7 ผู้ว่าแบงก์ชาติ เน้นรักษาแก่น นำพาเศรษฐกิจไทยพ้นวิกฤติ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานสัมมนา “เหลียวหลังแลหน้ากับผู้ว่าการ ธปท." ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้การทำหน้าที่ของธนาคารกลางจากอดีตส่งต่อสู่ออนาคต ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการ ธปท.คนที่ 18 กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงในระยะข้างหน้า คือ การขาดดุลทางการคลังติดต่อกันนาน ขณะที่ภาระการคลังสูงขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมาภาครัฐทำนโยบายต่อเนื่องเกี่ยวกับประชานิยม ทำให้ประชาชนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นฐานะการคลังวันนี้ซ่อนปัญหาระยะยาวไว้จำนวนมาก เมื่อภาคการคลังไม่สามารถดูแลได้ดีกว่านี้ ภาระจึงตกมาอยู่ที่นโยบายการเงิน

“หลายปัญหาไม่ได้มาจากภาคธุรกิจหลัก แต่ปัญหามาโผล่ที่ภาคการเงิน ไม่ใช่ว่าภาคการเงินไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้นมองว่าปัญหาต้องพยายามออกแรง และมีการพูดคุยกับรัฐบาล แต่เขาก็ไม่ค่อยฟัง ยิ่งภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเมือง ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง การพูดคุยต่างๆอาจเหนื่อยมาก แต่เราก็พยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด และเมื่อต้องออกนโยบายที่ชัดเจน ในขณะที่คนอื่นๆไม่ชอบ เราต้องใจแข็งที่ต้องทำ เพราะหากไม่มีภาคการเงินเป็นด่านสุดท้าย ก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ตรงไหน”

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ต้องเชื่อมั่นในหลักการที่ทำ ต้องถูกต้อง มีจุดยืน แม้จะไม่ใช่นโยบายที่เป็นที่นิยมแต่ต้องเป็นประโยชน์กับส่วนรวม อีกทั้งเชื่อว่าการดำเนินนโยบายการเงิน ต้องมีหลายองค์ประกอบ ความพอดี สมดุล คล่องตัว และหลักการระมัดระวัง เป็นหลักการที่ใช้ได้ที่จะช่วยเสริมกับสิ่งใหม่ อีกทั้งหน้าที่ ธปท.คือการสร้างความน่าเชื่อถือ ต้องเป็นองค์กรที่มีบุคลากรเข้มแข็ง และต้องเป็นองค์กรที่ต้องสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียที่วันนี้มีมากขึ้น

 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท.คนที่ 20 กล่าวสอดคล้องกันว่า การดำเนินนโยบายการคลังวันนี้ ไม่ได้ดำเนินนโยบายที่มีนโยบาย แต่เป็นการใช้เงินไปเรื่อยๆ และไม่ดำเนินนโยบายในสิ่งที่ควรดำเนิน เพราะหากทำในสิ่งที่ควรทำ ควบคู่ไปกับการใช้นโยบายการเงิน ก็คงไม่มีปัญหาอะไร ดังนั้นอยู่ตรงที่ผู้นำรัฐบาลมากกว่าว่าคิดเรื่องเหล่านี้หรือไม่

ดังนั้นประเทศชาติวันนี้ ต้องเน้นการดำเนินนโยบายการคลังที่จริงจัง ชัดเจน ขณะที่นโยบายการเงิน ก็ต้องช่วยทำหน้าที่ซัพพอร์ต การเติบโตของเศรษฐกิจพอสควร เพราะหากไม่มีการเติบโต การเก็บภาษีก็ไม่ได้

ทั้งนี้ด้านการดำเนินนโยบายการเงิน ต้องประสานกันระหว่างนโยบายการเงินการคลังเพื่อให้เกิดผลที่ดีที่สุด ต้องประสานงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เข้าใจ ไม่ควรทำตัวเหนือกระทรวงการคลัง แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำตามเขาทั้งหมด แต่ต้องฟังและเข้าใจ เพื่อหาทางที่ดีที่สุดของประเทศชาติ

สุดท้ายคือการให้ความสำคัญ กับสถาบันการเงิน ที่เหมือนลูกไม่ใช่ศัตรู หากผิดก็ลงโทษ แต่ไม่ใช่ลงโทษเพื่อทำลาย เพราะธนาคารเป็นกำลังสำคัญในการหนุนเศรษฐกิจ ธปท.ช่วยเศรษฐกิจไม่ได้ หากไม่มีธนาคารพาณิชย์

“การดำเนินนโยบายการเงิน ต้องเน้นอิสระ ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนึงว่าต้องเป็นที่พอใจของคนที่มีอำนาจนักการเมืองหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทำตัวเป็นอิสระไม่ฟังใคร ก็ต้องระวัง ผมต้องติงไว้ เพราะกลัวทุกคนจะเป็นอิสระแล้วไม่ฟังใคร”

 

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่า ธปท.คนที่ 21 กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ ธปท.คือ การดูแลนโยบายการเงินและเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ แต่พันธกิจของเรา คือ การพัฒนาความอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน ฉะนั้น หัวข้อที่เกี่ยวข้องไม่ใช่แค่นโยบายการเงินกับเสถียรภาพนโยบายการเงินเท่านั้น 

“ถ้ามองย้อนไปหลังเกิดวิกฤติโลก ประเทศต่างๆใช้นโยบายค่อนข้างน้อย แต่อิงนโยบายการเงินเป็นส่วนใหญ่ มีการปั๊มเงินเข้าระบบ ก็เป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น แต่ผลพวงความเสียหายได้โยงมาถึงทุกวันนี้ ฉะนั้น คำว่า ขว้างงูไม่พ้นคอ จึงเป็นแบบนี้”

อย่างไรก็ตามมองว่า ทุกเครื่องจักรของเศรษฐกิจต้องเดินควบคู่กัน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของ ธปท.ผู้เดียว แต่เรามีหน้าที่ในฐานะเป็นเสาหลักของประเทศ ซึ่งประสานงานกับอีก 3 หน่วยงานเศรษฐกิจได้  คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ

ทั้งนี้ ธปท.ควรพิจารณาว่าหลังโควิด-19 จะมีอะไรเปลี่ยนหรือไม่และเปลี่ยนยั่งยืนแค่ไหน ซึ่งมองว่าการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองในโลกจะเกิดขึ้น ซึ่งจะมีผลพวงกับภาคเศรษฐกิจและภาคการเงิน ระบบการชำระเงินจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น โจทย์มีเยอะมาก จำเป็นที่ธปท.ต้องเข้าไปมีบทบาท แม้กระทั่งเรื่องที่เราไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่จำเป็นต้องมีส่วนสนับสนุน

นอกจากนี้ ยังขอย้ำเรื่องบริหารความเสี่ยง ที่เป็นเรื่องสำคัญ ต้องคิดเผื่ออนาคตหากสถาบันการเงินมีปัญหา ดังนั้นยามแข็งแรง จะต้องทำอย่างไร ไม่ใช่ว่า กำไรออกมาเยอะ เอาไปแจกปันผลหมด ถึงเวลาจะต้องกันสำรองมากขึ้น เหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งในโลกที่พลิกผันเปลี่ยนแปลงเร็ว การระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ ฝากถึงผู้ว่าการธปท.คนปัจจุบัน ต้องยึดความถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่คำนึงถึงผลพวงที่จะเข้ามากระทบ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท.คนที่ 22 กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วง คือ ปัญหาใหญ่ยังมองว่ามาจากธรรมาภิบาล (Governance) ระบบยุติธรรม ที่วันนี้คนไม่น้อยรู้สึกว่า เป็นระบบที่ไม่ยุติธรรมที่เป็นปัญหาสำคัญ

ทั้งนี้ ความเป็นสถาบัน ธปท.ประกอบด้วย 3 เสาสำคัญ คือ 1.กรอบนโยบายการเงินที่ยืดหยุ่น มีธรรมาภิบาล มีเครื่องมือที่เพียงพอ โปร่งใส ในการแก้ไขปัญหาขณะนั้น

2.การมีบุคลากรที่มีความสามารถ มีระบบ มีประสิทธิภาพ 3.การมีประวัติศาสตร์ที่ดีงาม ระบบค่านิยมถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้ค่านิยมสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนไป

“เราหนีไม่พ้นที่จะถูกวิจารณ์ เช่นหลักการทำงานของเราเหมือนหอคอยงาช้าง มันสะท้อนว่าคุณสมบัติสองอย่างอยู่สูง ไม่ติดดิน ไม่แตะคนอื่นๆ เป็นที่มาว่าระยะหลังๆ ค่านิยม ธปท.จึงต้องส่งเสริม ควบคู่ไปกับการกระตุ้น และพยายามสร้างค่านิยม ของการยื่นมือติดดิน”

 

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท.คนที่ 23 กล่าวว่า หลักที่เป็นคุณค่าหลักของ ธปท.คือ ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และ ติดดิน ยังเป็นหลักที่สำคัญมาก แต่บริบทการตีความอาจจะต้องปรับให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาะแวดล้อมและความท้าทายที่เราเผชิญ

ทั้งนี้บทบาทของผู้กำกับดูแล จะต้องเข้าไปเปลี่ยนแปลงความบิดเบือนหลายๆอย่าง โดยเฉพาะในสภาวะที่เกิดวิกฤติ แม้บางเรื่องไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขตธปท.โดยตรง แต่ถ้าเราไม่กล้าทำ จะขว้างงูไม่พ้นคอ ทำให้ผลเสียที่เกิดขึ้นมากกว่ามาก

ส่วนเรื่องของมองไกลนั้น จะต้องมองกว้างด้วย เพราะระบบเศรษฐกิจที่เราเผชิญมีความเชื่อมโยงกันสูงหลายองค์ประกอบหลายปัจจัย ฉะนั้น ต้องมองไกลไปถึงทางออกด้วย

ดังนั้นการยื่นมือ และ ติดดินเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะไม่ว่า จะมีกรอบกฎหมายต่างๆ แต่ที่สุดแล้วเราต้องชนะใจประชาชน และธปท.ต้องมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งประชาชนจะต้องเห็นประโยชน์ เห็นผลงานที่เราทำ

     "เรื่องดังกล่าวบางคนคิดว่า ความเป็นอิสระของธปท.คือ ธปท.จะทำอะไรก็ได้ ไม่จริงเลย ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ว่าธปท.ก็มีสิทธิ์เสนอชื่อเป็นกรรมการ ธปท.และปลัดกระทรวงการคลังก็สามารถที่จะเสนอชื่อได้เช่นเดียวกัน ถ้าเสนอชื่อไม่ตรงกัน คนที่ผู้ว่าธปท.เสนอมักจะไม่ได้รับเลือก ก็จะเป็นฝั่งทางคลังเสนอชื่อเป็นส่วนใหญ่ จะเห็นว่า มีกลไกการคานอำนาจซึ่งกันและกัน”

 

 

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่า ธปท.คนที่ 19 กล่าวว่า แนะนำให้ผู้ว่า ธปท.จัดสัมมนา Year end ซึ่งสัมมนาของ ธปท.ได้มีการโต้เถียงในความคิดระหว่าง ธปท.เอกชน และนักวิชาการอย่างเต็มที่ต่อการแก้ไขปัญหาเหมือนในอดีต ถ้าทำได้จะช่วยประเทศได้อย่างมาก เพราะจะเป็น กระบวนการแก้ไขความผิดพลาด และความคิดของ ธปท.จะถูกเปิดขึ้น

 

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.เปิดเผยว่า  80 ปี ที่ผ่านมาของ ธปท.เจอการเปลี่ยนแปลงมาก และเจอหลายวิกฤติที่มีความท้าทายแตกต่างกัน

 ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินของผู้ว่าการ ธปท.ต่างมีโจทย์เดียวกัน คือ ทำให้ ธปท.ทำหน้าที่ธนาคารกลางดูแลเศรษฐกิจได้เต็มความสามารถและดีที่สุด ผ่านการออกมาตรการเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤติที่ผ่านมา

  สำหรับปัจจุบัน มองว่าเศรษฐกิจและภาคการเงินไทยยังต้องเผชิญความท้าทายต่อเนื่องในรูปแบบที่ต่างจากเดิม จากแรงขับเคลื่อนหลัก ทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี กระแสความยั่งยืน ความเหลื่อมล้ำ ที่ทำให้การดำเนินนโยบายต้องเปลี่ยนไป ดังนั้นผู้ประกอบการและผู้กำกับต้องปรับตัวไปด้วยกัน

ตัวอย่างที่เห็นชัดของการปรับตัวของ ธปท.คือ การผลักดัน Financial Landscape หรือ ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยในอนาคต เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายใหม่ รวมถึงวิกฤติใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้รูปแบบของความท้าทายจะเปลี่ยนไป แต่แก่นหรือหน้าที่ของ ธปท.ในการรักษาเสถียรภาพยังคงเดิมภายใต้โลกที่เปลี่ยนเร็ว แต่เรายังคงรักษาแก่นของเรา คือ การทำตามพันธกิจให้ได้ 

ดังนั้น ธปท.หวังว่าองค์ความรู้ที่สั่งสมมาจะทำให้ ธปท.นำพาระบบเศรษฐกิจผ่านพ้นวิกฤติและความท้าทาย เพื่อสร้างรากฐานทางการเงินของประเทศ ให้เข้มแข็งและส่งต่อไปยังรุ่นต่อไปได้

 

 

"อาคม" ยันฐานะการคลังแกร่ง-เดินนโยบายเหมาะสม

หลัง 6 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศออกมาแสดงความกังวลถึงนโยบายและการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านฐานะการเงินการคลังของประเทศและทำให้การจัดทำงบประมาณอยู่ในระดับขาดดุลต่อเนื่อง​

วานนี้(7เม.ย.)นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนต่อกรณีดังกล่าว โดยยืนยันว่า ขณะนี้ ฐานะการคลังแข็งแกร่ง และ รัฐบาลก็เดินนโยบายอย่างเหมาะสม ไม่ได้ใช้จ่ายเงินเกินตัว พร้อมทยอยลดระดับการขาดดุลงบประมาณลง ชี้ทุกวิกฤตก็มีการกู้เงิน

“การดำเนินนโยบายการคลังในช่วงที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีการใช้จ่ายเกินตัว และระดับการขาดดุลงบประมาณก็เริ่มลดลงแล้วในปีงบประมาณ 2566 อย่างไรก็ดี ระดับการขาดดุลงบประมาณก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น เพียงแต่จะต้องลดขนาดลงมา”นายอาคมกล่าว

สำหรับการนโยบายการเงินนั้น เขากล่าวว่า ก็ต้องทำให้มั่นใจว่า เศรษฐกิจมีการฟื้นตัว และมีโอกาสฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาในอดีต นโยบายอัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวค่อนข้างเร็ว เมื่อเห็นสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ก็มีการปรับนโยบายดอกเบี้ยขึ้นเลย แต่ครั้งนี้ ต้องขอบคุณผู้ว่าแบงก์ชาติที่มีความเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องด้านต้นทุนและไทยก็ยังมีโควิดที่ยังต่อเนื่อง ยังไม่จบ ซึ่งก็ทำให้เห็นว่า นโยบายการเงินได้ทำงานร่วมกับนโยบายการคลัง

เขากล่าวด้วยว่า ในเรื่องการกู้เงินนั้น ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดวิกฤตโควิด และในอดีตที่ผ่านมา ก็เกิดวิกฤต 2 ครั้งในปี 40 และปี 52 ซึ่งในวิกฤตแต่ละครั้งก็ได้มีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งเงินที่กู้มาก็เป็นภาระของคลังด้วย ดังนั้น ทุกวิกฤตก็มีการใช้เงิน ทำให้จำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ

สำหรับหนี้สาธารณะนั้น ก็มีการปรับเพดานขึ้นเหมือนในอดีต แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวก็มีการปรับเพดานลงมา ซึ่งเป็นการช่วยประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนเรื่องที่จำเป็นต้องทำและในอดีตไม่มีการทำ คือ การปรับโครงสร้างประเทศ โดยเฉพาะในด้านการจัดเก็บรายได้จากภาษี ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง มีแต่การทำนโยบายลดอัตราภาษี เช่น ภาษีนิติบุคคล ที่จำเป็นต้องปรับลดลงมา เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ ดังนั้น เมื่อลดภาษี รายได้ของรัฐก็ไม่เข้า จึงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้น รวมทั้ง การขยายฐานภาษี

 

“ในอดีตที่ผ่านมาเราไม่ค่อยทำในเรื่องนี้ ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการลงทุน ซึ่งเป็นการลงทุนถนนหนทาง ที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับชนบท ทำให้สินค้าออกสู้ตลาดได้ ขณะเดียวกัน รายจ่ายประจำก็เพิ่มขึ้นสูงไปด้วย โดยเฉพาะรายจ่ายเรื่องสวัสดิการต่างๆ ปัจจุบันก็มีประเด็นเรื่องการดูแลผู้สูงอายุด้วย ดังนั้น จำเป็นต้องปรับโครงสร้างรายได้ แต่ทุกครั้งเมื่อมีการพูด ก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะทุกคนไม่ชอบ ซึ่งกระทบต่อโครงสร้าง แต่เป็นสิ่งที่คลังจะต้องทำในช่วงต่อไป”

ส่วนภาวะ stagflation นั้น ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสพบกับรองปลัดกระทรวงการคลังของสหรัฐ ระบุว่า ที่ผ่านมาในสหรัฐก็มีการพูดถึงภาวะ stagflation แต่ปัจจุบันไม่มีการพูดถึงแล้ว ซึ่งภาวะ stagflation คือ ภาวะที่เงินเฟ้อสูง และจีดีพีปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ดี ขณะนี้จีดีพีของไทยยังโต แต่โตไปพร้อมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจในแง่เชิงปริมาณขยายตัวอยู่แล้ว ซึ่งไม่น่ากังวล แต่ยอมรับว่า มีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ เพราะราคาต้นทุนที่สูงขึ้นจะทำให้การใช้จ่ายเรื่องการบริโภคชะลอตัวลง ดังนั้น ต้องคุมเรื่องของเงินเฟ้อให้ได้

ส่วนกรณีที่เอกชนเสนอให้มีการต่อโครงการคนละครึ่งอีก 1,500 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงที่สินค้ามีราคาสูงขึ้นนั้น นายอาคม กล่าวว่า คนละครึ่งเป็นมาตรการชั่วขณะที่ต้องทำในช่วงที่กำลังซื้อมีการอ่อนตัว แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้น คนเริ่มกลับเข้าทำงาน เงินที่เคยหายไปหรือลดลง ก็จะกลับมาจ่ายเต็มเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น กำลังซื้อก็จะกลับมา และรัฐบาลก็จะลดมาตรการลงไป และล่าสุดรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการพุ่งเป้าไปถึงกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว

 

ด้านนายกฤษฎากล่าวถึงกรณีที่อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกมาระบุถึงกรณีการจัดทำงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็มีการทำงบประมาณขาดดุลมาโดยตลอด มีเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น ที่สามารถทำงบประมาณสมดุลได้ สาเหตุเพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา จึงจำเป็นที่ต้องมีการลงทุนในโครงสร้างเพื่อให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต

“ตราบใดที่เป้าหมายตัวเลขเศรษฐกิจที่ต้องการให้เติบโต เราก็ต้องมีงบลงทุน ดังนั้น จึงเป็นนโยบายเพื่อให้เศรษฐกิจโตขึ้น ซึ่งก็คือนโยบายขาดดุลที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาโดยตลอด”

ขณะเดียวกัน ตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยก็ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ กล่าวคือ ยังไม่ถึง 70% ตามกรอบเพดานที่ได้ขยายไว้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 60.17% ต่อจีดีพีเท่านั้น เพราะฉะนั้น ยังมีช่องที่สามารถดำเนินการได้ และเงินคงคลังก็ไม่มีปัญหา

 

ปัจจุบันเงินคงคลังต้นงวดอยู่ประมาณ 5.8 แสนล้านบาท คาดว่า ปิดปลายงวดงบประมาณปี 2565 จะจัดเก็บรายได้ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งก็จะทำให้เงินคงคลังปลายงวดใกล้เคียงที่ 5 แสนกว่าล้านบาท

“ในช่วงวิกฤต นโยบายการเงินก็ควรมาช่วยนโยบายการคลังในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนในปัจจุบันนโยบายการเงินจะต้องทำอะไรเพิ่มอีกหรือไม่นั้น ไม่ขอพูด แต่ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณเล็กๆไปถึง ธปท.” ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว