ปรับ "มายด์เซ็ท" เป็นเอสเอ็มอีพันธุ์ใหม่

ปรับ "มายด์เซ็ท" เป็นเอสเอ็มอีพันธุ์ใหม่

โลกเปลี่ยน การแข่งขันเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ได้เวลาปรับมุมคิดเพื่อให้ธุรกิจเติบโตและอยู่รอดได้ในทุกยุค

“อินสตาแกรม มีพนักงานแค่ 7 คน ถูกเฟชบุ้คซื้อไป ณ วันนั้น มูลค่าพันล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 3 หมื่นล้านบาท) นั่นหมายถึง ธุรกิจที่มีคนแค่ 7 คน ทำมา 2-3 ปี แต่ขายได้เป็นครึ่งหนึ่งของมูลค่า ชิน คอร์ป ที่มีพนักงานเป็นหมื่นคน และใช้เวลาถึง 20 ปี ในการทำธุรกิจ”

“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thai e-Commerce) เปิดภาพความน่าสนใจของธุรกิจคิดใหม่ ฉบับผู้ประกอบการเทคโนโลยี ที่หลายประเทศให้การสนับสนุนและพยายาม “ปลุกปั้น” กันอยู่ตอนนี้

ในเวทีเสวนา “นวัตกรรมเชิงการจัดการยุคใหม่ กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สู่ความสำเร็จ” (Successfully Engaging the New Innovation Solutions Driven SME Economy) ณ งานแถลงข่าวการจัดงาน SME Biz Asia 2015 ที่ผ่านมา

ธุรกิจยุคใหม่ ไม่จำเป็นต้องใช้คน ใช้ทรัพยากรมหาศาล ไม่ต้องมีโรงงานขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการเองก็ไม่ต้องล้มลุกคลุกคลานมาเป็นสิบ ยี่สิบปี ถึงจะได้รู้จักกับวิถีแห่งความสำเร็จ เพียงเริ่มจากการเปลี่ยนความคิด ปรับมายด์เซ็ท (Mindset) ดึงเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาขับเคลื่อนธุรกิจ ก็พิชิตเป้าหมายได้

“พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้วิธีการเดิมๆ ที่เคยทำมา 10-20 ปี ใช้ไม่ได้ผล สอง ภูมิทัศน์สื่อ (media landscape) การสื่อสาร วิธีการพูดคุยกับลูกค้าก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง อย่าง เปิดร้านอยู่ดีๆ ก็มีสินค้าจากจีน จากอินโดนีเซีย เหาะข้ามมาขายแข่งผ่านมือถือ ทำให้ลูกค้าซื้อได้ทันที บางธุรกิจก็เริ่มงงว่า ทำไมยอดขายถึงหายไป ทั้งที่ก็ยังทำทุกอย่างเหมือนเดิม นั่นเพราะ landscape ของการแข่งขันมันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง”

เมื่อภูมิทัศน์เปลี่ยน การสื่อสารเปลี่ยน ความท้าทายที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอี ณ วันนี้ ก็คือ แล้วเราจะเปลี่ยนตัวเองได้อย่างไร เปลี่ยนจากการเป็น “เถ้าแก่” ไปเป็น “ผู้บริหาร” ที่เก่งจัดการให้ได้ และต้องมีวิสัยทัศน์ ที่จะนำพาธุรกิจก้าวไปข้างหน้า

“ผู้ประกอบการหลายคนอาจพูดถึงเออีซี พูดเสร็จก็ไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ เพราะการไปเออีซีมันคือขยับสู่รีจีนอล โดยความจริงเอสเอ็มอีขนาดเล็ก แทบเป็นไปไม่ได้เลย หนึ่งเพราะปัจจัยเรื่องเงิน แต่จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องมีเงินเยอะขนาดนั้น มีผู้ประกอบการออนไลน์หลายคน ที่ขายสินค้าไปทั่วโลกรวมถึงเออีซีด้วย โดยทำคนเดียวและใช้เงินเพียงไม่กี่พันบาทต่อปี

ทั้งหมดนี้ เกิดจากการเปลี่ยนมายด์เซ็ท ถ้ามายด์เซ็ทผู้ประกอบการไม่เปลี่ยน..ทุกอย่างจบ”

การเปลี่ยนมายด์เซ็ทของผู้ประกอบการ สอดคล้องกับที่ “ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ” รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ถึง “การบริหารการก้าวเข้าสู่สากลของเอสเอ็มอี”(SME Internationalization) ที่บอกว่า เอสเอ็มอี ณ วันนี้ จะนั่งอยู่ในกรอบเดิมๆ ไม่ได้ แต่ต้องออกไปแสวงหา เพราะพันธมิตรที่ดีที่สุดอาจไม่ได้อยู่ในเมืองไทย คนที่มีวัตถุดิบดีที่สุด อาจอยู่ในยุโรป แรงงานที่ดีที่สุดอาจอยู่ที่ฟิลิปปินส์ ผู้จัดการด้านการตลาดที่เก่งที่สุด อาจอยู่ในพม่า

ไขโจทย์นี้ให้ได้ ก็ประสบความสำเร็จได้

“มร.เกล็นดอน ชุค” ผู้จัดการทั่วไป Franchising & Licensing Association (FLA - Singapore) สะท้อนความท้าทายของเอสเอ็มอีที่มีตั้งแต่เรื่อง คน ทำอย่างไรให้คนทำงานกับเราต่อไปได้ สอง ด้านการเงิน เพราะเป็นที่ทราบว่ายังเป็นเรื่องยากที่เอสเอ็มอีจะเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ สาม ด้านการตลาด ภายใต้สารพัดกฎเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น WTO เขตการค้าเสรีต่างๆ รวมถึง AEC ในปี 2015 และสี่ ไอที การผนวกเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับธุรกิจ

เขายกตัวอย่าง เอสเอ็มอีในสิงคโปร์ที่ใช้วิธีคิดใหม่ๆ ส่งเสริมธุรกิจจนประสบความสำเร็จ เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่นราเมนเท็น (ramen ten) ที่จำหน่ายอาหารญี่ปุ่นฮาลาล รับตลาดมุสลิม เป็นการใช้ไอเดีย ที่ทำให้สามารถเจาะตลาดได้กว้างขึ้น เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจ

ขณะที่ร้านอาหารฝรั่งเศสชื่อดัง ก็เลือกใช้ไอทีมาแก้ปัญหาด้านบริการ อย่าง คนต่อคิวยาวมาก ก็ใช้การให้จองคิวผ่านไอแพดที่วางไว้หน้าร้าน โดยลูกค้าสามารถเลือกเมนูที่อยากทาน พอถึงคิวทางระบบจะส่งเอสเอ็มเอสแจ้งว่าถึงคิวแล้ว และอาหารจะเสิร์ฟเร็วมาก เพราะเป็นการสั่งล่วงหน้า แม้ฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่ได้ผลจริง ดูได้จากจำนวนลูกค้าที่ยังแห่แหนมาใช้บริการที่ร้านนี้ไม่ขาดสาย

“สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล” ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) บอกเราว่า โลกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ ความหลากหลายของผู้บริโภค มีการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ทั้งแตกต่างและแยกย่อย เอสเอ็มอีจึงต้องวางแผนการตลาดที่ดี รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร เข้าใจความต้องการของผู้บริโภค และตอบสนองพฤติกรรมเขาได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกใบนี้

“เราไม่ได้แข่งกับธุรกิจกับขนาดใหญ่ เราแข่งกับตัวเอง ถ้าเราพัฒนาและเข้าใจกลุ่มลูกค้าเราเอง นำนวัตกรรมด้านการออกแบบและการตลาดเข้ามาใช้ เราก็อยู่ได้ มีโอกาสที่จะเติบโตและประสบความสำเร็จได้เช่นกัน”

วิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี ทำให้โลกใบใหญ่เล็กลง ความแตกต่างของประเทศ สัญชาติ และผู้คนเริ่มมีน้อยลง ผู้ประกอบการไทยก็มีความเป็นเอเชีย มีความเป็นผู้ประกอบการแห่งเอเชีย (Entrepreneur of Asia) เป็นคนของภูมิภาคนี้ ภารกิจท้าทายของพวกเขาในวันนี้ จึงเป็นการสร้าง ผู้ประกอบการแห่งเอเชีย เพื่อพัฒนาธุรกิจการค้าที่ตอบสนองพฤติกรรมคนเอเชียได้มากขึ้น

“ในเมื่อตลาดเปิดขนาดนี้แล้ว เราก็ต้องเปลี่ยนตัวเองให้ได้ ใช้เทคโนโลยีมาเติมเต็มธุรกิจ ยกระดับตัวเองให้เป็นสากลมากขึ้น ปรับมายด์เซ็ทไปสู่อนาคตที่อาจยังมองไม่เห็น แต่เรารู้ว่ามาแน่ ซึ่งถ้าทำได้ เราก็จะไม่พลาดโอกาสนี้”

“สักกฉัฐ ศิวะบวร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบริก จำกัด (IBRIX) ผู้ร่วมจัดงาน SME Biz Asia 2015 งานแสดงสินค้าและบริการระดับธุรกิจถึงธุรกิจ (B2B) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22-24 มกราคม 2558 กับแนวคิดที่ฉีกจากงานแสดงสินค้าเอสเอ็มอีทั่วไป คือ ไม่ได้ให้โอกาสธุรกิจ แต่ให้เครื่องมือที่จะทำให้ธุรกิจมีโอกาสในอนาคต

“ทุกคน ทำธุรกิจก็หวังกำไรทั้งนั้น แต่วันนี้การแข่งขันเปลี่ยน เกมเปลี่ยน มีคู่แข่งที่ทำให้เรามีกำไรลดลงได้ง่ายมาก ผู้ซื้อก็เปลี่ยน ธุรกิจเดิมอาจมีผู้ซื้อน้อยลงก็ได้ เพราะฉะนั้นเอสเอ็มอีต้องเพิ่มศักยภาพขึ้นมา ต้องหาโซลูชั่นใหม่ๆ มาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ”

ทำธุรกิจที่ต้องมองเรื่องของ “ดีมานด์” ความต้องการของผู้บริโภคมาก่อน “ซัพพลาย” ไม่ใช่สักแต่จะผลิตและขายเหมือนในอดีตอีกแล้ว ต้องเห็นความเปลี่ยนแปลงของว่าที่ลูกค้า และพัฒนาสินค้าและบริการไปตอบสนอง เพื่อเข้าไปนั่งในใจผู้ซื้อได้ ทั้งอาเซียน เอเชีย และตลาดโลก

“ธุรกิจในวันนี้ มีความจำเป็นที่คุณต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เปลี่ยนก็ต้องนั่งรอรถขบวนสุดท้ายไปเรื่อยๆ จนไม่รู้จะไปกับขบวนนั้นทันหรือเปล่า ขบวนของโลกธุรกิจ ซึ่งไม่มีใครกำหนดนะ พฤติกรรมผู้บริโภคนี่แหล่ะที่เป็นตัวกำหนด”

การปรับ “มายด์เซ็ท” และหา “โซลูชั่นใหม่ๆ” ให้ธุรกิจ จึงเป็นความท้าทายที่จะเมินเฉยไม่ได้อีกแล้วของเอสเอ็มอียุคนี้

......................................................

Key to success

ปรับมายด์เซ็ท เป็นเอสเอ็มอีสายพันธุ์ใหม่

๐ เข้าใจความเปลี่ยนแปลง

๐ คิดให้แตกต่าง ใหม่ และเร็ว

๐ สร้างความต่างด้วยนวัตกรรม

๐ ดึงเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจ

๐ ยกระดับสู่ความเป็นสากล

๐ ไม่ใช่เถ้าแก่ แต่ต้องเป็นผู้บริหารที่เก่งจัดการ