THACCA ซูเปอร์เอเจนซี Soft Power ‘หมอเลี้ยบ’ ชี้พลังเฟสติวัลปลุกเศรษฐกิจ

THACCA ซูเปอร์เอเจนซี Soft Power ‘หมอเลี้ยบ’ ชี้พลังเฟสติวัลปลุกเศรษฐกิจ

'เฟสติวัล' (Festival) หรือ งานเทศกาล หนึ่งใน 11 สาขาภายใต้นโยบาย 'ซอฟต์พาวเวอร์' (Soft Power) เรือธงกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อไทย ตั้งเป้ายกระดับการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เป็นที่น่าจับตายิ่งว่ารัฐบาลจะสนับสนุนให้เห็นผลลัพธ์รูปธรรมอย่างไรต่อ?!

หลังจากคิกออฟไฮไลต์สำคัญอย่าง “เทศกาลมหาสงกรานต์” แล้วในปีนี้

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ “หมอเลี้ยบ” กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เริ่มต้นเล่าถึงนโยบาย “ซอฟต์พาวเวอร์” หนึ่งในเรือธงของรัฐบาลว่า สามารถใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็น “เสน่ห์” ดึงดูดผู้คนให้หลงใหลประเทศไทย เช่น อาหารไทย มวยไทย และภาพยนตร์ไทย รวมถึงภาพยนตร์ต่างประเทศที่ใช้โลเกชันในไทยเป็นฉากหลัง เหมือนกับกรณีภาพยนตร์จีนเรื่องดัง “ลอสต์ อิน ไทยแลนด์” (Lost in Thailand) ออกฉายเมื่อปี 2555 สามารถดึงนักท่องเที่ยวจีนทะลักเข้าไทยอย่างมหาศาล

“ที่ผ่านมาเราอาจไม่ค่อยได้บริหารเสน่ห์เท่าไร ปล่อยให้เป็นไปแบบออร์แกนิก แต่วันนี้ถึงเวลาที่จะต้องบริหารเสน่ห์แล้ว เพื่อให้คนไทยหายจน หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง เหมือนกับเกาหลีใต้ ที่เคยมีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงไทยเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ตอนนี้เขาไปไกลแล้ว จากการใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ขับเคลื่อนประเทศ”

ทั้งนี้ หากดูงบประมาณปี 2566 มีการใช้งบกว่า 7,000 ล้านบาทเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) แต่ที่ผ่านมาอาจจะใช้อย่างกระจัดกระจาย มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างคนต่างทำ มันไม่มีพลัง! แต่ครั้งนี้รัฐบาลจะมาดูงบส่วนนี้ ให้ใช้งบอย่างมียุทธศาสตร์ อะไรที่ซ้ำซ้อนก็จะไม่ทำ อะไรที่ทำแล้วไม่เห็นผลลัพธ์ชัดเจนก็หยุด

อีกคำถามคือ งบ 7,000 ล้านบาทดังกล่าว “เพียงพอ” ต่อการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยหรือไม่? คำตอบคือ “ไม่” โดยอาจจะไม่ถึง 1% ของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะตามมา

อย่างไรก็ดี ยังมีงบอีกมากมายจาก “ภาคเอกชน” หน้าที่ของรัฐบาลคือต้องเริ่มต้น “สร้างความเชื่อมั่น” ให้เอกชนพร้อมขยับการลงทุนตามมา ตัวอย่างที่ดียังคงอยู่ที่เกาหลีใต้ เช่น สำนักงานเนื้อหาเกาหลีสร้างสรรค์ (Korea Creative Content Agency : KOCCA) มีงบประมาณต่อปีที่ราวหมื่นล้านบาท แต่ภาคเอกชนอย่าง “กลุ่มแชโบล” กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ทรงอิทธิพลทางการค้าและการลงทุน รวมไปถึงธุรกิจบันเทิงในเกาหลีใต้ เขาใช้งบลงทุนรวมๆ แล้วถึงหลักแสนล้านบาท

“หลักๆ เราอยากให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ รัฐบาลมีหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวก (Facilitator) อะไรก็ตามที่เอกชนเขาทำได้ดี ต้องปล่อยให้เขาเป็นผู้นำและทำต่อไป”

ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมจัดตั้งองค์กรใหม่ “Thailand Creative Content Agency” หรือ THACCA (ทักก้า) มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในภาพรวม วางทิศทางชัดเจน ไม่ให้กระจัดกระจาย ทำงานใครงานมันเหมือนแต่ก่อน! โดยคาดว่าจะออก พ.ร.บ. THACCA ใช้ได้ในช่วงกลางปี 2568

“THACCA จะเป็นเหมือนซูเปอร์เอเจนซี ภายใต้องค์กรนี้จะมีหน่วยงานเฉพาะทางมาช่วยผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์แต่ละสาขา เหมือนกับเกาหลีใต้ที่มี KOCCA ซึ่งเน้นเฉพาะคอนเทนต์ เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ ดนตรี เกม และหนังสือ แต่ของไทยจะมีขอบเขตกว้างกว่านั้น ครอบคลุมไปถึงอาหาร การท่องเที่ยว และกีฬาด้วย รวม 11 สาขาซอฟต์พาวเวอร์ที่ต้องเร่งส่งเสริมให้แข็งแรง”

THACCA ซูเปอร์เอเจนซี Soft Power ‘หมอเลี้ยบ’ ชี้พลังเฟสติวัลปลุกเศรษฐกิจ

อีกหนึ่งประเด็นของซอฟต์พาวเวอร์ไทย คือข้อจำกัดในการรวบรวมสถิติและข้อมูลของแต่ละอุตสาหกรรมว่ามีขนาดใหญ่แค่ไหน มูลค่าตลาดอยู่ที่เท่าไรในปัจจุบัน รัฐบาลจึงตั้งเป้าหมายว่าต้องมี “การวิจัยมูลค่าตลาด” รวมถึงพฤติกรรมของคนไทยและชาวต่างชาติที่มีต่อซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้วย

โดย นพ.สุรพงษ์ ได้ขอให้อธิบดีส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทำวิจัยพฤติกรรมของชาวต่างชาติในแต่ละประเทศว่ามีความสนใจด้านวัฒนธรรมของไทยในมุมไหนบ้าง เช่น “ซีรีส์วายของไทย” ซึ่งเติบโตแบบออร์แกนิกมาก ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะมาแรงขนาดนี้ หากมีการวิจัยและวางแผนอย่างเป็นระบบ น่าจะขยายได้เร็วกว่านี้!

นพ.สุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมถึง “เฟสติวัล” อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ด้านซอฟต์พาวเวอร์กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวว่า จริงๆ แล้วอยากเห็นประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการจัดงานเทศกาลในทุกๆ เดือน และลงลึกเฉพาะด้าน เช่น เทศกาลดนตรี ภาพยนตร์ และอาหาร

“เราอยากให้จังหวัดต่างๆ ได้จัด ‘เทศกาลอวดเมือง’ เป็นชื่อเรียกติดปากกันในคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านเฟสติวัล ซึ่งมองว่าแนวคิดเทศกาลอวดเมือง ไม่ใช่แค่การจัดงานประจำเดือนหรือประจำปีทั่วไป แต่ต้องเฟ้นอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดออกมา เพื่อดึงดูดคนมาเที่ยวเมืองหรือจังหวัดนั้นๆ มากขึ้น เราตั้งเป้าไว้ว่าปีๆ หนึ่ง ทั้ง 77 จังหวัดทั่วไทยจะต้องมีเทศกาลอวดเมือง เริ่มต้นจากจังหวัดที่พร้อมก่อน คือ นครราชสีมา ซึ่งมีการตั้งคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ประจำจังหวัดมาขับเคลื่อน โดยในปี 2567 จะนำร่อง 10 จังหวัด กระจาย 5 ภูมิภาค ตอนนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกจังหวัด เพื่อปั้นให้เป็นต้นแบบของจังหวัดอื่นๆ”

ขณะเดียวกัน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากที่เคยใช้งบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน และสะพาน แต่วันนี้หลายแห่งเริ่มแล้ว ว่าต้องเข้ามาพัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานด้านซอฟต์พาวเวอร์” ทำให้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ จะไม่ใช่แค่งบจากส่วนกลางเท่านั้น แต่ท้องถิ่นจะเข้ามาทำเรื่องนี้มากขึ้นด้วย

ด้านไฮไลต์งานเฟสติวัลในไทยอย่าง “เทศกาลสงกรานต์” ทาง นพ.สุรพงษ์ บอกว่า แม้ปี 2567 จะมีเวลาเตรียมงานนี้ไม่มากนัก แต่ในปี 2568 จะมีการวิจัยเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์อย่างจริงจัง เพื่อต่อยอดการจัดงานให้ดียิ่งขึ้น รายได้สะพัดเพิ่มเป็น 2 เท่าในปีหน้า เพราะมีเวลาทำงานอีกทั้งปีจากนี้

“เป้าหมายของเราคืออยากเห็นคนทั่วโลกตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมาเที่ยวไทยช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ได้”

บรรจุเทศกาลสงกรานต์ลงใน “Bucket List” ของชีวิต เหมือนกับที่ใครหลายคนตั้งเป้าอยากไปสัมผัสประสบการณ์ ความอลังการที่เทศกาล “ริโอ คาร์นิวัล” ในประเทศบราซิล!