ปัญหามลพิษ สิ่งที่ควรเรียนรู้จากต่างประเทศ

ปัญหามลพิษ สิ่งที่ควรเรียนรู้จากต่างประเทศ

ได้เห็นท้องฟ้าที่เกือบจะแจ่มใสอีกครั้งหนึ่ง กับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เริ่มหวนกลับมาเยี่ยมชมประเทศไทยอีกครั้ง ในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ทำให้เริ่มรู้สึกว่า เรายังพอที่จะมีความหวัง

อย่างไรก็ดี ยังทำให้เห็นด้วยว่า เรา ในฐานะชาวไทย ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศในโลกใบนี้ แม้แต่ประเทศของเรา ก็ยังมีชาวต่างชาติไปมาหาสู่ จนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับแนวหน้าของโลก

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากไทย จะติดตามศึกษา บทเรียนต่างๆ จากต่างประเทศ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแบบอย่างของนานาอารยประเทศ

สัปดาห์ที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ได้ประกาศ ปลดปล่อยสิทธิบัตรทั้งหมด ของเทสล่า ผู้ผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าระดับแนวหน้าของโลก เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

โดย อีลอน มัสก์ อนุญาตให้ ทุกคนที่มีความปรารถนาดี สามารถนำเทคโนโลยีของเทสล่า ไปกอปปี้ เพื่อผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนของการขนส่ง

สำหรับผู้ที่ติดตาม ย่อมจะทราบด้วยว่า เทสล่า มีทั้ง รถเก๋ง และรถบรรทุก ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างหลัง ที่สามารถใช้ทดแทนเครื่องยนต์ดีเซล

อย่างไรก็ตาม แม้รถยนต์ไฟฟ้าของ เทสล่า จะเป็นที่ต้องการของตลาด แต่เทสล่า ยังมีปัญหาในด้านการผลิต สัดส่วนของรถยนต์ในสหรัฐที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ที่ขายในปีที่แล้ว จึงมี เพียง 2.1 % อีลอน มัสก์ หวังว่า การกอปปี้ เทคโนโลยีของ เทสล่า โดยผู้ผลิตต่างๆ ทั้งรายใหม่และรายเดิม จะทำให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็วขึ้น

เป็นที่น่าสนใจ ที่จีน มีสัดส่วนของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ที่ขายในปีที่แล้วถึง 4.2 %แล้ว ซึ่งสูงกว่าสหรัฐเป็นเท่าตัว จึงอาจสะท้อนนโยบายของภาครัฐ ที่ส่งเสริมการขนส่งที่ยั่งยืน

แต่ประเทศที่ประสบความสำเร็จ กลับเป็น นอร์เวย์ ซึ่งมีสัดส่วนของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ที่ขายในปีที่แล้วถึง 49.1%

ขณะนี้ ยังไม่สามารถหาสัดส่วนของประเทศไทยได้ แต่ย่อมไม่ใช่เรื่องที่เหลือเชื่อ หากสาเหตุที่สำคัญ ของปัญหามลพิษที่ยังคงแก้ไขไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน จะมาจากรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิล เป็นส่วนหนึ่ง

แม้สัดส่วนของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ายังคงต่ำอยู่ แม้ในประเทศที่มีการประยุกต์ใช้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว รัฐบาลของหลายประเทศ ก็ได้ออกมาประกาศเป้าหมายที่มีความชัดเจน เช่น อินเดีย ได้ประกาศว่าในอีก 5 ปี 15 %ของยานพาหนะทั้งหมดจะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ส่วนจีน ได้ประกาศว่าในปี 2025 สัดส่วน 15%ของยานพาหนะทั้งหมดจะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

ทั้งนี้ ประเทศส่วนใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จทางด้านรถยนต์ไฟฟ้า ล้วนมีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ด้วยการลดภาษี หรือด้วยเงินช่วยสนับสนุนการซื้อ รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยเหตุผลของการพัฒนาที่ยั่งยืนของการขนส่ง และเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและมลพิษ โดยจะเป็นการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเฉพาะเจาะจง และไม่รวมถึงรถยนต์ไฮบริิด

ภาครัฐของไทยเอง จึงควรเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยกำหนดเป้าหมายและสนับสนุน การใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อป้องกันไม่ให้ มลพิษที่เป็นปัญหาชั่วคราว เปลี่ยนเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ต้องเกิดกับเราในทุกช่วงฤดูหนาวจากนี้ไป

แนวทางปฏิบัติจากต่างประเทศ แม้ไม่จำเป็นว่าจะต้องประสบความสำเร็จ แต่ก็ควรนำมาศึกษาเป็นแบบอย่าง เพราะปัญหามลพิษในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยที่เดียวเท่านั้น