จุดแข็ง-จุดอ่อน ‘Barter Trade’ เมื่อ ‘ไทย’ เล็งใช้ ‘สินค้าแลกอาวุธสงคราม’

จุดแข็ง-จุดอ่อน ‘Barter Trade’ เมื่อ ‘ไทย’ เล็งใช้ ‘สินค้าแลกอาวุธสงคราม’

เมื่อนายกฯเศรษฐาและสุทิน รมว.กลาโหม เสนอกองทัพให้ลองใช้วิธีนำสินค้าในประเทศแลกเปลี่ยนกับอาวุธสงครามจากต่างประเทศแทนการใช้เงิน หรือที่เรียกว่า “Barter Trade” วิธีนี้มีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไรบ้าง

เมื่อไม่นานมานี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม นั่งรับประทานอาหารโต๊ะกลมกับเหล่าผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร หารือถึงประเด็นนโยบายกองทัพต่อจากนี้ ตั้งแต่การเกณฑ์ทหาร การปฏิรูปกองทัพ และการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์

ทั้งนี้มีรายงานว่า เศรษฐาและสุทินเสนอให้ทางกองทัพนำสินค้าที่มีภายในประเทศไทย ไปเสนอแลกเปลี่ยนหรือขายกับประเทศนั้น ในลักษณะการแลกเปลี่ยน หรือ “Barter Trade” แทนการใช้เงินมหาศาลจากงบประมาณรัฐ

จุดแข็ง-จุดอ่อน ‘Barter Trade’ เมื่อ ‘ไทย’ เล็งใช้ ‘สินค้าแลกอาวุธสงคราม’ เศรษฐา ทวีสินพร้อม สุทิน คลังแสง นั่งรับประทานอาหารโต๊ะกลมกับเหล่าผบ.เหล่าทัพ -

  • Barter Trade คืออะไร

Barter Trade คือ การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน โดยไม่ใช้เงิน เช่น หมูไปไก่มา แลกข้าวสารกับผัก แลกผลไม้กับสินค้าทะเล ฯลฯ ถือเป็น 1 ใน 3 วิธีการซื้อขายตามหลักสากล ได้แก่ การแลกเปลี่ยนสินค้าโดยไม่ใช้เงิน, การใช้เงินเป็นตัวกลางซื้อขาย และการใช้เครดิตซื้อสินค้า (นำสินค้ามาใช้ก่อน และจ่ายเงินให้ทีหลัง)  

สำหรับจุดเริ่มต้นของ Barter Trade นั้นเก่าแก่กว่า “การใช้เงินตรา” เป็นตัวกลาง ย้อนกลับไปในอดีต เมื่อผู้คนผลิตสินค้าไม่เหมือนกัน บางบ้านเลี้ยงไก่ ขณะที่เพื่อนบ้านปลูกข้าว ทั้งสองบ้านนี้จึงนำของตัวเองมาแลกเปลี่ยนตามสัดส่วนที่ตกลงกัน

  • จุดอ่อน-จุดแข็ง Barter Trade

เริ่มจากจุดอ่อนของ Barter Trade คือ การประเมินราคาของสินค้าแลกเปลี่ยนค่อนข้างยาก โดยเฉพาะสินค้าคนละประเภท และมีมูลค่าแตกต่างกันมาก ต่างจากการแลกสินค้ากับเงินที่คล่องตัวกว่า มีราคาชัดเจน อีกทั้งแตกมูลค่าเป็นธนบัตรย่อยต่าง ๆ ได้อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น บางสินค้าอย่างพืชผลการเกษตร มีอายุการเก็บรักษาที่จำกัด หากทิ้งไว้นาน ความสดอาจหดหายลงได้ ดังนั้น นอกจากปัจจัย “จำนวนสินค้า” แลกเปลี่ยนแล้ว ยังมีปัจจัย “อายุ” ของพืชผล เมื่อเทียบกับอาวุธที่มีอายุคงทนกว่า จึงค่อนข้างท้าทายในการประเมินมูลค่าระหว่างสองสิ่งนี้

อย่างไรก็ตาม Barter Trade ก็มีประโยชน์ด้วยเช่นกัน คือ การแลกเปลี่ยนนี้จะเป็นตัวช่วยหนึ่งสำหรับเกษตรกร เพราะเมื่อสินค้าเกษตรล้นตลาด จนราคาตกต่ำ แทนที่จะปล่อยให้เน่าเสียก็อาจหาวิธีระบายออกต่างประเทศ ผ่านการส่งออกและแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศคู่ค้าแทน

นอกจากนี้ Barter Trade ยังช่วยลดการพึ่งพาเงินตราต่างประเทศด้วย ในกรณีที่เศรษฐกิจประเทศเกิดวิกฤติขึ้น จนเงินตราในการซื้อสินค้ามีไม่เพียงพอ การใช้ Barter Trade อาจพอเป็นวิธีหนึ่งในการบรรเทาปัญหานี้

อ้างอิง: thaipostWassana, bangkokbiz, investopedia