7 ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ เตรียมเปิดทำการปี 2567

7 ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ เตรียมเปิดทำการปี 2567

ยักษ์รีเทลแลกหมัดต่อเนื่อง! เตรียมเปิดทำการห้างสรรพสินค้าอีก 7 แห่ง “กลุ่มเซ็นทรัล” เร่งเครื่อง ลุย 6 ศูนย์การค้า ครอบคลุมกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด ฟาก “เจ้าสัวเจริญ” ได้ฤกษ์เคาะระฆัง “One Bangkok” หลังทุ่มงบแสนล้าน ตั้งเป้าปั้นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของโลก!

Key Points:

  • ปีที่ผ่านมาธุรกิจค้าปลีกในไทยทั้ง “เจ้าใหญ่” และ “หน้าใหม่” พาเหรดเปิดเกมรุกกันต่อเนื่อง ปี 2567 ที่จะถึงนี้มีอีกหลายโปรเจกต์เตรียมเปิดทำการ รวมทั้งสิ้น 7 แห่ง
  • “กลุ่มเซ็นทรัล” รุกปักหมุดต่างจังหวัดทั้งเมืองหลัก-เมืองรอง โดยมีศูนย์การค้า “เซ็นทรัล” บุกเมืองใหญ่ ส่วนเมืองรองที่มีศักยภาพโตแรง เครือเซ็นทรัลส่ง “โรบินสันไลฟ์สไตล์” เข้ายึดหัวหาด
  • ศึกใจกลางกรุงเทพฯ ที่ดุเดือดที่สุดในปีนี้ต้องยกให้ “วัน แบงค็อก” (One Bangkok) เมกะโปรเจกต์ที่ใช้เงินลงทุนมากที่สุดของ “เจ้าสัวเจริญ” และโครงการมิกซ์ยูสหมื่นล้าน “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ที่มีระยะห่างระหว่างกันเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น


ปี 2566 นับเป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด ทั้งการมาถึงของห้างค้าส่งน้องใหม่จาก “เซ็นทรัล รีเทล” อย่าง “โก! โฮลเซลล์” (Go! Wholesale) การเปิดเกมรุกบุกเซกเมนต์ร้านสะดวกซื้อของบรรดาเจ้าสัวค้าปลีกเจ้าสนาม รวมถึงยักษ์คมนาคม “คีรี กาญจนพาสน์” ที่ขอข้ามห้วยเหยียบคันเร่งผุดร้านสะดวกซื้อ “เทอร์เทิล” (Turtle) สาขาใหม่แบบรัวๆ และล่าสุดกับบิ๊กโปรเจกต์ของเจ้าแม่ค้าปลีกเมืองไทย “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ที่ได้ฤกษ์เปิดทำการ “ดิ เอ็มสเฟียร์” (The EmSphere) จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของอาณาจักร “ดิ เอ็มดิสทริค” (The EmDistrict) เป็น “เดสทิเนชัน” แห่งใหม่ของเมืองไทย

แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะในปี 2567 ที่กำลังจะถึง บรรดา “บิ๊กรีเทล” เตรียมเปิดอีกหลายโครงการ ทั้งในโซนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล หัวเมืองต่างจังหวัด รวมถึง “เมืองรอง” ที่เคยเป็น “ม้านอกสายตา” มาวันนี้ถูกยกระดับเพื่อขับเคลื่อนศักยภาพเทียบชั้นเมืองหลักผ่านบิ๊กโปรเจกต์มากมาย ว่ากันว่าที่ไหนมีห้างที่นั่นจะมีความเจริญตามมาในไม่ช้า และหากได้เป็น “คนแรก” ที่เข้าไปเปิดเกมก่อนก็จะยิ่งสร้างความได้เปรียบ-ช่วงชิงตลาดได้เร็วยิ่งขึ้น

7 ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ เตรียมเปิดทำการปี 2567

  • พระราม 4 สุดเดือด “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ปะทะ “วัน แบงค็อก”

ความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มเซ็นทรัล” ในปี 2567 ที่จะถึงนี้มี “บิ๊กโปรเจกต์” สำคัญที่มีมูลค่ารวมมากถึง 46,000 ล้านบาท โดย “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” (Dusit Central Park) เป็นโครงการลักชัวรีมิกซ์ยูสภายใต้ความร่วมมือระหว่าง “กลุ่มดุสิตธานี” และ “กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา” ในนามของบริษัท “วิมานสุริยา” บนพื้นที่โรงแรมดุสิตธานีเดิมที่ปิดให้บริการไปตั้งแต่ปี 2562 บนทำเลทองหัวมุมถนนพระราม 4-สีลม ซึ่งจะประกอบไปด้วยศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงานสุดหรู

ในเฟสแรก “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” จะเปิดให้บริการส่วนของโรงแรมในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 จากนั้นจะทยอยเปิดอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโครงการที่พักอาศัยภายในปี 2569 โดยมีไฮไลต์สำคัญอย่างสวนสาธารณะลอยฟ้าขนาด 7 ไร่ เชื่อมต่อทั้งโครงการพร้อมลู่วิ่ง พื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง ฟาร์มผักออแกนิก ฯลฯ ภายใต้แนวคิดเรื่องอาคารสีเขียว

ข้อสังเกตของโครงการขนาดใหญ่ใต้ร่ม “กลุ่มเซ็นทรัล” ในระยะหลังจะพบว่า มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาพื้นที่ให้ครอบคลุม-ตอบโจทย์คนทุกกลุ่มมากขึ้น ไม่ได้วางจุดยืนตัวเองเป็นเพียงศูนย์การค้าหรือพื้นที่เชิงพาณิชย์สำหรับขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความเป็นอยู่แบบองค์รวมเพื่อเชื่อมโยงความเป็นกลุ่มก้อน-คอมมูนิตี้ของผู้คนด้วย

7 ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ เตรียมเปิดทำการปี 2567

ด้าน “วัน แบงค็อก” เมกะโปรเจกต์ของ “ตระกูลสิริวัฒนภักดี” ที่มี “ปณต สิริวัฒนภักดี” ลูกชายคนเล็ก “เจ้าสัวเจริญ” กุมบังเหียน หมายมั่นปั้นมือดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2561 ใกล้จะแล้วเสร็จและถึงคิวเปิดทำการในปี 2567 เช่นกัน โดยเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดถึง 120,000 ล้านบาท มีไฮไลต์สำคัญอย่าง “Signature Tower” ตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย โรงแรมกว่า 5 แห่ง พื้นที่ร้านค้าปลีก 180,000 ตารางเมตร ที่พักอาศัยสุดหรู 3 อาคาร เรียกว่า เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดและมีมูลค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการลงทุนในโครงการพัฒนาที่ดินของตระกูลราชาที่ดินเลยทีเดียว

กลุ่มสิริวัฒนภักดีตั้งเป้าส่ง “วัน แบงค็อก” เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ระดับโลก ด้วยทำเลทองใจกลางพระราม 4 เมื่อเปิดทำการในปีหน้าเราคงได้เห็นความคึกคักของย่านพระราม 4 กันมากขึ้นกว่าเดิม ประกอบกับ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ในบริเวณเดียวกันที่มีระยะห่างเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น 

  • “เซ็นทรัล” ลุยเมืองหลัก - ปักธงเมืองรองด้วย “โรบินสันไลฟ์สไตล์”

ในบรรดาศูนย์การค้าที่จะเปิดทำการในปีหน้า “4 จาก 7 แห่ง” มี “เซ็นทรัลพัฒนา” เป็นผู้พัฒนาโครงการ โดยในปี 2567 “เซ็นทรัลพัฒนา” ลุยเปิดศูนย์การค้าต่างจังหวัดเพิ่มอีกสามแห่ง ได้แก่ “เซ็นทรัล กระบี่” “เซ็นทรัล นครปฐม” และ “เซ็นทรัล นครสวรรค์” โมเดลของทั้งสามแห่งมีจุดร่วมเหมือนกัน คือเป็นโครงการ “มิกซ์ยูส” ตามกลยุทธ์ที่ “เซ็นทรัลพัฒนา” เดินเกมมาตลอดหลายปี 

ก่อนหน้านี้พื้นที่ จ.นครปฐม มี “เซ็นทรัล ศาลายา” ตามแผน “Strategic Rings” ปั้นย่านการค้าครอบคลุมทั่วทิศรอบกรุงเทพฯ อยู่แล้ว แต่แค่นั้นยังไม่พอเพราะก่อนหน้านี้ “ชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและโครงการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เคยให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ไว้ว่า จุดแข็งของ “เซ็นทรัลพัฒนา” คือการมีบิ๊กดาต้าหลังบ้านที่แม่นยำ โดยเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากบัตร “เดอะวัน” (The 1 Card) รวมถึงข้อมูลการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อเจาะลึกไลฟ์สไตล์และเป็นภาพสะท้อนกำลังซื้อของแต่ละพื้นที่ได้ตรงจุดมากขึ้น

ข้อมูลอินไซต์จากหลังบ้านของ “เซ็นทรัลพัฒนา” พบว่า “นครปฐม” เป็นเมืองที่มีศักยภาพโดดเด่น มีตัวเลขมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) โตต่อเนื่อง รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 21,000 บาท สามารถรองรับการขยายตัวจากกรุงเทพฯ ได้ ทั้งยังเป็นประตูเชื่อมต่อไปยังจังหวัดใกล้เคียงอย่าง “ราชบุรี” และ “กาญจนบุรี” ด้วย

7 ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ เตรียมเปิดทำการปี 2567

ด้าน “เซ็นทรัล นครสวรรค์” พบว่า มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด 120,000 บาทต่อปี เทียบเท่าจังหวัดหัวเมืองใหญ่อย่าง “ขอนแก่น” มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 21,000 บาท เท่ากับ “นครปฐม” ประกอบกับที่ตั้งที่ได้ชื่อว่า “ประตูสู่ภาคเหนือ” เป็นทางผ่านไปยังภาคเหนือตอนบน ทั้งยังมีพื้นที่แบบ “Catchment Area” ใกล้เคียงกับประชากรในจังหวัดใกล้เคียงอย่าง “กำแพงเพชร” “อุทัยธานี” “ชัยนาท” “ลพบุรี” และ “พิจิตร” ซึ่ง “เซ็นทรัลพัฒนา” ยังพบอีกว่า ชาวนครสวรรค์มักเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยที่ “เซ็นทรัล ลาดพร้าว” เป็นอันดับที่ 1 รองลงมาคือ ศูนย์การค้า “เซ็นทรัลเวิลด์”

สำหรับเมืองรองหรือจังหวัดที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อย “กลุ่มเซ็นทรัล” เลือกใช้โมเดล “โรบินสันไลฟ์สไตล์” ซึ่งเป็นส่วนงานบริหารภายใต้ “เซ็นทรัล รีเทล” ปี 2567 ที่จะถึงนี้เตรียมเปิดทำการเพิ่มอีกสองแห่ง ได้แก่ “โรบินสัน หนองคาย” และ “โรบินสัน นครพนม”

เหตุผลที่เลือกสองจังหวัดนี้ “ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล เคยให้ข้อมูลไว้ว่า “นครพนม” เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในฐานะเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเมืองหน้าด่านการค้าและการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งยังมีเขตติดต่อกับชายแดนเมืองท่าแขก ประเทศลาว รวมถึงโครงข่ายเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟรางคู่สายใหม่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ที่จะช่วยบริหารจัดการสินค้าและบริการได้ เช่นเดียวกับ “หนองคาย” ที่อยู่ในฐานะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ทั้งสองจังหวัดมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ มีกำลังซื้อทั้งจากคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวในขนาดพอเหมาะกับโมเดล “โรบินสัน”

“โรบินสันไลฟ์สไตล์” มักเลือกพื้นที่โซนนอกเมือง หรือตามเขตโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ โรบินสันไลฟ์สไตล์ ศรีสมาน, โรบินสันไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง, โรบินสันไลฟ์สไตล์ ราชพฤกษ์, โรบินสันไลฟ์สไตล์ อมตะนคร, โรบินสันไลฟ์สไตล์ บ่อวิน เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับสัดส่วนประชากรและขนาดเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าว ส่วน “โรบินสัน ดีพาร์ตเมนต์สโตร์” เป็นการแชร์พื้นที่ห้างสรรพสินค้าร่วมกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลที่บางครั้งเราอาจได้เห็นการผนึกกำลังร่วมกันของทั้งสองส่วนสำหรับพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

7 ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ เตรียมเปิดทำการปี 2567

  • “ซีพี” ส่ง “Hybrid Wholesale” ร่วมชิงเค้ก

ไม่เพียงครองส่วนแบ่งในตลาดค้าส่งและร้านสะดวกซื้อด้วยสัดส่วนมากที่สุด แถมยังได้ “เทสโก้ โลตัส” ห้างค้าปลีกลูกหม้อกลับมาสู่อ้อมอกอีกครั้งในปี 2563 โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา “กลุ่มซีพี” ได้ฤกษ์เปิดตัวห้างค้าปลีก-ส่งคอนเซปต์ใหม่ที่เป็นการผนึกจุดแข็งของ “แม็คโคร” และ “โลตัส” ไว้ด้วยกันในรูปแบบ “Hybrid Wholesale” ที่ “ซีพี” ระบุว่า จะช่วยมาช่วยเติมเต็มอีโคซิสเท็มของผู้ประกอบการท้องถิ่นให้เติบโตอย่างแข็งแรงมากขึ้น

ปัจจุบันสาขารูปแบบ “Hybrid Wholesale” ในชื่อ “แม็คโคร-โลตัส มอลล์” มี 2 แห่ง ได้แก่ สาขาสมุทรปราการ และสาขานครสวรรค์ สำหรับพื้นที่ จ.สมุทรปราการ “แม็คโคร” ให้เหตุผลในการปักธงว่า เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพโดดเด่น เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ และยังมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ มีผู้ประกอบการและผู้บริโภคอาศัยอยู่มากถึง 750,000 ครัวเรือน

แนวโน้มการเติบโตของพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ทำให้ “โก! โฮลเซลล์” เลือกย่านศรีนครินทร์เป็นสาขาแรกในการลุยธุรกิจค้าส่ง ซึ่งภายหลังห้างค้าส่งน้องใหม่เปิดทำการไปในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 “แม็คโคร-โลตัส มอลล์” ก็ลั่นระฆังเปิดสาขาแรกในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ต่อทันที ด้วยระยะห่างระหว่างกันเพียง 4 กิโลเมตรเศษๆ เท่านั้น

7 ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ เตรียมเปิดทำการปี 2567

ความดุเดือดของสนามค้าปลีก-ค้าส่ง ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะ “แบงค็อก มอลล์” (Bangkok Mall) ศูนย์การค้าย่านบางนาบนพื้นที่ 1,200,000 ตารางเมตร ยังเป็นอีกแห่งที่ถูกจับตามองด้วยสเกลที่เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะได้ชื่อว่า เป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศทันที รวบรวมไว้ตั้งแต่พื้นที่ค้าปลีก อารีน่าสำหรับจัดแสดงคอนเสิร์ต โรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ (IMAX) สวนสนุก สวนน้ำ ฟิตเนส ฯลฯ ด้วยมูลค่าการลงทุน 50,000 ล้านบาท

หลังจากนี้ผู้บริโภคอย่างเราคงต้องติดตามกันยาวๆ ว่า บรรดายักษ์ค้าปลีกจะออกอาวุธเตรียมประชันกันด้วยท่วงท่าใดบ้างท่ามกลางสมรภูมิที่ดุเดือดแบบไม่มีใครยอมใคร!

 

อ้างอิง: Bangkokbiznews 1Bangkokbiznews 2Bangkokbiznews 3Bangkokbiznews 4Bangkokbiznews 5Bangkokbiznews 6Brand BuffetMatichon 1Matichon 2One BangkokPrachachatThairathThansettakijTODAY 1TODAY 2TODAY 3