เจาะ The Great Great Reset เมกะเทรนด์ เขย่าโลกธุรกิจ

เจาะ The Great Great Reset  เมกะเทรนด์ เขย่าโลกธุรกิจ

โควิด-19 เขย่าโลกครั้งใหญ่ ให้เสียหายยับเยิน อีกทั้งการ "เปลี่ยนแปลง" มหาศาล กระเทือนธุรกิจพลิกกระบวนท่า ระยะสั้นเพื่อให้รอด ระยะยาวต้องตีโจทย์ใหม่เพื่ออยู่ยั้งยืนยง อ่าน The Great Great Reset- เมกะเทรนด์ 2 ความน่ากลัวที่ท้าทายผู้ประกอบการรับธุรกิจแห่งอนาคต

แม้ผ่านต้นปีกว่า 1 เดือนเศษ องค์กรธุรกิจยังคง “เหลียวหลังและอนาคต” ต่อเนื่อง ถอดสมการ 2 ปีแห่งห้วงวิกฤติ เพื่อคาดการณ์ “แนวโน้ม” หรือเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นและมีผลกระทบเชิงบวก-ลบต่อธุรกิจอย่างไร เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมรับมือ

ล่าสุด ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนาออนไลน์ Krungsri Business Forum 2022: What’s Next for Thailand? ตกผลึกหลาก “ตัวแปร” ที่จะเขย่าโลกธุรกิจหลังโควิด-19 ระบาด

++Regionalization Digitalization ESG

ทรงอิทธิพลการค้า-ลงทุน

“2 ปีที่ผ่านมาโควิดกระทบเศรษบกิจหลายประเทศทั่วโลก ความผันผวนที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คน พลิกพฤติกรรมผู้บริโภค วิกฤติการณ์ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตใหม่” มุมมองจากแม่ทัพ เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จำกัด (มหาชน)

เมื่อโควิดเป็นวิกฤติและปฏิกิริยา “เร่ง” ให้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม อีกมิติทำให้เกิด “เมกะเทรนด์” ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าขาย การดำเนินธุรกิจอย่างมหาศาล ซึ่ง 3 ปัจจัย ได้แก่ การเชื่อมโยงของภูมิภาค(Regionalization) การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงาน(Digitalization) และการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงความยั่งยืน(ESG)

การเกิด Regionalization เป็นเพราะพิษสงโควิด-19 เต็มๆ เพราะไม่เพียงสร้างผลกระทบด้านสุขภาพ ชีวิตผู้คน แต่ยังกระเทือนห่วงโซ่การผลิต(Supply chain)ของโลกซึ่งเป็นขนาดมหภาค ทำให้ธุรกิจมหาศาลต้องปรับตัว โดยเฉพาะการพึ่งพาแหล่งผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เดิมที่เคยพึ่งพาเพียงแหล่งผลิตเดียว ปัจจุบันผู้ประกอบการต้องพยายามเชื่อมโยงซัพพลายเชนระหว่างภูมิภาคกระจายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างแรงงานที่มีทักษะไปยังพื้นที่ใหม่ๆ

เจาะ The Great Great Reset  เมกะเทรนด์ เขย่าโลกธุรกิจ ทั้งนี้ อาเซียนเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในการสร้างฐานเชื่อมโยงซัพพลายเชนโลกมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น และมีการเติบโตเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากอินเดีย จีน อีกทั้งการบริโภคจะขยายเป็นเงาตามตัว จากประชากรราว 660 ล้านคนด้วย ซึ่งจากการประชุมเศรษฐกิจโลก(World Economic Forum : WEF) คาดการณ์ปี 2573 การบริโภคในอาเซียนจะเพิ่มถึง 70%

Digitalization นาทีนี้ไม่ต้องกังขาว่าดิจิทัลจะทรงพลังแค่ไหน เพราะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตผู้บริโภค ธุรกิจทุกภาคส่วนทั้งการเงิน อุตสาหกรรม การศึกษา ฯ จนกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่(New Normal)แล้ว

“ทุกภาคส่วนเปิดรับเทคโนโลยี ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ขยายขอบเขตธุรกิจ ตลาดไปทั่วโลกแบบไม่เคยเห็นมาก่อน สร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจมหาศาล”

ขณะที่การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม การเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล หรือ ESG สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนของผู้ประกอบการจากนี้ไปต้องอยู่บน “ความรับผิดชอบ” มากขึ้น ปัจจุบันมีเม็ดเงินทั่วโลกไหลเข้ากองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG มหาศาลกว่า 6.4 แสนล้านดอลลาร์ รวมถึงการจัดสรรเม็ดเงินไปลงทุนธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น 82% สะท้อนถึงโอกาสต่างๆที่จะเพิ่มการเติบโตธุรกิจ

 

++ 2 ความน่ากลัว ถาโถม

THE GREAT GREAT RESET-เมกะเทรนด์

โควิดเป็นวิกฤติใหญ่หลวงรอบร้อยที่และกลายเป็นปัจจัยสร้างความหวาดกลัว(Fear Factor)สำหรับภาคธุรกิจไม่น้อย ทว่า หากโรคระบาดคลี่คลาย ยังมี 2 ความน่ากลัวรออยู่ จะเข้าปะทะผู้ประกอบการพร้อมๆกัน นั่นคือ THE GREAT GREAT RESET-เมกะเทรนด์

เจาะ The Great Great Reset  เมกะเทรนด์ เขย่าโลกธุรกิจ สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ฉายภาพว่า หลังเกิดวิกฤติมักมี 2 สิ่งที่เกิดขึ้น นั่นคือ การปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่หรือ The Great Reset และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในโลกหรือ Mega Trends อย่างประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในอดีต เช่น การเกิดแท่นพิมพ์กูเทนเบิร์ก(Gutenberg) การมีอินเตอร์เน็ต ฯ ทว่า ความน่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้มีผู้ “เกิด-ดับ” ในโลกธุรกิจด้วย

ยิ่งกว่านั้นนิยามความสำเร็จในโลกอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไป องค์กรชั้นนำที่ติดท็อปของโลกจะมีอายุขัย “น้อยลง” เรื่อยๆ จาก 40-50 ปี อาจอยู่ยั่งยืน 15-20 ปี

โควิดทำให้วิถีชีวิต ความต้องการผู้บริโภคเปลี่ยน พฤติกรรมที่ปรับไปแล้วย่อมไม่กลับไปแบบเดิม การพลิกโฉมดังกล่าว ทำให้กระทบต่อรูปแบบสินค้าและบริการในอนาคตด้วย

ขณะที่การจัดระเบียบโลกใหม่ ที่มาพร้อมการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สมประวิณ ตกผลึกดังนี้ 1.การเกิดขึ้นของประเทศใหม่ ที่อำนาจซื้อมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย จีน และอาเซียน เมื่อเศรษฐีใหม่เกิดสิ่งที่ตามมาคือความต้องการสินค้าและบริการย่อมไม่เหมือนเดิม 2.สังคมผู้สูงอายุ ผู้คนอายุยืนมากขึ้น เป็นอีกเหตุแห่งปัจจัยต้องการสินค้าเปลี่ยน 3.กระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม กลายเป็น “ของจริง” ไม่ใช่แค่คำโฆษณาให้สวนหรูอีกต่อไป เพราะผู้บริโภคยุคนี้มองหาสินค้าและบริการที่จะลดผลกระทบต่อโลกมากขึ้น จึงเป็นโจทย์ใหม่ที่ผู้ผลิตต้องนำไปผนวกในยุทธศาสตร์ธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

4.การเผชิญความไม่แน่นอน จากโรคระบาด ภัยพิบัตินานาประการ ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการผลิตสินค้าเช่นกัน 5.มหาสงครามเศรษฐกิจของ 2 ยักษ์ใหญ่ ที่จะ “แยกวงการค้าขาย” ในโลก หมดยุควงใหญ่เดียวที่กุมอำนาจการค้า แต่ “ชาติมหาอำนาจ” จะแสดงแสนยานุภาพแตกวงย่อยๆการค้า หา “พรรคพวก” ที่ตัวเองเจรจาได้มาจับกลุ่มก้อน สร้างอำนาจต่อรองบนเวทีการค้าโลก และ 6.เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น จากราคาที่ต่ำลง จับต้องได้ เข้าถึงและมีผลต่อการใช้งานของทุกคนในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงจะยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่ “เวลา” คือสิ่งที่ทุกคนมี “จำกัด และทำให้หน้าต่างโอกาสธุรกิจใหม่ในอนาคตมีไม่มากนัก

“คนคุ้นชินกับการปรับตัว และโลกหลังโควิดมีคนเข้าไปจับจองการลุยธุรกิจแล้ว ทำให้พื้นที่ในการทำธุรกิจในอนาคตมีน้อยลงเรื่อยๆ” สะท้อนใครที่ออกตัวช้าย่อมตกขบวนเรียบร้อยแล้ว

++ 3 Re เคลื่อนธุรกิจคิดใหม่

บริบทโลกเปลี่ยนโฉมล่วงหน้า หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัวตาม อาจไม่รอดบนสังเวียนการค้า สมประวิณ แนะ 3 Re เพื่อเติบโตในโลกหลังโควิด-19 ได้แก่ Reimage ได้เวลาคิดใหม่ เมื่อก่อนโลกเข้าสู่การค้าเสรี วงผลิตในโลกอาจมีวงเดียวในห่วงโซ่การผลิต(Value chain) แต่ปัจจุบันต่างออกไป เพราะเศรษฐกิจใหม่ที่ทรงอิทธิพลมากขึ้นเทมายังอินเดีย จีน อาเซียน ซึ่งมีพลังในการบริโภคการซื้อมหาศาล และผู้ผลิตในภูมิภาคได้สร้างวงผลิตของตัวเองหรือ Regional Value Chain เมื่อการผลิตในอนาคคต “กระจาย” และท้องถิ่นมีอำนาจซื้อมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ย่อมกระเทือนเวทีการค้าโลก

เจาะ The Great Great Reset  เมกะเทรนด์ เขย่าโลกธุรกิจ Reflex มองโลกย้อนมองดูไทย ภาคผลิตอยู่ตรงไหนในสมรภูมิค้าขาย สมประวิณ หยิบดีชนีวัดศักยภาพการผลิตของไทยผ่าน 3 มิติ คือผลิตต้นทุนต่ำ มีประสิทธิภาพ และขายสินค้าได้ราคาดี ภาพรวมนั้นไทยรั้งอันดับ 35 เทียบชั้นโลก และอันดับ 2 ในภูมิภาค รองจากสิงคโปร์

ทั้งนี้ 7 อุตสาหกรรมของไทยติดท็อป 15 ของโลก เช่น ยางพารา อาหารฯ แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ “สูญเสียการแข่งขันเร็ว” เพราะคู่แข่งนานาประเทศทำได้ดีขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไทยเก่งกาจในอดีต ทว่า การผลิตนั้นตอบสนองผู้บริโภคแบบเดิมๆไม่ได้ เมื่อมองไปข้างหน้า “ความต้องการตลาด” เปลี่ยนไปแล้ว อย่างผลิตทีวี ทั้งที่ “มือถือ” เป็นคำตอบการรับชมคอนเทนท์ในยุคดิจิทัลมากขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยประกอบเก่ง แต่หลายประเทศเก่งไม่แพ้กัน ยังได้เปรียบ “ค่าแรงต่ำ” จึงถึงเวลาที่ผู้ผลิตต้องช่วยคิดตั้งแต่ต้นทาง(Upstream) จากรู้ใจตลาดท้องถิ่นเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า

“เราต้องคิดใหม่ สิ่งที่เคยผลิต ขายดีในอดีต คงไม่ขายดีในอนาคต ผู้ผลิตต้องไม่มองแค่ลูกค้า แต่ต้องเจาะความต้องการของลูกค้าของลูกค้าอีกทอด เพื่อให้เข้าใจปลายทางความต้องการของผู้บริโภค”

เจาะ The Great Great Reset  เมกะเทรนด์ เขย่าโลกธุรกิจ Reset การจัดระเบียบธุรกิจใหม่ไม่ง่าย ยิ่งปูทางเพื่อยั่งยืนยาวยากใหญ่ ซึ่งเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการอย่างมาก ทว่า ในโลกมีตัวอย่างองค์กรมากมายที่ “ปรับตัว” ตลอดเวลา ผ่านร้อนหนาวจนเติบโตร้อยปี อย่างยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภค “พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล”หรือพีแอนด์จี อยู่มา 180 ปี เพราะใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนสินค้าและบริการตองสนองความต้องการผู้บริโภค มีเป้าประสงค์หรือ Purpose ชัดเจนในการใช้นวัตกรรมเอ็นเกจหรือเชื่อมโยง(Connect)ผู้บริโภคนับล้าน เช่น ทุ่มเงินกว่า 400 ล้านเหรียญเพื่อวิจัยตลาดให้รู้ Insight ผู้บริโภคปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

++ชนะ!ด้วย Partner-Partner-Partner

สำหรับกลยุทธ์การปรับตัวรับโลกอนาคต เป็นสิ่งที่ผู้ประการรู้ดี แต่การปลี่ยนเป็นเรื่องยากพอสมควร แต่ต้องทำ โดยเริ่มจากพัฒนาภายในองค์กรทั้งบุคลากร เครื่องมือ และองค์ความรู้

 ปัจจุบันธุรกิจหมดยุคโชว์เดี่ยวมั่งคั่งลำพัง การจับมือพันธมิตร(Partner) แปลงคู่ค้า-คู่แข่ง มาร่วมหัวจมท้ายสำคัญขึ้น เพราะเป็นทางลัดช่วยตอบโจทย์ธุรกิจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ “Partner” ที่ใช่ย้อมนำทางได้ หากขาดองค์ความรู้การผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนเทคโนโลยี Partner ที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เป็นคำตอบเช่นกัน รวมถึงการหาตลาดใหม่ Partner จะช่วยต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้

“เราอยู่ท่ามกลางรอยต่อการเปลี่ยนแปลง เรามีโอกาสคิดใหม่ มองสะท้อนธุรกิจตัวเอง และเริ่มใหม่วันนี้ด้วยกัน”

++เอสซีจี-บีเจซี ยักษ์ใหญ่ลุยธุรกิจยั่งยืน

การดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืนหรือ ESG ไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องยึดถือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เพราะในเวทีการค้าโลก หากองค์กรไม่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอาจเป็น “เงื่อนไข” ให้ถูกกีดกันค้าขายได้ ส่วนมิติผู้บริโภคปัจจุบันจะเลือกซื้อสินค้าที่มีส่วน “รักษ์โลก” มากขึ้นเช่นกัน

เจาะ The Great Great Reset  เมกะเทรนด์ เขย่าโลกธุรกิจ ตัวอย่าง 2 องค์กร้อยปีและมีรายได้หลัก “แสนล้านบาท” ต่อปี ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG มากขึ้น รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี หยิบเมกะเทรนด์ที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต ได้แก่ วิถีชีวิตใหม่ของผู้คน(New Norma)l แนวทางพัฒนาธุรกิจยั่งยืน(ESG) และกระแสการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล

“เทรนด์ทั้ง 3 เกิดแน่ทั่วโลก ในอาเซียนเช่นกัน หากผู้ประกอบการธุรกิจเป็นนักเรียน เหมือนเราเห็นข้อสอบแล้ว อยู่ที่เราจะศึกษาหาความรู้ ปรับตัวเพื่อตอบข้อสอบได้ดีแค่ไหน”

เอสซีจี มีธุรกิจหลากหลายทั้งซีเมนต์ ก่อสร้าง เคมิคัล แพ็คเกจจิ้ง ซึ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล ในมุมการผลิตก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมา ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าในปี 2593 จะลดก๊าวเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ แต่สเต็ปแรกปี 2573 ต้องลดให้ได้ 20%

ทว่า โจทย์ดังกล่าวไม่ง่าย เพราะท่ามกลางธุรกิจที่ต้องเติบโต เช่น โต 2 เท่า มีการขยายกิจการทั้งในไทยและต่างประเทศ สานเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งสวนทางกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลงอย่างมาก แต่วางภารกิจไว้แล้ว ต้องทำให้ได้ บริษัทจึงใช้วิธีการต่างๆ เริ่มจากภายในองค์กร ใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต ผลิตสินค้าสีเขียว สินค้านำไปรีไซเคิลได้ ทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy)มา 3-4 ปี ปรับการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ประเด็นใหญ่ไม่ทำลำพัง รวมพลังภายนอกองค์กร เอ็นเกจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ชุมชนรอบโรงงาน เจ้าของแบรนด์สินค้าที่สัมผัสความต้องการผู้บริโภคโดยตรง เพื่อรักษ์โลกด้วยกัน

เจาะ The Great Great Reset  เมกะเทรนด์ เขย่าโลกธุรกิจ อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ฉายภาพ เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อธุรกิจมากขึ้น การมีห้างค้าปลีก “บิ๊กซี” ที่มีฐานลูกค้า 15 ล้านราย เข้ามาชอปปิงแต่ละวัน “นับล้าน” ทำให้ทราบอินไซต์ในการซื้อสินค้า และเพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำ สร้างบริการที่ดียิ่งขึ้น บริษัทต้องนำเทคโนโลยี ข้อมูลมาขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น

ขณะที่เทรนด์รักษ์โลก สอดคล้องกับแนวทางขององค์กร ยิ่งย้อนดูโลโก้บริษัทที่เป็น “ต้นไม้ใหญ่” โตยั่งยืนมากว่า 140 ปี ได้ดำเนินธุรกิจยึดแนวทางสีเขียวมาตลอดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โรงงานผลิตขวดแก้วที่ 80% นำเศษแก้วมารีไซเคิล กระป๋องอะลูมิเนียม 90% รีไซเคิลได้ การพัฒนาแอปพลิเคชัน “C-ซาเล้ง” รับซื้อขยะรีไซเคิล เป็นต้น

การดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลยังทำให้บริษัทได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์(DJSI)ด้วย

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนธุรกิจภายใต้ ESG แนวโน้มไม่ง่าย เมื่อโมเมนตัมดี ต้องเผชิญความท้าทาย เพราะวัตถุดิบรีไซเคิลบางอย่างหากยากยิ่งขึ้น เช่น การผลิตกระดาษชำระโดยใช้เยื่อกระดาษเวอร์จิ้นไฟเบอร์ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น ฯ

“การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่ในดีเอ็นเอของบริษัทอยู่แล้ว ซึ่งในอนาคตหากธุรกิจไม่รักษ์โลก จะกลายเป็นความเสี่ยงในอนาคต”