'หนี้ครัวเรือน'วิกฤติซ้ำซากที่รอการแก้ไข

'หนี้ครัวเรือน'วิกฤติซ้ำซากที่รอการแก้ไข

ปัจจัยเสี่ยงที่กดกำลังซื้อฉุดค้าปลีกค้าส่งและบริการ ยังคงเป็น 3 ปัจจัยหลัก 'ดอกเบี้ย-ต้นทุน-หนี้ครัวเรือน' โดยเฉพาะ 'หนี้ครัวเรือนไทย' ซึ่งถือเป็นปัจจัยฉุดหลักที่รอการเยียวยาแก้ไขตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา และยังอยู่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

KEY

POINTS

  • 3 ปัจจัยเสี่ยงหลัก ดอกเบี้ย ต้นทุน และ หนี้ครัวเรือน ยังคงกดกำลังซื้อฉุดค้าปลีกค้าส่งและบริการต่อเนื่อง
  • สินเชื่อรถยนต์ และ สินเชื่อบ้าน อัตราหนี้เสียสูงสุด
  • การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนระยะยาว ต้องเพิ่มรายได้ ลดหนี้ และให้ความรู้

ปัจจัยเสี่ยงที่กดกำลังซื้อฉุดค้าปลีกค้าส่งและบริการ ยังคงเป็น 3 ปัจจัยหลัก 'ดอกเบี้ย-ต้นทุน-หนี้ครัวเรือน' โดยเฉพาะ 'หนี้ครัวเรือนไทย' ซึ่งถือเป็นปัจจัยฉุดหลักที่รอการเยียวยาแก้ไขตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา และยังอยู่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

ทิศทางธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและบริการ ในปี 2567 พบว่า ดัชนี RSI เดือน ม.ค.2567 เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2566 'น่าวิตก' ปรับตัวลดลงจากเดือน ธ.ค. 9.7 จุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือน ธ.ค. ปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ

ปัจจัยเสี่ยงที่กดกำลังซื้อฉุดค้าปลีกค้าส่งและบริการ ก็ยังคงเป็น 3 ปัจจัยหลัก ดอกเบี้ย-ต้นทุน-หนี้ครัวเรือน โดย 'หนี้ครัวเรือนไทย' ซึ่งก็ถือเป็นปัจจัยฉุดหลักที่รอการเยียวยาแก้ไขตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา และยังอยู่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2566 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 16.199 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.9% ต่อจีดีพี ซึ่งยังมีอัตราเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับช่วงที่ผ่านมาถึง 3%

'สินเชื่อรถยนต์' และ 'สินเชื่อบ้าน' หนี้เสียสูงสุด

จากข้อมูลของเครดิตบูโร ที่รวมหนี้ทั้งระบบ ทั้งสถาบันการเงิน นอนแบงก์ และแบงก์รัฐ ในไตรมาส 4 ปี 2566 หนี้ครัวเรือนโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 13,683 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3.7% หากเทียบกับปีก่อน สะท้อนหนี้ครัวเรือนไทยยังมีทิศทางเติบโตได้ต่อเนื่อง

หากดูถึง 'คุณภาพ' หนี้ครัวเรือน พบว่าคุณภาพแย่ลงต่อเนื่อง โดยหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังอยู่ระดับสูง ที่ระดับ 1.05 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียรวมระดับ 7.7%

ที่น่าสังเกตคือ หนี้เสียหลายพอร์ตมีความเร็วในการโตมากขึ้น โดยเฉพาะ 'สินเชื่อรถยนต์' ที่ล่าสุด หนี้เสียมาอยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% หากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ถัดมาคือ หนี้เสียของสินเชื่อบัตรเครดิตการ์ด และสินเชื่อบุคคล ที่หนี้เสียเพิ่มขึ้นสูงถึง 12% ทำให้พอร์ตหนี้เสียโดยรวม ของเครดิตการ์ดมาอยู่ที่ 61,000 ล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคล 2.6 แสนล้านบาท

ขณะที่สินเชื่อบ้าน หนี้เสียเพิ่มขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 7% และ พอร์ตที่ค้างชำระมากสุดในปี 2566 คือ สินเชื่อบ้าน ที่มีหนี้มีปัญหาถึง 1.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดถึง 31.1% จากปีก่อน

หากดูไส้ในของหนี้ค้างชำระทั้งหมดใน 6 แสนล้านบาท เป็นพอร์ตที่อยู่กับแบงก์รัฐถึง 68% หรือ 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ 34% และสินเชื่อพีโลน 24%

หนี้ครัวเรือน เกิดจากอะไร

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า หนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ปี 2564 สูงถึง 89.3% ต่อจีดีพี  เพิ่มขึ้นจาก 80% เมื่อต้นปี 2563 และประมาณการว่า หนี้ครัวเรือนอาจจะเพิ่มสูงถึง 91% ต่อจีดีพี ในปี 2566

หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของวัตถุประสงค์การกู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของหนี้ครัวเรือน อันดับแรก การกู้ยืมเพื่อนำไปชำระหนี้สินเดิม (26%) อันดับสอง ใช้สอยส่วนตัว (24%) และอันดับสามใช้จ่ายด้านอื่นๆ (13%) ซึ่งแตกต่างจากการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ที่ส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อซื้อบ้านและรถยนต์

สหกรณ์ออมทรัพย์แม้จะมีจำนวนเพียง 1,394 แห่ง แต่มีมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 2,059,457 ล้านบาท การขยายตัวของสินทรัพย์สหกรณ์ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ โดยเงินให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ 169 แห่ง ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 1.8 ล้านล้านบาท สอดคล้องกับสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ขยายตัวมาอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ พบว่า สัดส่วนเงินฝากและเงินให้กู้ที่ส่วนใหญ่เป็นของสหกรณ์ครู อยู่ที่ 25% และ 43% ของปริมาณทั้งหมดตามลำดับ

ปัจจัยที่ทำให้ครัวเรือนมีรายรับไม่พอรายจ่าย ส่วนหนึ่งมาจากรายจ่ายไม่จำเป็น และส่วนใหญ่มาจากภาระหนี้ที่สูง ผลการศึกษาพบว่า การท่องเที่ยวเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ที่ครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหาควรลด โดยต้องลดลงถึง 83% จากปริมาณการใช้จ่ายปัจจุบัน เพื่อให้ครัวเรือนมีรายรับเพียงพอกับรายจ่าย รองลงมาคือ หมวดเสื้อผ้า ซึ่งครัวเรือนควรลดการใช้จ่ายถึง 73% ส่วนค่าอาหารนอกบ้าน และของใช้ส่วนบุคคลก็ควรลดลง 58% และ 54% ตามลำดับ 

นอกจากนี้ยังมีรายจ่ายอื่นๆ ที่ควรปรับลด การใช้จ่ายเพื่อสร้างวินัยและลดความเสี่ยงทางการเงินในครัวเรือน เช่น ค่าเหล้าและค่าหวยที่ควรลดลง ประมาณครึ่งหนึ่งของที่ใช้จ่ายในปัจจุบัน หากครัวเรือนปรับลดรายจ่าย ที่ไม่จำเป็นและนำเงินที่เหลือไปชาระหนี้ (ลดภาระหนี้) เพื่อลดเงินต้นอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ก็จะสามารถสร้างฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นได้ กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาและความอดทนอดกลั้นแต่สามารถทำได้

หนี้ครัวเรือนจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะหนี้ส่วนใหญ่ของคนไทยเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ส่วนในฝั่งผู้กู้ พบว่าผู้กู้ที่มีหนี้และมีหนี้เสียเยอะเป็นผู้กู้อายุน้อย เกษตรกรก็สะสมหนี้จนแก่ มีประเด็นแน่นอนในการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว และเห็นว่าผู้กู้มีการกู้หลายบัญชีมากขึ้นและมีความสัมพันธ์กับคุณภาพหนี้ที่ด้อยลง เห็นหนี้ที่กระจุกตัวที่อาจะมีความเสี่ยงเชิงระบบได้

การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เพิ่มรายได้-ลดหนี้-ให้ความรู้

'เพิ่มรายได้ของครัวเรือน' รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น ให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคการผลิตต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ของภาคครัวเรือน อุปสงค์ มวลรวมจะเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้ภาคการผลิตมีภูมิคุ้มกันที่ดี คือสามารถที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพิงสถาบันอื่นๆ จากภายนอก เศรษฐกิจของประเทศก็จะมีการพัฒนาได้ อย่างยั่งยืน ลดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยลง และการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น

เพราะตราบใดที่ครัวเรือนยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องก่อหนี้เพื่อนำไปใช้จ่าย ในภาพใหญ่คงต้องช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้แรงงานไทยเก่งขึ้น มีทักษะการทำงานที่ตรงกับความต้องการของตลาด

'ปลดหนี้เดิม' ในช่วงที่ผ่านมา หลายหน่วยงานริเริ่มมาตรการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ทยอยปรับตัวและหลุดพ้นจากปัญหาหนี้ที่ประสบอยู่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผลักดันหลายโครงการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ คลินิกแก้หนี้ และโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนสอดคล้องกับรายได้ที่เปลี่ยนไป

ด้านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เดินหน้าช่วยเหลือกลุ่มข้าราชการครูที่ประสบปัญหาหนี้สินสูง สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์เริ่มออกแบบมาตรการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกร อย่างไรก็ดี ยังคงต้องเร่งเดินหน้าต่อไปเพื่อทำให้หลายมาตรการที่ออกมาเกิดผลดีในวงกว้าง

'สร้างความตระหนักรู้ทางการเงินด้วยการให้มีบัญชีครัวเรือน' เพื่อไม่ให้เกิดการใช้จ่ายและการก่อหนี้ที่เกินตัว มีความตระหนักถึงความสำคัญของการออมและการลงทุน รู้จักวางแผนการเงินและบริหารความเสี่ยง บัญชีครัวเรือนเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นเรื่องของการรู้จักตนเอง สำคัญและเป็นวิถีชีวิต ถ้าครอบครัวหนึ่งทำบัญชีครัวเรือนอย่างดี นำบัญชีครัวเรือนมาดูก็จะรู้ว่าครัวเรือนนี้ดำรงชีวิตอย่างไร จนหรือรวย สุขภาพครอบครัวเป็นอย่างไร

การแก้ไขวิกฤตินี้ไม่ใช่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นการเฉพาะ การแก้ไขด้านรายได้ต้องทำควบคู่ไปกับการลดหนี้ ถ้าหนี้ลด แต่รายได้ไม่เพิ่ม สุดท้ายจะกลับไปเป็นหนี้อีก ดังนั้น การปรับขีดความสามารถทางการผลิตที่แข่งขันได้ในอนาคต จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการสร้างรายได้ของประชาชนและผู้ประกอบการ รัฐบาลต้องมองปัญหาหนี้และรายได้ให้ทะลุ รีบลงมือปฏิบัติก่อนที่สายเกินไป