เกิดความสำเร็จโดยไม่ต้องบังคับบัญชา

เกิดความสำเร็จโดยไม่ต้องบังคับบัญชา

ผู้บริหารล้วนต้องการสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นกับหน่วยงานของตนเอง หลายท่านจึงเน้นหาวิธีการที่สามารถบังคับให้ผู้ปฏิบัติงานต้องกระทำ

ในสิ่งที่ตนเองต้องการให้เกิดขึ้น แล้วก็บัญชาสั่งการว่าคนนั้นต้องทำนั่นทำนี่ตามที่ท่านต้องการ คิดค้นกฎระเบียบต่างๆ ที่จะทำให้บังคับคนอื่นได้ดีขึ้น พร้อมกับไล่สั่งการให้ทำตามที่ท่านคิด เหมือนมีอำนาจพิเศษที่บังคับได้ บัญชาได้เสมอ เมื่อกระทำจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว ผู้ปฏิบัติงานจะทำแค่รอการสั่งการ และจะทำเฉพาะเท่าที่ถูกบังคับตามกฎระเบียบต่างๆ ที่กำหนดไว้ หายใจโดยไม่ได้รับคำสั่งการ หรือไม่มีกฏระเบียบกำหนดไว้ก็ถือว่ากระทำผิดแล้ว

การบังคับให้ทำ และการสั่งการให้ทำ ใช้ได้เฉพาะในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงาน ทำงานเหมือนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมยุคก่อน คือต้องโปรแกรมว่าให้ทำอะไรบ้าง หุ่นยนต์ยุคก่อนก็ไม่สนใจว่าใครกำลังเดินชมสายการผลิต แต่จะทำงานตามที่สั่งไว้ และทำตามที่โปรแกรมบังคับให้ทำ ใครมาขวางทางทำงาน ก็ชนคนนั้นอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ แต่ยุค 4.0 ที่ใครๆ ก็กล่าวถึงอยู่ทุกวันนี้ การงานแตกต่างไปจากเดิมมาก ไม่มีกฏกติกาใดที่จะใช้ได้นานๆ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าที่คิด ไม่มีการบัญชาสั่งการใดที่จะรวดเร็วเท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ลองนึกถึงการสั่งการยานสำรวจดาวอังคารให้วิ่งไปทางไหน จากผู้สั่งการที่อยู่ในโลก ซึ่งกว่าคำสั่งการจะไปถึง ยานสำรวจก็อาจตกเหวไปแล้ว เพราะใช้เวลาส่งคำสั่งมากกว่าเวลาที่ยานสำรวจใช้ในการเคลื่อนที่

ถ้าไม่บัญชาสั่งการ ไม่กำหนดกฏระเบียบบังคับให้ทำ แล้วจะทำอย่างไรให้งานประสบผลสำเร็จ มีคำตอบจากตำราที่เริ่มใช้กันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ว่าให้ใช้การนำองค์กร แทนการออกกฎมาบังคับ ใช้การสื่อสารแทนการบัญชาสั่งการ แต่จะด้วยสาเหตุใดไม่ปรากฎชัดเจนที่ทำให้หลายหน่วยงานยังคงใช้วิธีการบังคับบัญชา แทนการนำองค์กร แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม ถึงขนาดมีเงื่อนไขในการบอกว่าหน่วยงานใดมีคุณภาพดีแค่ไหน โดยดูจากวิธีการบังคับบัญชา แทนการดูผลลัพธ์จากการนำองค์กรยังคงใช้อยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

ผู้บริหารต้องสร้างวัฒนธรรมในการร่วมกันสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น โดยทำตนเป็นผู้นำทีมมากกว่าการเป็นนายใหญ่ หลีกเลี่ยงการกำหนดกฎระเบียบเพิ่มเติมเพื่อบังคับให้ทำ แต่เน้นการชักชวนให้ผู้ปฏิบัติงานมุ่งเน้นไปที่ผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้รับบริการจากหน่วยงานนั้น ทำตนเป็นตัวอย่างในการทำความเข้าใจความต้องการและความพึงพอใจของผู้รับบริการ และทำตนเป็นตัวอย่างในการสร้างผลงานให้เกิดขึ้นตามนั้น การงานจึงเดินหน้าไปตามวัฒนธรรมมุ่งเน้นความสำเร็จที่มีต่อผู้รับบริการ มากกว่าการทำงานตามคำบัญชาสั่งการ ไม่ต้องสั่งก็ทำ ถ้าทำแล้วเกิดคุณค่ากับผู้รับบริการ เปิดทางให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานโดยใช้สติปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น ซึ่งอาจเกิดวิธีการใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมได้ ผู้บริหารสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ทำให้ทำงานได้เต็มความสามารถ มีเครื่องมือให้ใช้ กฎระเบียบใดเป็นอุปสรรคก็ยกเลิกกันไป นโยบายหรือกลยุทธ์ใดไม่สอดคล้องก็ปรับเปลี่ยนให้ โดยไม่อ้างว่าต้องทำไปตามแผน ตามกฎระเบียบที่เคยกำหนดไว้ แต่ช่วยแก้ไขให้เปิดช่องทางไปสู่ความสำเร็จได้ง่ายขึ้น ทำงานกันด้วยความเข้าอกเข้าใจว่าผู้ปฏิบัติแต่ละคนมีความจำเป็นส่วนตัวใดบ้าง มีผลตอบแทนพอเพียงต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ โดยความก้าวหน้าในหน้าที่การงานว่ากันชัดเจนล่วงหน้า ขึ้นเงินเดือนกันตามผลงานภายใต้วิธีการประเมินที่บอกกล่าวกันไว้อย่างชัดเจน ใครทำมากได้มากทำน้อยได้น้อย ย่อมทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความผูกพันต่อการงานของตน และไม่ทุกข์มากเกินไปกับการทำงานนั้นให้สำเร็จ

ผู้บริหารเริ่มต้นการงานด้วยการสื่อสารให้ทุกคนทราบว่า เราจะไปที่ไหนด้วยกัน ใครสงสัยว่าที่ไหนนั้นเป็นอย่างไร และทำไมต้องไปที่นั่น ก็มีคำตอบที่พอฟังได้สำหรับคนส่วนใหญ่ ใครถามใครสงสัยไม่ถือว่าขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ผู้บริหารสื่อสารชัดเจนว่าจะไปถึงที่นั่นได้ มีการงานใดต้องทำ และทำสำเร็จวัดได้อย่างไร ใครอยู่ตรงไหนของทีม งานที่ต้องทำมีอะไรบ้าง ใครช่วยใครทำอะไร ทำไมต้องทำอย่างนั้น เดินหน้าไปแล้วก็ยังคุยกันได้ว่าตรงไหนน่าจะเปลี่ยนอย่างไร ต่างจากการบัญชาสั่งการตรงที่สงสัยได้ และเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเป็นการร่วมเดินทางของทุกคน ไม่ใช่การเดินตามคนบัญชาโดยไม่รู้ว่าจะไปถึงสวรรค์ หรือนรกกันแน่