เมื่อ AI แทนที่นักกฎหมาย

เมื่อ AI แทนที่นักกฎหมาย

ในโลกยุคที่ AI (Artificial Intelligence) มีบทบาทสำคัญในหลายวงการธุรกิจ และกำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการดำเนินงานของหลายอาชีพ

ไม่เว้นแม้แต่สายงานกฎหมายที่ AI และ Machine learning ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อทำงานร่วมกับหรือทดแทนนักกฎหมายที่เป็นมนุษย์

AI คือ อะไร

AI คือ software ที่ใช้เทคโนโลยีระบบประมวลผลแบบ Machine learning เป็นพื้นฐานในการหาความสัมพันธ์และตรรกะของชุดข้อมูลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในรูปแบบอัตโนมัติ หรืออีกนัย ระบบการทำงานของ AI จะมีฟังก์ชันในการศึกษา พิจารณา และหาความสัมพันธ์ของข้อมูล เพื่อให้ได้ผล (output) ตามเป้าหมายหรือแผนงานที่ตั้งไว้ ซึ่งกลไกการทำงานในลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับการทำงานของสมองมนุษย์

เช่น การใช้ AI เพื่อยืนยันตัวตนแบบ Face recognition ผู้สร้างโปรแกรมจะใส่ภาพใบหน้าของบุคคลต่าง ๆ จำนวนมาก และให้ AI หาความสัมพันธ์ว่าใครเป็นใครโดยให้พิจารณาความแตกต่างบนใบหน้าของบุคคล (พิจารณาและหาความสัมพันธ์ของชุดข้อมูล) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ คือ การระบุและยืนยันตัวตนของแต่ละบุคคลได้อย่างถูกต้อง

ดังนั้น จากตัวอย่างข้างต้น AI จึงเป็นระบบที่สามารถวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วตามเป้าหมายที่หลากหลาย (ตามที่ผู้ใช้งานจะกำหนดตั้งค่า) ซึ่งส่งผลให้โลกของข้อมูลมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือที่เรียกว่า Big data นั่นเอง

AI ถูกใช้ในงานกฎหมายประเภทใดบ้าง

AI ได้เข้ามามีบทบาทในงานกฎหมายหลายประเภท เช่น

AI กับงานตรวจสัญญา กล่าวคือ ในปัจจุบันได้มีบริษัท software (เช่น LawGeex และ Kira systems) ที่สร้างโปรแกรม AI ขึ้นเพื่อทำการตรวจทานสัญญา (contract review) รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบของถ้อยคำในสัญญา และให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับลูกความในการเจรจาต่อรองข้อตกลง โดยโปรแกรมสามารถให้คำแนะนำลูกความได้ว่าสัญญาฉบับดังกล่าวควรจะเข้าทำหรือไม่อย่างไร

AI ในงานวิเคราะห์เอกสาร วิจัยกฎหมาย และทำนายผลคำพิพากษา เมื่อ AI มีความสามารถในการวิเคราะห์และจำแนกชุดข้อมูลจำนวนมาก AI จึงสามารถหาเอกสารที่เกี่ยวข้อง กับเอกสารชุดแรกที่ป้อนข้อมูลเข้าไป (Relevant information) ได้โดยง่ายและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศในระบบ case law การค้นหาผลคำพิพากษาในคดีก่อนมีผลอย่างมากในการจัดทำเอกสารเพื่อใช้สู้คดี ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีบริษัท software (เช่น Bloomberg BNA หรือ Ross intelligence) ได้ให้ความสนใจในการสร้าง AI lawyer ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับนักกฎหมายเพื่อใช้ในการสืบค้นคำพิพาทและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์รวบรวมข้อมูลดังกล่าวอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ บาง software ยังสร้างระบบให้สามารถทำนายผลคำพิพากษาล่วงหน้าได้อีกด้วย เช่น หากป้อนข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับข้อพิพาทเข้าไปในระบบ ระบบจะศึกษาและวิเคราะห์เพื่อประมวลผลให้คู่ความทราบล่วงหน้าว่า หากมีการฟ้องร้องในข้อเท็จจริงลักษณะเช่นนี้ ท่านจะมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนในการชนะคดี

AI สำหรับศาล

ในประเทศสหรัฐ ศาลได้เริ่มนำระบบ AI ที่เรียกว่า Public Safety Assessment (คิดค้นโดย Laura and John Arnold Foundation) มาใช้เพื่อเป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของผู้ต้องหาในการก่อเหตุอาชญากรรมซ้ำ และใช้คำนวนระยะเวลาที่เหมาะสมในการลงโทษจำคุกผู้กระทำความผิดในฐานความผิดบางประเภท

โดย AI สำหรับศาลนั้น ผู้สร้างระบบได้จัดทำโดยใส่ชุดข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับคดีอาชาญกรรมในอดีตเพื่อให้ศาลใช้ประมวลผลในเชิงเปรียบเทียบว่าผู้ต้องหาในคดีปัจจุบันนั้นมีความเป็นไปได้ในการกระทำผิดซ้ำมากน้อยเพียงใด โดยระบบจะประเมินระดับความเสี่ยง (Risk Score) ของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นการประมวลผลข้อมูลของ AI เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณาคดี ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ ผู้ต้องหาที่มีความเสี่ยงต่ำ (Lower score) มักถูกกำหนดโทษเบาบางกว่าผู้ต้องหาที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง (Higher score)

AI จะมาแทนนักกฎหมาย และให้ความเป็นธรรมได้จริงหรือ

ในงานกฎหมายประเภทที่เป็นงานประจำ (Routine) ผู้เขียนเชื่อว่า AI จะสามารถทำงานแทนที่นักกฎหมายได้ เช่น งานค้นเอกสาร งานวิจัย รวมถึงงานตรวจข้อผิดพลาดของข้อสัญญา อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ ลูกความน่าจะยังต้องการนักกฎหมายที่เป็นมนุษย์ในการให้คำปรึกษาเรื่องคดีความอยู่ ดังนั้น ในอนาคตเราอาจจะเห็นรูปแบบงานกฎหมายในลักษณะ Hybrid มากขึ้น ซึ่งเป็นการทำงานของนักกฎหมายที่เป็นมนุษย์ผสมผสานกับการให้บริการของ Robot advisor (AI legal Advisor หรือ AI lawyer)

ในส่วนของงานกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาคดีในศาล ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นงานกฎหมายที่ยังต้องใช้มนุษย์เป็นหลักในการจัดการไม่ว่าจะในส่วนของทนายความหรือผู้พิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาคดีอาญาที่เป็นไปตามหลักการพิสูจน์จนสิ้นความสงสัย ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยได้นั้นจะต้องไต่สวนจนแน่ใจว่าจำเลยมีความผิดจริง

ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า ในปัจจุบันการใช้ AI ในงานกฎหมาย คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็ว และผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลในเบื้องต้นแล้วภายในกรอบเวลาที่จำกัด เช่น ในกรณีของการใช้ AI ในงานศาล AI เป็นเพียงอีกหนึ่งตัวช่วยในการสร้างความเป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาคดี เนื่องจากเป็นการวิเคราะห์บนฐานข้อมูลของผู้กระทำความผิด (เพศ,อายุ,ลักษณะ) ในคดีทำนองเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต หรือค้นหาประวัติหรือพฤติกรรมของผู้ต้องหาเพื่อประกอบการพิจารณาโทษ ซึ่งไม่ต่างกับการใช้ AI ในการทำ Credit rating/scoring ของกลุ่มธุรกิจการเงิน ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จาก AI จึงเป็นการเพิ่มข้อมูลในเชิงตรรกะให้กับศาลเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในคดีปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ในอนาคตผู้เขียนเชื่อว่า AI และระบบ Machine learning ยังจะคงมีผลต่อเนื่องในวงการกฎหมาย ดังนั้น ในฐานะนักกฎหมาย โจทย์ที่สำคัญคือ อะไรที่ทำให้ท่านเหนือกว่าหุ่นยนต์!

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]