‘สงกรานต์ 2567’ หนุนไทยโกยนักท่องเที่ยวต่างชาติ ‘ททท.’ คาด Q2 ทะลัก 8.3 ล้านคน

‘สงกรานต์ 2567’ หนุนไทยโกยนักท่องเที่ยวต่างชาติ  ‘ททท.’ คาด Q2 ทะลัก 8.3 ล้านคน

‘ททท.’ คาดไตรมาส 2/2567 โกยยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าไทยกว่า 8.3 ล้านคน จากการโหมโปรโมตเมกะอีเวนต์ ‘มหาสงกรานต์ 2567’ ทั่วไทย หนุนสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยว 6 แสนล้านบาท

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. คาดในไตรมาส 2 ปี 2567 (เม.ย.-มิ.ย.) ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 613,630 ล้านบาท แบ่งเป็น จำนวนนักท่องเที่ยวไทย 44.4 ล้านคน-ครั้ง เติบโต 19% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สร้างรายได้ 245,730 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17% ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดเดินทางเข้าไทยจำนวน 8,272,300 คน เติบโต 29% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือฟื้นตัว 92% จากปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 367,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25 % หรือคิดเป็นการฟื้นตัว 95% จากปี 2562

 

ทั้งนี้ บรรยากาศการท่องเที่ยวค่อนข้างคึกคัก จากการจัดกิจกรรม “Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” ระหว่างวันที่ 1-21 เม.ย. 2567 ในพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบกับไตรมาส 2 มีวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายช่วง อาทิ วันหยุดสงกรานต์ วันหยุดวันวิสาขบูชา และวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินี รวมทั้งเป็นช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนที่ผู้ปกครองนิยมพาลูกหลานออกเดินทางท่องเที่ยว

แต่อุปสรรคของตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ที่ต้องจับตามอง คือค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ความผันผวนของราคาพลังงาน ความต้องการออกเที่ยวต่างประเทศของคนไทย และความคุ้มค่าในการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างในประเทศกับต่างประเทศ

นางสาวฐาปนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มหลักๆ ที่คาดว่าจะเดินทางเที่ยวไทยมากสุด ยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวแถบเอเชียเป็นหลัก เช่น ประเทศในกลุ่มอาเซียน จีน อินเดีย และนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่จะเดินทางท่องเที่ยวออกต่างประเทศเข้ามาช่วยเสริมหลังสิ้นสุดฤดูศีลอดเดือนรอมฎอน

ประกอบกับปัจจัยหนุนจากนโยบายผ่อนคลายวีซ่าจีน-ไทย ตลอดจนการส่งเสริมตลาดผ่านกิจกรรมของ ททท. และพันธมิตรโดยการเจาะตลาดระดับกลาง-บนเข้าไทยต่อเนื่อง อาทิ กลุ่ม First Visit ในเมืองรอง ศักยภาพของจีนและอินเดีย กลุ่มประชุมสัมมนาในช่วง Low season กลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายสูง (Special Interest) เช่น Health & Wellness Sport Tourism รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การจัดเทศกาลระดับ International Event “สงกรานต์ในประเทศไทย” ของ ททท. เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเป้าหมายทั่วโลกเดินทางาท่องเที่ยวไปพร้อมกับร่วมกิจกรรมคลายร้อนตลอดเดือนเม.ย.นี้

ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ ทิศทางฟื้นตัวตลาดจีนหลังไทยยกเว้นการขอวีซ่าถาวร วิกฤติสงครามความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ (ฮามาส) อาจส่งผลกระทบต้นทุนการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ตลอดจนสถานการณ์แข่งขันส่งเสริมตลาดต่างประเทศเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะคู่แข่งในแถบเอเชียและแปซิฟิกของไทยที่กำลังมาแรงในปีนี้ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เป็นต้น