีใครรู้ชัด บ้างก็วิเคราะห์กันว่า เพราะทักษิณ ได้รับสัญญาณทางลับจาก มินอ่อง หล่าย จนเป็นที่มาการอาสาช่วยเจรจากับชนกลุ่มน้อย หวังยุติการสู้รบในเมียนมา

ทว่าการปรากฎตัวของ“ทูตเมียนมา” ซึ่งเปรียบเสมือนผู้นำสารของ มิน อ่องหล่าย พบ เลขาฯสมช. เพื่อสอบถามจุดยืนรัฐบาลไทย ก็เป็นเรื่องน่าคิด แท้จริงแล้ว“ ทักษิณ”เดินเกมนี้ฝ่ายเดียวหรือไม่