แข่งผุด “สกายวอล์ค” พรมแดงหนุนค้าปลีกแสนล.

แข่งผุด “สกายวอล์ค” พรมแดงหนุนค้าปลีกแสนล.

เอกชนออกแรงฮึด ปั้น“ชอปปิง”แลนด์มาร์คโลก ปฏิบัติการ “เชื่อมต่อ” แข่งเนรมิต “สกายวอล์ค” ดึงขาช้อปจึงเกิดขึ้น เป็นพรมแดงเพิ่มพลังย่านค้า

ในยุคที่ธุรกิจค้าปลีก มูลค่าตลาดกว่า 3 ล้านล้านบาท แข่งขันดุเดือด ตบเท้า “ลงทุนมหาศาล” กว่าแสนล้าน ยกระดับห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้า ให้อยู่แนวหน้า “เวิลด์คลาส” ดึงดูดขาช้อปไทยและต่างชาติเข้าใช้บริการ ผ่านการลงทุนของบรรดาค้าปลีก “ขาใหญ่” อาทิ 

“กลุ่มเซ็นทรัล” ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่ประกาศทุ่มงบลงทุน 3.9 หมื่นล้านบาทในปีนี้ เดินหน้าขยายธุรกิจไม่เฉพาะห้างค้าปลีก ยังรวมถึงธุรกิจโรงแรม ฯลฯ ปั้นทำเลทองให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบเครื่อง ทั้ง “ปาร์คไฮแอท” โรงแรมหรู 6 ดาว บนถนนเพลินจิต ย่านใจกลางกรุงที่เต็มไปด้วยอาคารสำนักงาน เชื่อมค้าปลีกหรู “เซ็นทรัลเอ็มบาสซี”

“กลุ่มสยามพิวรรธน์” เจ้าของสยามดีสคัฟเวอร์รี่ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน ผนึก“เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)” ของตระกูลเจียรวนนท์ ทุ่มทุน 5 หมื่นล้าน ผุดโปรเจคยักษ์ห้างหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา “ไอคอนสยาม” ย่านเจริญนคร  

ขณะที่สยามพิวรรธน์ ยังควัก 4,000 ล้านบาท เนรมิต “สยามดิสคัฟเวอรี่” ให้ใหม่เอี่ยมอ่องในรอบ 18 ปี เปิดให้บริการ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา สร้างแลนด์มาร์คให้ “ย่านสยาม” คงมนต์ขลังดูดนักช้อป โดยมีการประเมินว่าย่านปทุมวันถึงสยามพารากอน มีคนไทยและนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ 4.5 แสนคนต่อวัน

ส่วน “เดอะมอลล์กรุ๊ป” ของตระกูล “อัมพุช” รุกพัฒนา 6 โครงการค้าปลีก ภายใต้งบ 5 หมื่นล้านบาท บนย่านการค้าพร้อมพงษ์ “ดิเอ็มดิสทริค” ทั้งปรับโฉม ดิเอ็มโพเรียม ปั้น“ดิเอ็มควอเทียร์” ก่อนลุยปั้น ดิเอ็มสเฟียร์ต่อ ยังไม่รวมโปรเจคยักษ์ “แบงค็อกมอลล์” ศูนย์การค้าที่ถูกระบุว่าใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่รอการพัฒนา ตามแผนจะเปิดให้บริการปี 2561-2562

นอกจากธุรกิจค้าปลีกที่รุกลงทุนระดับหมื่นล้านแล้ว บรรดาผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น เช่น โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่มีทำเลทองย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD: Central Business District) ยังรุกแข่งลงทุน เพราะมองเห็นโอกาส จากอัตราพื้นที่อาคารสำนักงานว่างน้อยกว่า 10% ต่ำสุดในรอบ 20 ปี

นอกจากความอลังกาของบิ๊กโปรเจค แคมเปญ โปรโมชั่น จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักช้อปแล้ว อีก“เครื่องมือ”สำคัญ ในการอำนวยความสะดวกดึงคนเข้าไปใช้บริการ คือ ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะ “สะพานลอยทางเชื่อม”  หรือ “ทางเดินลอยฟ้า” (Sky walk) ที่ห้างดังแข่งกันผุดขึ้นนับ 10 แห่งในปัจจุบัน เพื่อทำหน้าที่เป็นเหมือน “พรมแดง” เชื้อเชิญให้ผู้บริโภคเดินเข้าศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน

สกายวอล์คโดดเด่น แลนด์มาร์กเมืองกรุง ต้องยกให้สกายวอล์กเชื่อมสถานีสยาม ย่านปทุมวัน ราชประสงค์ (บีทีเอส ชิดลม) อโศก (บีทีเอส-เอ็มอาร์ทีอโศก) สีลม (บีทีเอส ศาลาแดง) สาทร (บีทีเอส ช่องนนทรี)วอลล์สตรีทเมืองไทย ที่เชื่อมแหล่งกิน ช้อป เที่ยว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ 

ขณะที่สกายวอล์คย่านราชประสงค์ เริ่มจากถนนเพลินจิต ยาวไปถึงถนนพระราม 1 และจากฝั่งประตูน้ำ จรดถนนราชดำริ มีธุรกิจครบครันครอบคลุมตั้งแต่ร้านอาหารริมทาง (Street food) ไปจนถึงอาหารชั้นยอด (Fine cuisine) มีตึกสำคัญมากมายหลายสิบตึก ทั้งโรงแรมระดับ 5 ดาว แกรนด์ไฮแอท เอราวัณ, เรเนซองซ์, เซ็นต์รีจิส, เซ็นทารา แกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์, โนโวเทล แพลทินัม ประตูน้ำ, อินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ มีศูนย์การค้า เช่น เซ็นทรัลเวิลด์, เกษร พลาซ่า, อัมรินทร์พล่าซ่า

อีกอาคารสำนักงานที่พ่วงอยู่ในศูนย์การค้า มีที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม เช่น แม็กโนเลีย ราชดำริ บูเลอร์วาร์ด และยังเป็นแหล่งสักการะเทพทั้ง 8 องค์ เช่น ท้าวมหาพรหม พระตรีมูรติ พระพิฆเนศ เป็นต้น

ความครบครันนี้ทำให้“ย่านราชประสงค์”กลายเป็นย่านการค้า(District)ระดับโลก

“หากเปรียบย่านการค้ากลางกรุงอย่าง “ราชประสงค์” ว่าเป็นแหล่ง “ชอปปิงของโลก”หนีไม่พ้นย่านกินซ่า ญี่ปุ่น, เซ็นทรัล ฮ่องกง, ไทม์สแควร์ สหรัฐ” คำบอกเล่าที่ “ฟ้าฟื้น เต็มบุญเกียรติ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกษรพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ฉายภาพ และว่า

ย่านราชประสงค์มีผู้คนหมุนเวียนราว 4 แสนคนต่อวัน ในจำนวนนี้ใช้บริการสกายวอล์คมากถึง 2.5-3.5 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งวันนี้สกายวอล์คสำคัญมากขึ้น เพราะประชาชนในย่านนี้ต้องการความสะดวกสบาย จะไปจุดไหนขอเดิน “ไม่เกิน 5 นาที” ระยะทางที่เหมาะสม ไม่ควรจะเกิน 500 เมตร

สภาพอากาศเมืองไทยที่ร้อนระอุ การเดินบนทางเท้าลำบาก ก็เป็นเหตุผลให้สกายวอล์คได้รับความนิยมมากขึ้น

“ย่านราชประสงค์ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Area หนึ่งของเมืองไทย ที่มีความเฉพาะตัว มีระบบขนส่งสะดวกสบาย ในเวลาเดียวกันมี 18 ตึกที่เชื่อมกันโดยสกายวอล์ค” 

ไม่เพียงแค่ลงทุนสร้างโรงแรมโนโวเทล แพลทินัม ประตูน้ำ ขยายแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ และเตรียมลงทุนสร้างศูนย์การค้า “เดอะมาร์เก็ต” บนพื้นที่ราชดำริ เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ยังควักงบลงทุนร่วม 400 ล้านบาท เนรมิตสกายวอล์คใหม่เชื่อมด้านหลังโรงแรมโนโวเทล ยาวมาถึงเกษร พลาซ่า ซึ่ง “ชาญชัย พันธุ์โสภา” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) บอกว่า เฟสแรกให้บริการเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และจะเร่งรัดเฟส 2 ให้เปิดใช้บริการเดือนมิ.ย.นี้

“พยายามดูจะทันไหม ก็ตั้งใจจะให้ทัน” เขาบอก เมื่อการบริหารพื้นที่ค้าปลีก สินทรัพย์ที่มีเป็นสิ่งสำคัญ การหมุนเวียนเพิ่มคนเข้ามาใช้บริการในโรงแรม ค้าปลีก ธุรกิจอาหาร ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากสกายวอล์คเชื่อมเกษร ยังมีแนวคิดจะเชื่อมโยงไปถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์

ขณะที่หลังเปิดใช้สกายวอล์ค หวังว่าจะดึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น จากเดิมศูนย์มีลูกค้ามาชอปปิงประมาณ 3.5-5 หมื่นคนในวันธรรมดา และพุ่งขึ้น 6-7 หมื่นคนในวันหยุด

“สยาม” หรือย่านปทุมวัน เป็นย่านการค้า “ใจกลางเมืองหลวง” อย่างแท้จริง และยังเป็นจุดเปลี่ยนของสถานีรถไฟฟ้า ทำให้ผู้คนในย่านนี้มีมากถึง 4.5 แสนคนต่อวัน และมากถึง 165 ล้านคนต่อปี “ชฏาทิพ จูตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัดฉายภาพความคับคั่งคึกคักของขาช้อป หลังทุ่มงบ 4,000 ล้านบาท ปิดปรับปรุงศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่นานถึง 18 เดือน เสร็จโปรเจคใหญ่นี้ นั่นทำให้สยามพิวรรธน์ เมื่อรวมกับสยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน ขยับความใหญ่ไปอีกขั้น  

“หลังปรับโฉมสยามดิสคัฟเวอรี่ จะช่วยพลิกย่านการค้าปทุมวันให้เปลี่ยนไปอย่างมากเพราะในพร็อพเพอร์ตี้ของเรามี 3 ตึกครบครัน พารากอนเป็นเวิลด์คลาส ลักชัวรี่ สยามเซ็นเตอร์เป็นเมืองแห่งไอเดีย หรือ ซิตี้ออฟไอเดีย และสยามดิสคัฟเวอรี่ เป็นสนามและห้องทดลองของลูกค้าทุกเพศทุกวัย” เธอเล่าและย้ำว่า 

นี่เป็นการคิดคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ไม่เคยปรากฎในห้างค้าปลีดใดมาก่อนในโลก 

“ฉีกทุกกฎเกณฑ์การทำค้าปลีก และเราคาดหวังจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการในศูนย์เพิ่ม 30%”

ที่สำคัญนี่คือการมุ่งมั่นตอกย้ำย่านสยาม ปลุกให้กรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นที่สุดของจุดหมายปลายทางแห่งการชอปปิง และสร้างประสบการณ์ระดับโลกให้ลูกค้า อีกทั้งช่วยหนุนท่องเที่ยวดึงคนทั้งโลกมาใช้จ่ายย่านสยามเพิ่มขึ้น

หลังพลิกโฉมศูนย์ใหม่ ชฏาทิพย์ ก็เตรียมเทงบปรับปรุงสกายวอล์คเชื่อมเข้าศูนย์การค้า โดยขออุบรายละเอียดเบื้องต้นไว้ก่อน

ขณะที่ “ชาญชัย เชิดชูวงศ์ธนากร” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจค้าปลีก บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด แย้มว่า ปีนี้จะปรับปรุงสกายวอล์คเชื่อมสยามดิสคัฟเวอรี่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่ที่จะต้อง“กลมกลืน” กับศูนย์การค้าโฉมใหม่

“ปรับศูนย์การค้าแล้ว เราต้องปรับทางเชื่อมจากบีทีเอสด้วย ให้ใหม่กว่าเดิม มีรูปแบบการตกแต่งที่สวยงาม เน้นธรรมชาติ ให้เข้ากับศูนย์ของเราเข้ากับตึกเรา” 

ทางเชื่อมย่านสยาม ไม่ได้ปรับปรุงเป็นเวลานาน ล่าสุด มีเพียงการเชื่อมต่อใหม่ไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงสกายวอล์เชื่อมเข้าศูนย์ บริษัทยังต้องหารือกับกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นพื้นที่ของรัฐ

ถามว่า ทำไมต้องทำทางเชื่อมให้สวยงาม เหตุผลเพราะเป็นเรื่องของการทำให้มหานครกรุงเทพสวยงาม ทำเพื่อประเทศชาติ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลก การเพิ่มจุดแข็งก็ช่วยให้นักท่องเที่ยวยังหลั่งไหลมาเยี่ยมเยียนต่อเนื่อง 

“เมื่อเมืองดูสวยงาม คนก็อยากมาเที่ยวประเทศเรา และการพัฒนาแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้กรุงเทพฯดีขึ้นด้วย”

เขาบอกว่า ทางเชื่อมบริเวณสยามใหญ่กว่าราชประสงค์ เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อเปลี่ยนสถานีของบีทีเอส ทางเชื่อมสยาม ส่วนเชื่อมโยงอาคารไหนบ้าง จำแนกใหญ่ๆโยงศูนย์การค้าสยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, เซ็นเตอร์พอยท์สยามสแควร์, สยามสแควร์ วัน, ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ถึงสนามกีฬาแห่งชาติ เป็นต้น

หลังการปรับโฉมสยามดิสคัฟเวอรี่ และทางสกายวอล์ค จะยิ่งช่วย “พลิก” ให้ชอปปิงของกรุงเทพฯ แข่งขันกับระดับโลกได้ดียิ่งขึ้น

ฟากอาคารสำนักงานเกรดเอในย่านใจกลางธุรกิจ ก็มองว่าสกายวอล์คเป็นสิ่งจำเป็นในการ เชื่อมผู้คนทำงานให้เดินทางได้สะดวกสบายมากขึ้น อย่างทำเลทองของตึก “ออล ซีซั่นเพลส” บริเวณถนนวิทยุ ใกล้แยกเพลินจิต

“ทางเชื่อมสำคัญมาก อย่างแถวเพลินจิต ถือเป็นจุดหลักเลย” นี่เป็นมุมมองจาก “นิธิพัฒน์ ทองพันธุ์” กรรมการบริหาร และหัวหน้าแผนกพื้นที่สำนักงาน บริษัท ซีบี ริชาร์ดเอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด

เพราะย่านดังกล่าว ไม่เพียงแต่มีอาคารสำนักงานเกรดเอจำนวนมาก แต่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีกำลังซื้อสูงด้วย และมีศูนย์การค้าหรู เซ็นทรัลเอ็มบาสซี ดักขาช้อป

---------------------------------

มิติก่อสร้างทางเชื่อม

หรูหรา ต้อง “สมเหตุผล”

“ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์” ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจส.กทม.) เล่าหลักเกณฑ์การพัฒนาสกายวอล์ค

เขาบอกว่า การพัฒนาสกายวอล์คมองได้ 2 มิติ 1.กทม.มุ่งส่งเสริมการเดินทางให้แก่ประชาชนได้ที่สัญจรไปมาได้สะดวกมากขึ้น 2.แม้เอกชนมองในมิติการค้า แต่หากอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้ ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะบางกรณีพื้นผิวทางเท้าไม่ดี ทางเท้าเสียหาย ไม่สะดวกสบายด้วยข้อจำกัดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การจะสร้างสกายวอล์คเชื่อมการคมนาคมขนส่ง เข้าไปยังพื้นที่การค้าหรือสำนักงานของตนเอง ไม่สามารถทำได้ทันที ผู้ประกอบการต้องทำแผน เสนอมายังกทม.เพื่อขออนุญาต

“การจะทำสกายวอล์คใหญ่ๆ สวยๆ โดยใช้พื้นที่สาธารณะไม่เหมาะสม” ดังนั้น จึงต้องทำตามกรอบปฏิบัติของกทม.ไม่ว่าจะเป็นพิจารณาจำนวนประชาชนที่สัญจร รูปแบบที่เหมาะสม ความกว้างของสกายวอล์ค

นอกจากนี้ การก่อสร้างต้องระมัดระวังปัญหาเรื่องโครงสร้าง ตอม่อของรถไฟฟ้า ผูกพันพื้นผิวทางเดิน กีดกันการเข้าออกการจราจรหรือไม่ ที่สำคัญการดูแลบำรุงรักษาตลอดอายุการใช้งาน และงบประมาณที่ใช้ 

ทั้งหมดเอกชนต้องเป็น“ผู้รับผิดชอบ” 

“เชิงพาณิชย์เราไม่ให้ แต่ถ้าอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเราให้ และเอกชนต้องรับภาระดูแลพื้นที่ดังกล่าวตลอดอายุการใช้งาน” เขาย้ำ

เมื่อปี 2554 กทม.เคยมีแผนจะสร้าง “ซูเปอร์สกายวอล์ค” (Super Sky Walk system) ทางเดินลอยฟ้าที่ไร้สิ่งกีดขวางระยะทาง 50 กิโลเมตร เพื่อสางปัญหาจราจร เป็นหนึ่งในภารกิจของ “กรุงเทพฯก้าวหน้า” ของ “ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงร่วม “หมื่นล้านบาท”

ทว่า โปรเจคดังกล่าว ประชาชนฟากหนึ่งอาจมองว่าเป็นการเอื้อเอกชน ประกอบกับงบประมาณ และข้อจำกัดต่างๆ สุดท้ายจึงต้องพับโครงการ

กระนั้น กทม.ยังเดินหน้าทุ่มงบ 1.1 พันล้านบาท พัฒนาสกายวอล์ค3 จุดใหญ่ ได้แก่ 1.เชื่อมจากสถานีบางหว้า-ท่าเรือตากสิน-เพชรเกษม ระยะทาง 245 เมตร กว้าง 3.5 เมตร 2.บริเวณทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสบางนาและสถานีบีทีเอสอุดมสุข ระยะทาง 1,700 เมตร ขนาดกว้าง 4 เมตร 

และ 3.บริเวณทางเชื่อมระหว่างสถานีสุรศักดิ์กับสถานีสะพานตากสิน ระยะทาง 700 เมตร ขนาดกว้าง 6 เมตร พร้อมทำทางเลื่อนอัตโนมัติ ระยะทางไปกลับรวม 600 เมตร

ในส่วนของสกายวอล์คเชื่อมบีทีเอสบางนา-อุดมสุข บริเวณดังกล่าวจะสร้างห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ “แบงค็อก มอลล์" ขณะนี้เจ้าของโครงการคือ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ได้จัดทำแผนสร้างสกายวอล์คเชื่อม แต่กทม.ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ ซึ่งการขออนุญาตสร้างสกายวอล์คของภาคเอกชนนั้นมีเป็นระยะ โดยกทม.จะอนุญาติเป็นกรณีๆไป

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการพาณิชย์ในย่านราชประสงค์ ปทุมวัน ยังพัฒนาสกายวอล์คเชื่อมการคมนาคมจากชิดลมถึงสยาม ซึ่งรูปแบบก็มีความสอดคล้องกับเมือง และอำนวยความสะดวกสบายให้ประชาชน ส่วนการสร้างให้สวยงามอย่างสกายวอล์คย่านสยามสแควร์ให้กลายเป็น “แลนด์มาร์ค”ด้วยศักยภาพพื้นที่ทำได้ แต่ไม่ใช่ทุกที่จะเนรมิตกลายเป็นเชิงสัญลักษณ์ของเมืองได้ อย่างอุดมสุข-บางนา ที่ผู้ประกอบการห้างฯต้องการให้เป็นศูนย์การค้าระดับโลก แต่คงไม่ใช่กับสกายวอล์ค

สอดคล้องกับ“สุธน อาณากุล” รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.กทม.) ระบุว่า โดยทั่วไปการสร้างสกายวอล์คของกทม.จะเป็นรูปแบบธรรมดาเท่านั้น เพราะเจตนารมย์เพื่อต้องการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน แต่การพัฒนาให้สวยงามเกิดจากภาคเอกชนที่มาขออนุญาตดำเนินการ

สกายวอล์คบริเวณสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี เป็นหนึ่งใน “แลนด์มาร์ค” สำคัญที่สร้างความสะดวกสบายการสัญจรให้บรรดาคนทำงานในเมืองกรุง เดิมทีกทม.มีโจทย์จะเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ถึงสถานีรถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที เมื่อเอกชนเจรจาขออนุญาต และออกงบประมาณดำเนินการ ออกแบบก่อสร้างใหญ่โต 

“เลยทำให้สกายวอล์คสวยขึ้นไปอีกขั้น”

วิวัฒนาการสะพานลอย สกายวอล์คกทม.ถูกปรับเปลี่ยนจากมีหลังคา ไม่ให้มีหลังคา เพื่อป้องกันอาชีพ “ขอทาน” ไปใช้พื้นที่ดังกล่าว และไม่ให้ปิดทึบ เพื่อป้องกันอันตรายยามวิกาล ต่อมาภายหลังแก้ไขใหม่ให้มีหลังคา

“ถ้ากทม.ทำสกายวอล์คจะเป็นรูปแบบทั่วไป ธรรมดา ไม่สวยมาก มีหลังคา มีกันตก เพื่อใช้เป็นทางเดิน ถ้าเอกชนช่วยสร้างก็จะมีรูปแบบสวยงาม อย่างบริเวณสะพานลอยคนข้ามอาคารไซเบอร์เวิลด์”

นอกจากนี้ ย่านราชประสงค์ที่มีการสร้างสกายวอล์คจากชิดลมเชื่อมถึงประตูน้ำ ในส่วนนี้ยังเป็นการรองรับระบบคมนาคมขนส่งรถไฟฟ้าสายสีส้มในอนาคต

การขอเชื่อมสกายวอล์คกับระบบขนส่งมวลชนยังมีต่อเนื่อง เช่น บริเวณรถไฟฟ้าสถานีอนุเสาวรีย์ชัยสรภูมิ สถานีพร้อมพงศ์ซึ่งจะเกิดโครงการศูนย์การค้าเป็นดิเอ็มดิสทริค บริเวณสยามที่จะมีการปรับปรุงใหม่ หลังเอกชนปรับปรุงศูนย์การค้าใหม่สยามดิสคัฟเวอรี่ ส่วนที่มีการทำทางเชื่อมรถไฟฟ้าและสกายวอล์คของกทม.ก็มีศูนย์ประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา เป็นต้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาจำนวนประชาชนที่สัญจรบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใจกลางย่านธุรกิจ ศูนย์การค้า ตลอดจนสกายวอล์กใหญ่ๆ พบว่า สถานีสยามสแควร์มีร่วมแสนคนต่อวัน สอดคล้องกับจำนวนของผู้โดยสารที่เปลี่ยนสถานีรถไฟฟ้า สกายวอล์คราชประสงค์มีประมาณ 2.9-3.1 หมื่นคนต่อวัน สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ 9,000-10,000 คนต่อวัน ช่องนนทรีมีมากกว่า 3-4 หมื่นคนต่อวัน เนื่องจากมีอาคารสำนักงานใหญ่บริเวณ 4 หัวมุมถนนแยกสาทร-นราธิวาส 

ขณะที่ย่านอโศก แยกบางนา ยังไม่มีการนับจำนวนประชาชนสัญจร แต่คาดว่ามีร่วม “หมื่นคนต่อวัน” เนื่องจากเป็นแยกที่มีขนาดใหญ่ ผู้คนเดินทางไปมาจำนวนมาก และเป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งต่างๆ เช่น แยกบางนา มีทั้งรถตู้ รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ การก่อสร้างสกายวอล์คบริเวณสถานีบางหว้า-ท่าเรือตากสิน-เพชรเกษม จะเป็นโมเดลตัวอย่างของกทม.ในการเชื่อมต่อการคมนาคมระบบ “ล้อ-ราง-เรือ” ซึ่งบริเวณดังกล่าวจำอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ใช้บริการการเดินทางโดยเรือข้ามคลองภาษีเจริญที่มีประมาณ 2,000 คนต่อวัน ให้สามารถมาเชื่อมรถไฟฟ้า ต่อรถเมล์ได้ และอนาคตจะทำจุดเชื่อมต่อสำหรับจักรยาน โดยย่านดังกล่าวมีโครงการที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นนับสิบโครงการ จึงคาดว่าจะทำให้มีประชาชนสัญจรไปมาเพิ่มเป็น 10 เท่าตัวในอนาคต

-------------------------------

“ค้าปลีก-สำนักงาน”ทุ่มพันล.

เนมิตรสกายวอล์ค

ในรอบ 6-7 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ประเภทค้าปลีก อาคารสำนักงานใจกลางเมือง ร่วมกันลงทุนพัฒนาสะพานลอย สกายวอล์กเชื่อมต่อศูนย์การค้าหลักหลายพันล้านบาท เช่น ย่านราชประสงค์ ลงทุนกว่า 400 ล้านบาท, อาคารไซเบอร์เวิลด์ของทีซีซี กรุ๊ป-บิ๊กซีและเดอะสตรีท รัชดา ลงทุน 200 ล้านบาท,เพลินจิต-เซ็นทรัลเอ็มบาสซี  ลงทุนกว่า 100 ล้านบาท, ชิดลม-เมอร์คิวรี่  ลงทุน 60-70 ล้านบาท, ย่านสยาม ลงทุนมากกว่า 500 ล้านบาท, ดิเอ็มดิสทริค ลงทุนกว่า 100 ล้านบาท,ช่องนนทรี ลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท และกทม.ลงทุนกว่า 1,100 ล้านบาท ได้แก่ บริเวณแยกบางนา, บางหว้า-ตากสิน และสุรศักดิ์-ตากสิน เป็นต้น