'ฝุ่นจิ๋ว' กับ 'ต้นทุน' ทางเศรษฐกิจ

'ฝุ่นจิ๋ว' กับ 'ต้นทุน' ทางเศรษฐกิจ

มลพิษทางอากาศไม่ได้กระทบแต่สุขภาพ แต่กระทบต่อเศรษฐกิจด้วย

จากปรากฏการณ์ฝุ่นจิ๋วทั่วกรุงเทพและหลายพื้นที่ของไทย ทั้งยังมีวี่แววว่าปัญหาจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ วันนี้เราจะไปสำรวจผลกระทบของฝุ่นจิ๋วในเชิงเศรษฐกิจกัน

ฝุ่นจิ๋ว หรือฝุ่น PM 2.5 คือฝุ่นที่มีขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือเรียกว่า เล็กกว่า 1 ใน 25 ของเส้นผมมนุษย์ หรือเทียบอีกอย่างคือ ขนาดเพียงครึ่งเดียวของเม็ดเลือดในร่างกายเรา เพราะเล็กขนาดนี้ ขนจมูกมนุษย์จึงไม่สามารถกรองได้ ฝุ่นจึงเข้าสู่ร่างกาย เส้นเลือดฝอย อวัยวะต่างๆ กระทั่งสมองได้เลย ทั้งมันยังเป็นตัวการนำโลหะหนักอื่นๆ เช่น แคดเมียม ปรอท เข้าสู่ร่างกายด้วย เป็นสาเหตุนำมาสู่โรคต่างๆ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็ง

ในปี 2013 องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง

ตัวอย่างผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นจิ๋ว เช่น UN ระบุว่า ฝุ่น PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โดยคาดว่าในปี 2016 ฝุ่น PM2.5 เป็นสาเหตุของผู้ป่วยเบาหวานกว่า 3.2 ล้านคน จากรายงานของ UNICEF มลพิษในอากาศเป็นตัวการทำลายพัฒนาการทางสมองของเด็ก โดยปัจจุบันทั่วโลกมีเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบถึง 17 ล้านคนที่ได้รับมลพิษสูงกว่าค่ามาตรฐาน 6 เท่า ในจำนวนนี้ 4.3 ล้านคนอยู่ในเอเชียแปซิฟิก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตตเก็บข้อมูลผู้สูงอายุ 6.9 ล้านคน พบว่ามลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่ความผิดปกติของระบบประสาทที่เพิ่มมากขึ้น

UN ประมาณการว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศถึง 7 ล้านคน โดย 3 โรคที่คร่าชีวิตคนมากสุดได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง 2.2 ล้านคน โรคหัวใจ 2 ล้านคน โรคปอดหรือมะเร็งปอดอีก 1.7 ล้านคน

ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาหรือยากจนตกอยู่ในความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศมากสุด ธนาคารโลกระบุว่า 90% ของประชากรในประเทศกำลังพัฒนาได้รับมลพิษทางอากาศในระดับอันตราย เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบในประเทศรายได้ต่ำเสี่ยงเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศสูงกว่าเด็กวัยเดียวกันในประเทศรายได้สูงถึง 60 เท่า

ในส่วนของไทย กรีนพีซระบุว่า มลพิษทางอากาศทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละ 50,000 คน

มลพิษทางอากาศไม่ได้กระทบแต่สุขภาพ แต่กระทบต่อเศรษฐกิจด้วย เช่น กระทบการผลิตในภาคเกษตรกรรม กระทบปริมาณผลผลิตทางการเกษตร กระทบความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบระบบนิเวศ ซึ่งล้วนสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และหากสถานการณ์ยังดำเนินไปในลักษณะนี้ ปัญหามลพิษทางอากาศจะทวีความรุนแรงและก่อผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ

การเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศนอกจากเป็นตัวการของฝุ่น PM2.5 ยังเป็นตัวการของโอโซนเลว หรือโอโซนระดับต่ำ (Ground Level Ozone) ซึ่งมีสมบัติเป็นก๊าซเรือนกระจกและส่งผลให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น

จากการประเมินของ OECD ผลกระทบจากมลพิษทางอากาศใน 40 ข้างหน้า (ปี 2060) พบว่า

- ต้นทุนด้านสาธารณสุขเพื่อใช้ดูแลรักษาสุขภาพต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 8 เท่า จาก 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2015 เป็น 176,000 ล้านเหรียญ

- ผลิตภาพในการทำงานลดลง ทั่วโลกสูญเสียวันทำงานเพิ่มขึ้น 3 เท่า จากปีละ 1,200 ล้านวัน เป็น 3,700 ล้านวัน

- จำนวนคนป่วยมากขึ้น เช่น เด็ก 6-12 ขวบที่ป่วยจากโรคหลอดลมอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านคน เป็น 36 ล้านคน ในขณะที่ผู้ป่วยใหม่ที่เป็นผู้ใหญ่เพิ่มจาก 3.5 ล้าน เป็น 10 ล้านคนต่อปี

- จากผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อภาคเกษตรกรรม ซึ่งประเมินจากผลกระทบต่อผลิตภาพแรงงาน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และจำนวนผลผลิตทางการเกษตรที่เปลี่ยนแปลง คาดว่าโดยรวมจะเพิ่มต้นทุนให้แก่เศรษฐกิจโลกกว่า 1% ของ GDP โลก

รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดนโยบายลดมลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาปัญหา เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน ลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลทั้งของรัฐและประชาชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งยังลดปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากปัญหามลพิษทางอากาศยังดำเนินไปลักษณะนี้

ในระยะสั้นควรเริ่มที่การให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั้งประเด็นคุณภาพอากาศ ผลกระทบ และวิธีป้องกัน เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม จังหวะนี้ เหมือนพวกเราต้องช่วยดูแลตัวเองและครอบครัวกันก่อนครับ