‘อินทัช’ ปิดโหมดการเมือง ปั้นธุรกิจรับแข่งขันรอบใหม่

‘อินทัช’ ปิดโหมดการเมือง ปั้นธุรกิจรับแข่งขันรอบใหม่

โจทย์ใหญ่ไม่ใช่แข่งขันเส้นS Curve รอบใหม‘อินทัช’ยังต้องการหลุดพ้นวังวนโยง’การเมือง’กับอดีตนายกฯ นี่คือความท้าทายของ'ฟิลิป แทน'แม่ทัพปัจจุบัน

“ผมเพิ่งมาอยู่ 9 เดือนเอง ถ้าเปรียบเป็นเด็ก ก็ยังไม่คลานเลย”

คือคำเปรียบเปรยที่ “ฟิลิป” กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ ที่บ่งบอกถึงความหมายที่ว่า ยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกมากในการเป็น “ซีอีโอ” ของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

แต่ที่ไม่ต้องใช้เวลาคือ “ฟิลิป” มองเห็นจุดอ่อน และจุดแข็งของ “อินทัช” อย่างชัดเจน

จุดแข็งคือโอกาสธุรกิจ ที่มีบริษัทในเครือที่ทำรายได้ต่อปีนับหมื่นล้าน ส่วนจุดอ่อนคือภาพจำเรื่อง “การเมือง” ที่เป็นโจทย์สำคัญในการพาองค์กรให้เติบโตให้ได้ทันกับวงรอบของอุตสาหกรรมสื่อสาร ที่กำลังเทคออฟอีกครั้ง

ทำไม “การเมือง” จึงยังคงมาหลอกหลอน “อินทัช” แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 10 ปี ในห้วงเวลาที่การเมืองไทยมีการแบ่งสี แบ่งฝ่าย เลือกข้าง และท้องถนนเคยเต็มไปด้วยการชุมนุมประท้วง และที่สำคัญ ”อินทัช” มีผู้ถือหุ้นใหม่ คือ “เทมาเส็ก” ทุนจากสิงคโปร์มานานกว่า 10 ปี

แม้ “ฟิลิป” จะเป็นชาวมาเลเซีย สัญชาติอเมริกัน แต่รู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดี เพราะมีครอบครัว และทำงานอยู่ในประเทศไทยมานานนับสิบปี จุดอ่อนนี้จึงทำให้ “ฟิลิป” ไม่ต้องใช้เวลาเรียนรู้และเข้าใจ

หากย้อนเวลาไป จะเห็นว่าเส้นทางของ “อินทัช” นั้นมีความพยายามที่จะหลุดจากภาพโยง ”การเมือง” มาตลอด โดยรีแบรนด์เปลี่ยนชื่อบริษัท จากที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจเมื่อปี 2526 ด้วยชื่อบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ เซอร์วิส แอนด์ อินเวสเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นชื่อที่ขึ้นต้นด้วยนามสกุลของผู้ก่อตั้งคือ “ดร.ทักษิณ ชินวัตร”

หลังจากดร.ทักษิณ และครอบครัวขายหุ้นให้ “เทมาเส็ก” ก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น “ชิน คอร์ปอเรชั่น” ในปี 2544 ซึ่งเป็นปีที่ “ดร.ทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนเป็นชื่ออีกครั้งเป็น “ อินทัช โฮลดิ้งส์” ในปี 2557 หลังจากที่ดร.ทักษิณ ถูกรัฐประหารนานเกือบ 10 ปี และเป็นปีเดียวกับที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)

ระหว่างทางมีเหตุการณ์ที่สะท้อนความอ่อนไหวทางการเมืองจนกระทบกับธุรกิจของเอไอเอส ในเครืออินทัช คือการรณรงค์เลิกใช้ซิมเอไอเอส นั่นคือสัญญาณ ที่ย้ำว่าธุรกิจไม่ควรผูกติด หรือเกี่ยวโยงกับการเมือง

คำตอบที่ “ฟิลิป” กล่าวอย่างชัดเจน เกี่ยวกับเป้าหมายในการทำงานในฐานะแม่ทัพของ ”อินทัช” เวลานี้ คือองค์กรแห่งนี้ต้องไม่เกี่ยวโยงกับการเมือง นี่คืองานที่เขาย้ำว่าต้องสร้างจุดยืนขององค์กรให้เด่นชัดว่า มีความเป็นมืออาชีพ เป็นกลาง ไม่ฝักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สิ่งที่ต้องยึดถือคือ เป็นธุรกิจที่อยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน เป็นเวลาที่ต้องมองไปข้างหน้า และสร้างจุดยืนใหม่

“เราต้องมีความเป็นมืออาชีพ และไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เรามีบทเรียนของเรา ในฐานะผู้นำคนใหม่ เราต้องสร้างวัฒนธรรม ว่าเป็นมืออาชีพ มีเหตุผล โปร่งใส มีคำอธิบายที่ดี มีวิธีการตัดสินใจที่เปิดเผยได้แม้ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา จะพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีการเมืองเกี่ยวข้อง และแรงกดดันนี้น้อยลงแล้ว แต่นี่ ก็คือความท้าทายของผม” ฟิลิป ย้ำ

*****เริ่มต้น S Curve อีกรอบ

อีกโจทย์ของ “ฟิลิป” คือ การสร้างความเติบโตจากธุรกิจที่แข็งแกร่งอยู่แล้วในเครืออินทัช โดยเฉพาะ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)

สำหรับไทยคม ยังไม่ใช่เวลาที่ “ฟิลิป” อยากพูดถึงมากนัก เพราะยังมีการบ้านอีกมากในการเจรจากับภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายที่ต้องการให้ไทยคมกลับเข้าไปสู่ระบบสัมปทานภายใต้กระทรวงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐปีละ 20.5%

ขณะที่ปัจจุบันดาวเทียมไทยคมดวงที่ 7 และ 8 อยู่ภายใต้ใบอนุญาตการประกอบกิจการดาวเทียม ที่อนุมัติโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมีเงื่อนไขจ่ายค่าธรรมเนียมเพียงปีละ 5.25%ของรายได้

“อยากให้รัฐเข้าใจว่า ไทยคม เป็นบริษัทที่คนไทยถือหุ้น เป็นบริษัททำธุรกิจดาวเทียมของคนไทย ” ฟิลิปกล่าว

สำหรับ“เอไอเอส” มีเป้าหมายที่ “ฟิลิป” กล่าวต่อว่า พร้อมเติบโตต่อไป ในยุคที่อุตสาหกรรมสื่อสารเริ่มนับหนึ่งในการแข่งขันรอบใหม่ อย่างที่เรียกกันว่าNew S Curve ที่โทรศัพท์มือถือ เข้าสู่ยุคการให้บริการ 4Gหลังการประมูลคลื่นความถี่ที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงผ่านไป

“ฟิลิป” อธิบายว่า ช่วงเริ่มต้นของเอไอเอสที่ได้สัมปทานในอดีต ก็มีการแข่งขันสูง ช่วงนั้นคือยุค 2 จี และสัญญาสัมปทานเพิ่งหมดไป ซึ่งกสทช.เปิดประมูลคลื่นใหม่ ทั้งคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ และเอไอเอสก็ประมูลคลื่นมาได้ ขณะนี้จึงเป็นเวลาต้องสร้างธุรกิจในช่วงจังหวะอุตสาหกรรมเข้าสู่S Curveใหม่

อีกหนึ่งเป้าหมายที่ “อินทัช” ต้องไปให้ถึงคือการเติบโต จากการลงทุนใหม่ ๆ ทั้งในแบบเทคโอเวอร์กิจการ การร่วมทุน โดยเฉพาะ ในกระแส “ฟินเทค” ที่ “ฟิลิป” มองว่า ฐานลูกค้าเอไอเอสกว่า 38 ล้านราย คือจุดแข็ง ที่จะทำให้ “อินทัช” เติบโตในธุรกิจใหม่ได้ไม่ยาก

ชัดเจนในเป้าหมายของ “ฟิลิป แทน” ซีอีโอคนล่าสุดของ “อินทัช” ในยุคที่องค์กรนี้ ต้องปิดโหมดการเมืองให้เบ็ดเสร็จ เพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วงรอบธุรกิจที่กำลังเติบโตรอบใหม่

++++++++

 จุดเปลี่ยนชีวิตในวัย 50 ปี

จังหวะชีวิต เหมือนโชคชะตา ที่ต้องอาศัยเวลา และสถานการณ์ที่เหมาะสมจากเรื่องยาก ก็อาจง่ายกว่าที่คิดนี่คือบทสรุปส่วนหนึ่งที่“ฟิลิป แทน”ซีอีโอ อินทัช คนปัจจุบัน บอกเล่าถึงจุดเปลี่ยนชีวิตในวัย 50 ปี ที่เลือกเปลี่ยนเส้นทางของมืออาชีพจากนักการเงินมาสู่องค์กรสื่อสารขนาดใหญ่

ตั้งแต่ปี 2534หรือกว่า 25 ปีแล้ว ที่“ฟิลิป”มาอยู่เมืองไทย เพราะพบรักกับสาวไทย ที่มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา และจากจุดเริ่มต้นพูดภาษาไทยได้ไม่เกิน 500 คำ ปัจจุบัน“ฟิลิป”ให้สัมภาษณ์นักข่าวเป็นภาษาไทยได้อย่างสบาย ๆ

ผ่านประสบการณ์การทำงานทั้งในและต่างประเทศ โดยปี 2552 ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีอีมันนี่ ประเทศไทย จำกัดและเป็นผู้บริหารธนาคารกรุงศรีอยุธยาในปีต่อมา ก่อนที่กลุ่มจีอีจะถอย แล้วมีทุนญี่ปุ่น คือธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จำกัด เข้ามาแทนที่ในธนาคารกรุงศรีอยุธยา

“ฟิลิป”จบหน้าที่ของตัวเองที่ธนาคารแห่งนี้ ในเดือนตุลาคม 2558 ในตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

เพียง 1 เดือน คือเวลาตัดสินใจ สำหรับ“ฟิลิป”ในจังหวะที่เข้าสู่วัย 50 ปี

“ปี 2015อายุ 50 ปี ก็คิดว่าจะทำไรดี ที่ดีที่สุดสำหรับคนที่มาถึง Mid Life คิดว่าถ้าเรามีอายุงานอีก 10 ปีเราจะทำอะไรที่ต่างจากเดิมเราคิดว่ามีอะไรบ้างที่ใช้ประสบการณ์ และต้องสนุกด้วย”ฟิลิป กล่าว

เมื่อถามว่าทำไมต้องเป็น อินทัช “ฟิลิป”บอกว่า ตอนแรก ๆ ไม่ได้คิดเรื่องอินทัช แต่ก็มีHead Hunterมาถามว่าสนใจหรือไม่

แล้วคำตอบคือ“ฟิลิป” ร่วมงานกับ“อินทัช”ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558เพราะเห็นโอกาสที่เขาจะได้ใช้ประสบการณ์ ด้านเทคโนโลยี การเงิน กับองค์กรที่มีขนาดใหญ่ ที่สำคัญธุรกิจนี้ทำให้คนได้ติดต่อสื่อสารถึงกันได้

“ธุรกิจนี้ไม่ได้ขายสิ่งไม่ดีให้ลูกค้า แต่ที่นี่คือการขายความสุข”ชัดเจนในการตัดสินของ "

นี่คือเหตุผลของ “ฟิลิป”ในวัย 50 ปี