"อนุสรณ์ ธรรมใจ" มองขึ้นค่าแรง 5% ต่ำกว่าเงินเฟ้อ ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่ง

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" มองขึ้นค่าแรง 5% ต่ำกว่าเงินเฟ้อ ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น หวั่นหนี้ครัวเรือนพุ่ง

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีตบอร์ดแบงก์ชาติ คาดเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนก.ย. นี้ และจะใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินไปอีกระยะ ขณะที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 5% ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น กดดันหนี้ครัวเรือนกลับไปสูงกว่า 90% ต่อจีดีพีอีกครั้ง

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์ดูจากตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆที่ออกมาของสหรัฐฯ ค่อนข้างมั่นใจว่าสหรัฐฯ ไม่น่าเจอเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการประชุมประจำปี ณ เมืองแจ็คสัน โฮล บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ไม่กังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย แต่กังวลว่าจะไม่สามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของราคาได้

อัตราเงินเฟ้อสูงเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกที่ต้องควบคุมให้ได้แม้จะส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจอยู่บ้าง และต้องการให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ในระดับเป้าหมาย คือ 2% จากเวลานี้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ หรือดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค.อยู่ที่ 8.5% ลดลงมาเพียงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 9.1% ซึ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี 

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน ดัชนีค้าปลีก ดัชนีการลงทุน ดัชนีคำสั่งซื้อของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ยังสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ดี เพียงชะลอลงเล็กน้อยจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเพื่อคุมเงินเฟ้อ ตัวเลขจีดีพีไตรมาสสองปรับล่าสุดติดลบน้อยลง

โดยติดลบ -0.6% ไม่ใช่ -0.9% Gross domestic income ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 1.4% ในไตรมาสสอง ตัวเลขล่าสุดการขอรับสวัสดิการการว่างงานก็ปรับตัวลดลง

รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า แม้ตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ติดลบต่อเนื่องสองไตรมาส ตามคำนิยามทางเศรษฐศาสตร์ถือว่า เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคแล้ว แต่กรณีเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นจะไม่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากการติดลบของจีดีพีเป็นผลมาจากการชะงักงันทางด้านอุปทาน คือ เกิด supply chain disruptions จึงทำให้สินค้าที่ผลิตแล้วจำนวนมากตกค้างที่จุดขนส่งสินค้าจำนวนมาก ไม่สามารถขนส่งได้ จึงไม่นับรวมในสต๊อคสินค้า หรือ Inventories

หากดูตัวเลข Inventories พบว่า เพิ่มขึ้น 83.9 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสสองเทียบกับการเพิ่มขึ้น 188.5 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรก ส่วนนี้ได้ถูกหักจากจีดีพี ทำให้จีดีพีติดลบที่ถูกรายงานในช่วงแรกติดลบสูงกว่าความเป็นจริงมาก อีกตัวเลขหนึ่งที่ยืนยันว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่น่ามีภาวะถดถอย คือ การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงเพิ่มขึ้น 1.5% เป็นการปรับตัวเลขใหม่หลังจากที่มีการรายงานว่าขยายตัวเพียง 1% ก่อนหน้านี้

ส่วนตัวจึงคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ต่อเนื่องในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. นี้ และน่าจะใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินไปอีกระยะหนึ่ง ภาวะดังกล่าวจะกดดันตลาดการเงินโดยเฉพาะตลาดหุ้นน่าจะปรับฐานลงมาได้อีก เงินดอลลาร์น่าจะแข็งค่าต่อเนื่อง ตลาดคริปโตน่าจะปรับลงได้อีกมาก และส่งผลต่อการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจจริงระดับหนึ่งเท่านั้น

ขณะที่การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของไทยแม้ว่าจะต่ำกว่าเงินเฟ้อ เท่ากับว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นนั่นเอง โดยปรับขึ้นสูงสุด 354 บาท ต่ำสุด 328 บาท คิดเป็นอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท เป็นการปรับเพิ่มขึ้นเพียง 5.02% เทียบกับเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.ยังทรงตัวในระดับสูง เพิ่มขึ้น 7.61% แม้จะชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยปัจจัยมาจากราคาพลังงานและอาหารอยู่ในระดับสูง 

คาดการณ์ว่าแรงกดดันเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มอีกในระยะต่อไป จากราคาน้ำมันที่อาจกลับมาทะลุระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้จากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มเอเปคพลัส การขาดแคลนปุ๋ยและราคาปุ๋ยแพงจะทำให้อุปทานของอาหารและธัญพืชไม่เพียงพอต่อความต้องการและดันให้ราคาขึ้นสูงรอบใหม่ได้

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 5% ถือว่าไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพและจะกลับมาซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กลับไปทะลุระดับ 90% ต่อจีดีพีอีกครั้ง จะทำให้ครอบครัวรายได้น้อยต้องก่อหนี้เพิ่ม การก่อหนี้เพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพในภาวะค่าครองชีพแพงเช่นนี้จะถูกซ้ำเติมโดยดอกเบี้ยขาขึ้น 

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด ขอให้ดูการตัดสินใจของธนาคารกลางจีนและธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อมากเกินไป

เศรษฐกิจไทยช่องว่างระหว่างระดับของผลผลิตที่เกิดขึ้นจริง (Actual GDP) กับระดับผลผลิตที่ระดับศักยภาพ เรียกว่า ช่องว่างการผลิต (Output Gap) ยังติดลบมาก อุปสงค์ของประเทศขยายตัวไม่สูงมากนักแม้จะกระเตื้องขึ้น ผลผลิตที่เกิดขึ้นจริงและระดับอุปสงค์ยังต่ำกว่าระดับความสามารถการผลิตของประเทศ (Excess Supply) หรือการใช้ศักยภาพในการผลิตไม่เต็มที่ ส่งผลให้ Output Gap เป็นลบ

การเปิดกว้างของเศรษฐกิจไทย หากเกิดเงินเฟ้อจากแรงดึงอุปสงค์ขึ้น ความต้องการส่วนเกินสามารถถูกทดแทนได้ด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดลดการเกินดุลหรือขาดดุล คาดการณ์ว่า ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลเพิ่มขึ้น ฉะนั้นปัญหาเสถียรภาพราคาจากแรงดึงอุปสงค์จึงไม่ใช่ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเวลานี้

ด้านส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยและเงินไหลออกก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวลเกินไป ส่วนใหญ่เป็นเงินทุนระยะสั้นไหลออกจากภาคการเงินเพราะดอกเบี้ยเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนเท่านั้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายส่วนใหญ่เป็นเงินทุนระยะสั้น

รศ.ดร.อนุสรณ์ ในฐานะประธานกรรมการบริษัท บีบีจีไอ ไบโอเอทานอล จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยควรเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาเพื่อความมั่งคงทางด้านพลังงาน พร้อมเตรียมรับมือราคาพลังงานพุ่งสูงระลอกใหม่ และลดการพึ่งพิงแหล่งก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา

แหล่งปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทยกับกัมพูชาต้องร่วมพัฒนาให้เกิดประโยชน์เช่นเดียวกับที่ไทยร่วมกับมาเลเซียพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนในรูปแบบ JDA (Joint Development Area) โดยกรณีของ Malaysia-Thailand Joint Development Area นั้นได้มีการจัดตั้งเป็นองค์กรนิติบุคคล Malaysia-Thailand Joint Authority บริหารทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกันและแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม 50:50 และ องค์กรร่วมนี้มีอำนาจในการทำสัญญาให้สิทธิสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมแก่บริษัทผู้ประกอบการได้ ภายใต้เงื่อนไขของระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract)

กรณีของไทย-กัมพูชาก็สามารถใช้แนวทางเดียวกันในการบริหารจัดการทรัพยากรพลังงานร่วมกันได้เพื่อความมั่งคงทางด้านพลังงานของทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกันการได้แหล่งพลังงานใหม่จากพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชานี้จะช่วยทำให้ไทยลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้าจากเมียนมาได้ โดยคาดการณ์ว่า เหตุการณ์สงครามกลางเมืองและความไม่สงบในเมียนมาจะยืดเยื้อยาวนาน

นอกจากนี้ รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาอาจเผชิญแรงกดดันและการคว่ำบาตรเพิ่มเติมจากชาติตะวันตกในอนาคตจนกว่าเมียนมาจะกลับสู่ประชาธิปไตย การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและแรงกดดันที่เข้มข้นขึ้นอาจกระทบต่อโครงการลงทุนต่างๆทางด้านพลังงานของไทยในเมียนมา ส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานได้จากการที่ไทยอาศัยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาค่อนข้างมาก

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากโครงการยาดานา ในอ่าวเมาะตะมะของเมียนมานั้น มีปริมาณ 770-780 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งประมาณ 220-230 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใช้ในเมียนมาเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือคิดเป็นประมาณ 50% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในเมียนมา อีก 550-560 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันส่งออกมาที่ไทย สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จำนวน 12 โรงในไทย รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าและพลังงานของประชาชนกว่า 11-12 ล้านคนในภาคตะวันตกและบางส่วนของภาคกลาง โดยปริมาณดังกล่าวคิดเป็นประมาณ 11-11.5% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทย

เศรษฐกิจภาคตะวันตกและบางจังหวัดภาคกลางต้องอาศัยพลังงานจากเมียนมามากเกินไป ไทยจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์กระจายความเสี่ยง เร่งส่งเสริมพลังงานชีวภาพ พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกขึ้นมาให้ได้ หลังการรัฐประหารในเมียนมา บริษัทพลังงานสัญชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาและถอนตัวจากการลงทุน

หลังบริษัทพลังงานฝรั่งเศสโททาลเอนเนอร์ยี่ส์ ได้ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลังการรัฐประหารในเมียนมาและประกาศยุติการดำเนินโครงการต่างๆ ในเมียนมา และถอนการลงทุนจากแหล่งยาดานา ส่วนไทยโดย ปตท.สผ.ได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนเพิ่มเติม ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นเดิมเปลี่ยนสัดส่วนการครอบครอง ล่าสุด บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือสัดส่วนการลงทุน จาก 25.5% เป็น 37.0842% รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลเมียนมา Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) จาก 15% เป็น 21.8142%

การลดการพึ่งพาพลังงานจากเมียนมาต้องเป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านพลังงานของไทย ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมาจะเพิ่มขึ้นอีก ประเทศไทยมี “ความเสี่ยง” ต่อการรับ-ส่งก๊าซจากแหล่งผลิตสำคัญ 3 แหล่งคือ “ยาดานา-เยตากุน-ซอติก้า” ที่ใช้อยู่ประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตกของประเทศไทยได้