เมื่อ Barbie มีคดีกับ Burberry | พิเศษ เสตเสถียร

เมื่อ Barbie มีคดีกับ Burberry | พิเศษ เสตเสถียร

“Barbie Movie” เป็นภาพยนตร์ไลฟ์แอคชันแฟนตาซีที่ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างจากตุ๊กตาของเล่นชื่อดัง-Barbie (บาร์บี้) ซึ่งเป็นตุ๊กตาที่อยู่ในความทรงจำของเด็กผู้หญิงมายาวนานกว่า 60 ปี โดยเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท Mattel

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา Mattel ได้ขอให้สำนักงานเครื่องหมายการค้าของสหรัฐ (U.S. Trademark Office) ปฏิเสธคำขอของบริษัท Burberry ที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “BRBY” โดยอ้างว่ามีแนวโน้มที่จะสร้างความสับสนกับแบรนด์ตุ๊กตาบาร์บี้ที่มีชื่อเสียงของ Mattel 

ข้างฝ่าย Burberry นั้นก็ไม่ใช่ธรรมดา เพราะเป็นเครื่องหมายแฟชั่นสุดหรูของอังกฤษที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2399 สินค้าลวดลายตารางที่เรียกว่า The Burberry Check นับเป็นเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงของ Burberry

Burberry ได้ยื่นขอเครื่องหมายการค้า “BRBY” ในปี 2565 ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าใหม่ ฝ่าย Mattel กล่าวว่า เครื่องหมายการค้าใหม่ของ Burberry มีความคล้ายคลึงกับของตัวเองอย่างมาก

Mattel กล่าวว่า “BRBY” และ “Barbie” นั้น “ดูคล้ายกัน” (visually similar) และ “เหมือนกันในการออกเสียง” (phonetically identical) และผู้บริโภคอาจมองว่า “BRBY” เป็น “ส่วนย่อยหรือส่วนเสริมของเครื่องหมายการค้า Barbie” (a subset or expansion of the Barbie trademarks) ผลสุดท้าย เรื่องจะลงเอยอย่างไร จะต้องไปศาลต่อหรือไม่ก็คงต้องติดตามกัน

มีข้อที่น่าสนใจที่ Mattel อ้างว่านอกจากตัวเครื่องหมายการค้าจะเหมือนคล้ายกันแล้ว ยังออกเสียงเหมือนกันอีกด้วย เป็นการเอาการออกเสียงมาเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของเครื่องหมายการค้า ซึ่งในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ในมาตรา 4 ก็บัญญัติรับรองไว้เช่นกันว่า “เครื่องหมายการค้า” นั้นรวมถึง “เสียง” ด้วย

ส่วนในมาตรา 6 ก็บัญญัติไว้ว่า เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ ต้องประกอบด้วยลักษณะ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ

(2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ และ

(3) ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้ว

ในประเทศไทยนั้นก็มีปัญหาแบบเดียวกัน คือมีการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เรื่องความเหมือนคล้ายของเครื่องหมายการค้านี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1778/2514 ซึ่งมีสาระสำคัญว่า

โจทก์จดทะเบียนการค้าคำว่า “DEGUADIN” ซึ่งใช้กับสินค้ายาอมแก้เจ็บคอ แก้หวัด จำเลยมาขอจดทะเบียนคำว่า “DEORADIN” ใช้กับสินค้ายาอมแก้เจ็บคอและหวัดเช่นเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยเป็นตัวอักษรโรมันทั้งหมด 8 ตัวเท่ากัน พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ขนาดไล่เลี่ยกัน ตัวอักษรเหมือนกันถึง 6 ตัว… ฯลฯ

จำเลยมีข้อต่อสู้หลายประการ แต่ที่เด็ดสุดก็คือ กล่องยาของโจทก์ “สีส้ม” แต่ของจำเลย “สีแสด” เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความเหมือนคล้าย!?!? แต่ศาลท่านไม่เห็นด้วย จึงได้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นการลวงสาธารณชนให้เข้าใจผิดสับสน

เรื่องเครื่องหมายการค้าเป็นเรื่องที่ทำให้เราๆ ท่านๆ สับสนได้จริงๆ.