บทบาทไทยในกระแส  เปลี่ยนแปลงห่วงโซ่มูลค่าโลก

เราคงคุ้นชินกับการได้ยินคำว่า “โลกหลังโควิด” ซึ่งหมายถึงสภาพแวดล้อมทั้งเศรษฐกิจและสังคมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รวมถึงห่วงโซ่มูลค่าโลก และบทบาทของไทยในกระแสนี้

จากที่เคยเป็นอยู่ก่อนปี 2019 แต่ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากแต่โควิด-19 เป็นเพียง “ตัวเร่ง” ให้เราก้าวเข้าสู่ “โลกใหม่” ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมที่เรียกว่า “Megatrends” ซึ่งสิ่งดังกล่าวจะมีผลกระทบในวงกว้างต่อทั้งวิถีชีวิต ความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภค ทั้งยังรวมถึงการทำธุรกิจและกระบวนการผลิตที่จะเปลี่ยนไป ซึ่งในบทความนี้จะขอกล่าวถึง

ผลกระทบที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจไทย ในฐานะที่เราเป็นฐานการผลิตสำคัญของสินค้าอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน และเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าโลก

หากมองในภาพกว้างเราสามารถแบ่ง “Megatrends” ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้เป็น 4 กลุ่ม Megatrend I คือ การเปลี่ยนแปลงไปของรูปแบบอุปสงค์ที่อาจเกิดขึ้นจากการเติบโตของระบบเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น การมีชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นสะท้อนกำลังซื้อที่สูงขึ้นตามไปด้วยของกลุ่มประเทศดังกล่าว ซึ่งความต้องการสินค้าของคนที่อยู่ใน “ระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่” ก็น่าจะมีความแตกต่างจาก ความต้องการของประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่คนจะมีอายุยืนยาวขึ้น ส่งผลให้ สังคมจะประกอบไปด้วย “กลุ่มประชากรหลายรุ่น” ซึ่งคนที่เกิดมาในแต่ละช่วงเวลาก็มักจะมีความชอบที่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบความต้องการสินค้าและบริการจะมีความหลากหลาย และการผลิตจะต้องสามารถตอบสนองผู้บริโภคที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละกลุ่มได้ 

Megatrend II เกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังสะท้อนถึงความไม่แน่นอน ส่งผลให้กระบวนการผลิตต้องคำนึงถึงการรับผิดชอบต่อสังคมและต้องมีความยืดหยุ่นที่จะรองรับกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าในยุคถัดไปการผลิตจะต้องคำนึงถึง Responsibility และ Resiliency มากกว่า Efficiency นั่นเอง 

 Megatrend III กระแสกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ ส่งผลให้เกิด Regionalization แทน Globalization ซึ่งสิ่งดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าโลก เนื่องจากกิจกรรมการผลิตจะถูกแตกออกเป็นวงที่ช่วยกันผลิตภายในภูมิภาคแทน Megatrend IV การเติบโตของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น Advanced Robotic หรือ Artificial Intelligence (AI) ซึ่งเอื้อให้แต่ละข้อต่อของห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มสามารถผลิตได้กว้างขึ้น และจะทำให้แต่ละประเทศสามารถมีส่วนร่วมในการผลิตเพิ่มมากขึ้น

จากสภาพแวดล้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว วิจัยกรุงศรีได้สร้าง “ดัชนีศักยภาพอุตสาหกรรม” (Sectoral Potential Index) และพบว่าประเทศไทยอยู่อันดับ 35 จากทั้งหมด 64 ประเทศ ที่ทำการประเมิน และเป็นอันดับ 2 ของประเทศกลุ่มอาเซียน ถ้าพิจารณาเป็นรายภาคการผลิตพบว่ามี 7 ภาคการผลิตที่ประเทศไทยติด 15 อันดับแรกของโลก ดังนั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจไทยมีฐานของการต่อยอดการผลิตที่ดี และภายใต้เงื่อนไขของ Megatrends ที่กำลังเกิดขึ้น เราอาจจะต้องร่วมกันคิด “นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่” โดยมองไปที่ความร่วมมือภายในภูมิภาคอาเซียนเพื่อ “ร่วมกันผลิต” โดยการใช้เทคโนโลยีมาช่วย เพื่อการตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย และท้ายที่สุดคือ การคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการผลิต ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไทยสามารถก้าวต่อไปได้ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่มูลค่าโลกหลังโควิด

Reference: “อุตสาหกรรมไทย: อยู่ตรงไหนและจะแข่งขันอย่างไรในเวทีโลก”

https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/thailand-sectoral-potential-2021

“ห่วงโซ่มูลค่าโลกโฉมใหม่ หลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19”

https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/ri-supply-chain

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์