‘พิพัฒน์’ ลั่นขึ้นค่าแรง ‘ของขวัญปีใหม่’ ยันขั้นต่ำไม่กระทบ ‘เอสเอ็มอี’

‘พิพัฒน์’ ลั่นขึ้นค่าแรง ‘ของขวัญปีใหม่’  ยันขั้นต่ำไม่กระทบ ‘เอสเอ็มอี’

'พิพัฒน์' รมว.แรงงาน ยันประกาศปรับขึ้น 'ค่าแรงขั้นต่ำ' เป็น 'ของขวัญปีใหม่' แน่ แต่ไม่ยืนยัน 400 บาท ขอหารือกับ 'คณะกรรมการไตรภาคี' เคาะให้ชัดก่อน บนพื้นฐานเงินเฟ้อและค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดเป็นหลัก คาดได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้

ประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ร้อนแรงนับตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และจะขยับให้ได้ตามอัตราดังกล่าวโดยเร็วที่สุด คาดมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ส่งผลให้ “กระทรวงแรงงาน” ซึ่งมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ จากพรรคภูมิใจไทย นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ ถูกจับตามองว่าจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวได้หรือไม่ ภายใต้โจทย์เศรษฐกิจไทยสุดท้าทาย โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพพุ่ง กดดันทั้งตลาดแรงงานและผู้ประกอบการ

นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า รัฐบาลจะมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่มอบแก่ภาคแรงงานแน่นอน แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะปรับขึ้นเป็นอัตราขั้นต่ำ 400 บาท/วันหรือไม่ เพราะต้องขอหารือร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และตัวแทนภาครัฐ เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะปรับขึ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์ตามความเหมาะสม บนพื้นฐานค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ค่าแรงในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งไม่เท่ากัน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยมาเป็นฐานตั้งต้น โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในสิ้นเดือน พ.ย. 2566

“การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2567 ฝ่ายนายจ้างจะต้องไม่เดือดร้อนด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) ต้องไม่หายตายจากไป เนื่องจากผู้ประกอบการ SME ถือครองแรงงานก้อนใหญ่ที่สุดของทั้งแรงงานชาวไทยและต่างด้าว”

อานิสงส์ ‘ขึ้นค่าแรง’ ดูดแรงงานต่างด้าวทะลัก

ทั้งนี้ยืนยันว่าการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่สามารถแยกใช้เฉพาะแรงงานชาวไทยได้ ต้องประกาศใช้กับแรงงานต่างด้าวด้วย เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับค่าแรงขั้นต่ำเท่าเทียมกัน โดยเชื่อว่าเมื่อมีประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว จะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีมากกว่า 5 ล้านคน และคาดการณ์ด้วยว่าในระยะยาว 20-30 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะอุดมไปด้วยแรงงานต่างด้าวเกิน 50% ของแรงงานทั้งหมด เนื่องจากปัจจัยทางประชากรศาสตร์ ประเทศไทยมีอัตราการเกิดใหม่ต่ำ ทำให้มีแรงงานชาวไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการจ้างงาน

“กระทรวงแรงงานจะเร่งหาวิธีเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน (Upskill) ของแรงงานชาวไทย เพื่อให้ได้รับค่าแรงอย่างน้อย 400 บาทต่อวันให้ได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะอาชีพสงวนของคนไทย”

เร่งจัดหา ‘แรงงานท่องเที่ยว’ ชดเชย 25% ที่หายไป

นายพิพัฒน์ กล่าวบนเวทีประชุมสมาชิกของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ประจำเดือน ก.ย. 2566 ในหัวข้อ “นโยบายการยกระดับแรงงานภาคท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” วานนี้ (28 ก.ย.) ว่า ย้อนไปเมื่อครั้งตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในรัฐบาลชุดที่แล้ว เมื่อปี 2562 ภาคท่องเที่ยวไทยที่กำลังบูมขั้นสุด มีแรงงานมากกว่า 4 ล้านคน แต่เมื่อเจอวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานท่องเที่ยวหายไปมากถึง 40% โดยปัจจุบันกลับมาบ้างแล้วตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แต่ยังหายไป 25% หรือคิดเป็นประมาณ 1 ล้านคน จากแรงงานท่องเที่ยวเดิม จึงมีความจำเป็นต้องเร่งจัดหาแรงงานมาชดเชย เพื่อรองรับดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังฟื้นตัว

หลังจากล่าสุด รัฐบาลได้ประกาศดำเนินมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) หรือ วีซ่า-ฟรี เพื่อการท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว ให้แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน อนุญาตให้พำนักในไทยได้ไม่เกิน 30 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 - 29 ก.พ. 2567 เป็นระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ช่วยกระตุ้นดีมานด์การเดินทางและเศรษฐกิจในช่วงไฮซีซันนี้

 

ย้ำนโยบาย ‘ลดการเสียสมดุลแรงงาน’

“แต่จากที่สมาคมด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ได้เสนอให้ปลดล็อกการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศอื่นๆ เพิ่มได้ เช่น จากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เมื่อตนมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกได้เลยว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ เพราะเราสามารถผลักดันแรงงานชาวไทยที่ยังไม่มีงานทำ โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่กำลังหางาน สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีระดับหนึ่ง ให้เข้ามาฝึกฝนความเชี่ยวชาญด้านงานบริการท่องเที่ยวและบริการได้ ซึ่งปัจจุบันมีความหลากหลายกว่า 13 สาขาวิชาชีพท่องเที่ยว”

โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับ 4 กระทรวงด้านสังคม ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ซึ่งทำงานกันอย่างใกล้ชิดภายใต้การดูแลของพรรคภูมิใจไทย ด้วยการจัดทำ MOU หรือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เกี่ยวกับการผลิตแรงงาน และเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อสามารถผลิตแรงงานได้ทันความต้องการของผู้ประกอบการ

“อย่างแรงงานภาคท่องเที่ยวถือเป็นตลาดที่มีความต้องการสูง ทุกประเทศกำลังขาดแคลนแรงงานท่องเที่ยว เห็นได้จากแรงงานไทยบางส่วนตัดสินใจไปทำงานด้านท่องเที่ยวที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง เช่น นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ที่ให้เงินเดือนสูงกว่าในประเทศไทย โดยกระทรวงแรงงานจะเร่งผลิตคนป้อนตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศไทยให้ได้ก่อน ผมต้องหาวิธีการ ทำทุกวิถีทาง เพื่อลดการเสียสมดุลแรงงาน” นายพิพัฒน์กล่าว

 

ทัวริสต์ต่างชาติสะสม 19.5 ล้านคน

ด้านรายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า จากสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมร่วม 9 เดือนแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 24 ก.ย. 2566 พบว่ามีจำนวน 19,499,116 คน เพิ่มขึ้น 259% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 มาเลเซีย จำนวน 3,184,562 คน อันดับ 2 จีน จำนวน 2,403,226 คน อันดับ 3 เกาหลีใต้ จำนวน 1,155,782 คน อันดับ 4 อินเดีย 1,128,868 คน และอันดับ 5 รัสเซีย จำนวน 976,969 คน