‘ไทยเบฟ’ตั้ง 5 บริษัทในกัมพูชา นำร่องลงทุนฐานผลิต 'โออิชิ'

‘ไทยเบฟ’ตั้ง 5 บริษัทในกัมพูชา  นำร่องลงทุนฐานผลิต 'โออิชิ'

ภารกิจสำคัญของ “ไทยเบฟ” โดย "ฐาปน สิริวัฒนภักดี" คือการเบ่งอาณาจักรความยิ่งใหญ่ธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารในภูมิภาคอาเซียน ขึ้นไปเทียบชั้นบิ๊กคอร์ประดับเอเชีย นอกจากมีฐานทัพธุรกิจ ยอดขาย รายได้ กำไร แต่ “มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด” หรือมาร์เก็ตแคปต้องมั่งคั่งด้วย

นอกจากตลาดในประเทศไทย “ไทยเบฟ” ยังมีพยายามสร้างฐานทัพ โรงงานผลิตสินค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน เพื่อเสิร์ฟสินค้าให้แก่ผู้บริโภค ล่าสุด จึงเห็นการตั้ง 5 บริษัท เพื่อเข้าไปลงทุนดำเนินธุรกิจในประเทศกัมพูชา ประกอบด้วย 1.Cambodia Beverage ที่ถือหุ้นโดย Oishi F&B(Singapore) และมีทุนจดทะเบียน 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อลุยธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในกัมพูชา 2.SEAL (Cambodia) ทุนจะทะเบียน 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3.SEAL (Cambodia) Logistics and Supply Chain ทุนจดทะเบียน 1.1 หมื่นล้านเรียลกัมพูชา หรือ 2.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทั้ง 2 บริษัทดังกล่าวจะรุกธุรกิจโลจิสติกส์ 4.Industrial Beverage ทุนจดทะเบียน 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5.ASMI (Cambodia) Industrial Management ทุนจดทะเบียน 4.38 หมื่นล้านเรียลกัมพูชา หรือ 10.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินในประเทศกัมพูชา

 

เดินเกมรุกเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ จากการประกาศแผนธุรกิจของไทยเบฟ บริษัทได้เตรียมงบลงทุนปี 2567 ประมาณ 7,000 ล้านบาท ในส่วนนี้วงเงิน 4,000 ล้านบาท จะนำไปสร้างโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศกัมพูชา และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนอีก 3,000 ล้านบาท จะลงทุนในประเทศไทย ด้านต่างๆ โดยเฉพาะ “โลจิสติกส์”

จะเห็นว่าการตั้ง 5 บริษัทในกัมพูชา เป็นการ “นำร่อง” ขยายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ภายใต้ “โออิชิ” และถือเป็นโรงงานนอกประเทศไทยครั้งแรกของแบรนดืด้วย หลังจากทำตลาดมาอย่างยาวนาน และขึ้นแท่น “เบอร์ 1” ชาเขียวพร้อมดื่มในกัมพูชาติดต่อกันมาหลายปี และตามแผนสร้างโรงงาน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ เดินเครื่องการผลิตสินค้าใน 2 ปี

“ปี 2567 บริษัทวางยุทธศาสตร์ขยายกลุ่มธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ทั้งเครื่องดื่มและอาหารไปในตลาดอาเซียนเต็มที่ เริ่มจากกลุ่มเครื่องดื่ม จะลงทุนในกัมพูชาสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มโออิชิ และเป็นโรงงานเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์แรกในอาเซียนของไทยเบฟ ซึ่งจะผลิตอย่างเป็นทางการภายใน 2 ปี” โฆษิต สุขสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการประเทศไทยหรือ Group COO-Thailand ไทยเบฟเวอเรจ เคยให้ข้อมูล

ตามแผนบริษัทยังวางเป้าหมายจะนำแบรนด์เครื่องดื่มโออิชิ ไปขยายตลาดทั้งในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ทั้งลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น พร้อมวางเป้าหมายใน 3-5 ปีจะนำเครื่องดื่มในเครือไปขยายตลาดที่เป็น New market entry ที่มีโอกาสขยายตัว จากแนวโน้มตลาดที่กำลังเติบโตและกลุ่มลูกค้าที่สนใจดูแลสุขภาพสูงมาก

 

เขมร จิ๊กซอว์ขยายสู่ลาว เวียดนาม และจีน

กัมพูชา เป็นตลาดที่ไม่ใหญ่นัก ประชากรไม่ถึง 20 ล้านคน แต่สิ่งที่ “ไทยเบฟ” มองคือการคว้าโอกาสใหญ่จากนโยบายส่งเสริมการค้าขายแดน การเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นลาว เวียดนาม รวมถึงตอนใต้ของประเทศ “จีน” ทำให้มองขุมทรัพย์ใหญ่จากผู้บริโภคหลัก “ร้อยล้านคน”

ขณะที่การรุกธุรกิจ “โลจิสติกส์” ควบคู่กันไป ถือเป็นกลยุทธ์ในการเสิร์ฟสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการขนส่งและกระจายสินค้า ถือเป็น “กระดูกสันหลัง” ที่เสริมแกร่ง และชี้วัด “แพ้-ชนะ” ในสนามการค้าได้