Baidu : ม้ามืดแห่งนวัตกรรม AV

Baidu : ม้ามืดแห่งนวัตกรรม AV

ไบดู (Baidu) ผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจินอันดับสองของโลกรองจากกูเกิล กำลังเป็นม้ามืดที่ผันกลยุทธ์เข้าช่วงชิงความเป็นผู้นำ

นวัตกรรมยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle, AV) ที่เข้มข้นไปด้วยคู่แข่งขันสำคัญอย่างเวย์โม (Waymo) แห่งค่ายกูเกิล รถยนต์แบรนด์ดังอย่างเทสล่า (Tesla) ของอีลอน มัสก์รวมถึงอูเบอร์ (Uber) ดีดีชูซิง (Didi Chuxing) และอาลีบาบา โดยแทนที่จะพัฒนานวัตกรรม AV เพียงลำพังไบดูกลับเลือกที่จะเปิดแพลตฟอร์มและข้อมูลที่พัฒนาขึ้นให้กับพันธมิตรที่สนใจเข้าร่วมในโครงการ “อพอลโล (Apollo)” ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์ที่ดิสรัปอุตสาหกรรม AV และเปิดหมากเกมรุกของ AI และ AV ให้กับไบดูอย่างแยบยล

 

อีโคซิสเต็มใหม่ของ AV

เมื่อโรบิน ลี (Robin Li) ซีอีโอของไบดูได้เปิดตัวโครงการอพอลโลในเดือนเมษายน 2017 ไบดูได้นำเอานวัตกรรม AI ที่ค้นคว้า ข้อมูลและเปิดซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มที่พัฒนาสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ (AV) ให้กับพันธมิตรที่สนใจเข้าร่วมในโครงการอพอลโลได้ใช้ในการพัฒนาและค้นคว้าต่อยอดร่วมกัน นับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ และผู้พัฒนาเทคโนโลยี AV ตลอดจนเป็นการเกิดขึ้นของอีโคซิสเต็ม (Ecosystem) ใหม่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ AV ที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มอพอลโล (Open Source) ตามกลยุทธ์ของไบดูที่ต้องการสร้างให้อพอลโลเปรียบเสมือนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) สำหรับรถยนต์ AV ซึ่งเท่ากับเป็นการวางมาตรฐานใหม่ของการพัฒนารถยนต์ AV ให้กับอุตสาหกรรม

การเปิดแพลตฟอร์มอพอลโลเป็นการรวบรวมนวัตกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนรถยนต์ AV ทั้งด้านข้อมูล API และซอฟต์แวร์ของไบดูให้กับพันธมิตรได้ต่อยอด ซึ่งผลตอบแทนที่ไบดูได้รับคือข้อมูล (Data) ของการขับเคลื่อนรถยนต์ในมุมมองต่างๆ จากตัวรถและอุปกรณ์ในรถซึ่งนับเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำงานของอัลกอลิธึมใน AI เพื่อให้การขับเคลื่อนรถยนต์ไร้คนขับทำงานได้สมบูรณ์ที่สุด

 

ร่วมรุกด้วยพันธมิตร

ตั้งแต่เริ่มโครงการอพอลโลมีพันธมิตรเข้าร่วมในโครงการแล้วกว่า 100 ราย อาทิ บีเอ็มดับเบิลยู BYD, Byton, เดมเลอร์ ฟอร์ด ฮอนด้า ฮุนได King Long, Nvidia, Velodyne ไมโครซอฟท์และอินเทล เป็นต้น เพื่อร่วมมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์ในการขับเคลื่อนรถ AV โดยหากมีพันธมิตรสนใจในการผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วน ไบดูจะให้ข้อมูลอ้างอิง (Reference Vehicle Platform) และสนับสนุนการออกแบบพัฒนา โดยแพลตฟอร์มอพอลโลประกอบด้วยซอฟต์แวร์ ระบบคลาวน์เซอร์วิส GPS, กล้อง เรดาร์ Lidar และ Human-to-Machine Interface (HMI) จึงช่วยให้พันธมิตรสามารถเริ่มต้นหรือต่อยอดการพัฒนาโครงการ AV ด้วยเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ภายในอีโคซิสเต็มของอพอลโลได้รวดเร็ว

 

แม้พันธมิตรจะสามารถใช้ซอฟต์แวร์และข้อมูลในการพัฒนาอุปกรณ์และส่วนประกอบ แต่ไบดูสงวนสิทธิ์ให้พันธมิตรใช้แผนที่ (High-Definition Mapping) และระบบ AI ของตนเท่านั้นในแพลตฟอร์มอพอลโล โดยไบดูได้เปิดตัวชุดข้อมูลใหม่ที่เรียกว่า “Apollo Scape” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแผนที่ความละเอียดสูง ที่ได้เร่งพัฒนาการแยกภาพจากวิดีโอออกเป็นพิกเซล (Pixel) เพื่อให้สามารถวิเคราะห์วัตถุและสัญญาณที่รายรอบการขับเคลื่อนของรถยนต์ ช่วยแยกแยะสี คนเดินถนน จักรยาน อาคารและลายเส้นจราจรบนท้องถนน ตลอดจนสภาพของถนนตามลักษณะอากาศเมื่อมีฝนหรือหิมะตกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นับเป็นเทคโนโลยีสำคัญต่อการตัดสินใจและควบคุมการขับเคลื่อนของรถยนต์และการทำงานของ AI

 

ซึ่งแม้ว่าไบดูจะมีข้อมูลแผนที่ความละเอียดสูง (HD Map) แต่เป็นแผนที่ของถนนหนทางในจีนเป็นหลักและอาจไม่เพียงพอสำหรับการใช้ในต่างประเทศ ไบดูจึงร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท TomTom ผู้ผลิตเครื่องนำทาง (Navigation Device) เพื่อร่วมเก็บรวบรวมข้อมูล HD Map จากอเมริกาและยุโรปให้ได้มากเพียงพอต่อการทำงานของ AI

 

ล่าสุดไบดูได้ร่วมกับบริษัท King Long ผลิตรถบัสขนาด 14 ที่นั่งชื่อ “Apolong” ซึ่งขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์มอพอลโลจำนวน 100 คันเพื่อใช้ในจีน โดยจะขับได้ระยะทาง 100 กิโลเมตรภายหลังการชาร์จไฟฟ้านาน 2 ชั่วโมง จึงเหมาะกับการรับส่งผู้โดยสารในระยะใกล้ เช่นการเดินทางไปยังสนามบิน หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่กำหนดไว้แล้ว พร้อมทั้งยังได้จับมือกับบริษัท Softbank จัดส่งรถบัส Apolong ประมาณ 10 คันเพื่อทดสอบการใช้งานในญี่ปุ่นในช่วงต้นปี 2019

 

ตำนานบทใหม่

ถึงแม้ว่าไบดูจะเริ่มต้นโครงการรถยนต์ไร้คนขับหลังบริษัทคู่แข่งในอเมริกาอย่างกูเกิลหรือเทสล่า และขาดข้อมูลจำนวนมากเพื่อใช้กับ AI แต่ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนให้เป็นบริษัทผู้นำ AI ด้านรถยนต์ไร้คนขับและกลยุทธ์การเปิด Open Source ในโครงการอพอลโล อาจช่วยให้ไบดูตีตื้นขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรม AV และผลักดันให้จีนขึ้นเป็นผู้นำ AI ของโลกภายในปี 2030 จึงควรต้องติดตามกลยุทธ์ของไบดูว่าจะสามารถเขียนตำนานบทใหม่นี้ได้สำเร็จหรือไม่