'ซอฟต์พาวเวอร์' ปลุกเศรษฐกิจ

'ซอฟต์พาวเวอร์' ปลุกเศรษฐกิจ

ซอฟต์พาวเวอร์ ต้องไม่ใช่แค่ “คำพูดเท่ๆ” มองอะไรก็บอกว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไปหมด นิยามของ “ซอฟต์พาวเวอร์” ต้องไปในทิศทางเดียวกัน

สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ความเสี่ยงที่เราต่างหวาดกลัว ปมภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มปะทุ สงครามในตะวันออกกลางทำท่าไม่จบ มีสิทธิยืดเยื้อต่อไปอีก 

ภาวะแบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รัฐบาลแต่ละประเทศต้องหาทาง “ตั้งรับ” ให้ดี กำหนดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจให้แม่น เพราะเมื่อเกิดภาวะที่ “ทุกประเทศต้องเอาตัวรอด” ประเทศไทยจะได้ไม่บอบช้ำมาก

หนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ที่หลายคนก็พูดถึงอยู่เรื่อยๆ คือ เรื่อง “ซอฟต์พาวเวอร์” หลายคนตั้งเป้าไว้สูงให้เป็นหนึ่งในเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ใช้สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของไทย สร้างเป็นซอฟต์พาวเวอร์ดึงดูดนักลงทุน ดึงดูดนักท่องเที่ยว

นโยบายซอฟต์พาวเวอร์เป็นนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา มีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้คนไทยและสร้างรายได้ให้ประชาชนปีละ 4 ล้านล้านบาท จากการเพิ่มทักษะและความรู้เพื่อผลักดันการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้คนไทย 20 ล้านครอบครัว สู่แรงงานขั้นสูงและแรงงานในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีรายได้เพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 2 แสนบาทต่อปี

ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การเปิดตัวการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ครอบคลุม 11 อุตสาหกรรมเมื่อเดือน ก.ย.2566

จากนั้นนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมถึงมีคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่างๆ ทำงานในกรอบวงเงินทั้งหมด 5 พันล้านบาท แบ่งตามสาขา เช่น สาขาเฟสติวัล งบรวม 1,009.84 ล้านบาท, สาขาอาหาร งบรวม 1,000 ล้านบาท, สาขาท่องเที่ยว งบรวม 749 ล้านบาท, สาขาภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ งบรวม 545.2 ล้านบาท, สาขากีฬา งบรวม 500 ล้านบาท, สาขาศิลปะ งบรวม 375 ล้านบาท, สาขาเกม งบรวม 374 ล้านบาท, สาขาแฟชั่น งบรวม 268.9 ล้านบาท, สาขาออกแบบ งบรวม 165.94 ล้านบาท, สาขาดนตรี งบรวม 144 ล้านบาท, สาขาหนังสือ งบรวม 69.42 ล้านบาท 

กลุ่มของ “เกม ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น” เป็นอีกกลุ่มที่รัฐบาลวางไว้เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ที่ผ่านมาเราจะเห็น “หนังไทย” หลายเรื่องได้รับคำชมมากมาย

แต่ที่ผ่านมากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ ไม่ถูกนำมาปัดฝุ่นให้สอดคล้องกับยุคสมัย จึงเกิดแนวคิดนำ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ และเกม มาทบทวนและปรับเนื้อหาให้ทันสมัยมากขึ้น เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เอื้อต่อการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยได้ดีกว่าเดิม เหมือนอย่างภาพยนตร์ หรือ ซีรีส์เกาหลีที่วันนี้โลดแล่นในระดับโลกอย่างสวยงาม

หากรัฐบาลมองว่า “ไทย” ต้องมีซอฟต์พาวเวอร์ เราก็อยากเห็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ซอฟต์พาวเวอร์ ที่ชัดเจนทุกกระบวนการขับเคลื่อนต้อง “ไม่สร้างความสับสน”

ซอฟต์พาวเวอร์ ต้องไม่ใช่แค่ “คำพูดเท่ๆ” มองอะไรก็บอกว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไปหมด นิยามของ “ซอฟต์พาวเวอร์” ต้องไปในทิศทางเดียวกัน แล้วพิสูจน์ให้เห็นว่า นอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้ประเทศแล้ว ซอฟต์พาวเวอร์ควรต้องสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร ผ่านนโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน